ห้วงเหวแห่งทุนนิยมโลกและหนทางแก้ไข

ข่าวทั่วไป Monday September 21, 2009 15:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--ม.รังสิตฯ นับตั้งแต่ ค.ศ.1989 เป็นต้นมา อาจจะกล่าวได้ว่าระบบทุนนิยมและระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีได้กลายเป็นกระแสหลัก และกระแสเดียวของระบบเศรษฐกิจ-การเมืองของโลก การล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์ในปีนั้นและการเสื่อมถอยของลัทธิอุดมการณ์คอมมิวนิสต์นับตั้งแต่นั้นมา ส่งผลให้ระบอบทุนนิยมและอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้กลายเป็นลัทธิอุดมการณ์ของผู้ชนะ คำขวัญอันศักดิ์สิทธิ์ 3 ประการได้แก่ “การแปรภารกิจของรัฐบาลให้เป็นของเอกชน” (Privatization) “ขยายขอบเขตของเสรีภาพมากขึ้น” (Liberalization) และ “การลดกฎระเบียบ” (Deregulation) จึงกลายเป็นคำขวัญและเครื่องชี้ทิศที่มีมนต์ขลัง ผู้นำทางความคิดในสังคมไทยก็ไม่น้อยหน้าผู้นำชาติอื่น ๆ ในยุโรป ได้สยบยินยอมเห็นชอบไปกับคำขวัญดังกล่าว และรีบเร่งปฏิรูประบบราชการไทยเพื่อสนองตอบกระแสของทุนนิยมโลก แต่น่าเสียดายที่สัจธรรมของสังคมโลกมิใช่ง่ายอย่างที่คิดไว้ ท่ามกลางดุลยภาพย่อมมีความขัดแย้งและท่ามกลางความขัดแย้ง ย่อมมีแนวโน้มไปสู่ดุลยภาพ ชัยชนะของกระแสแนวคิดทุนนิยมโลก และอุดมการณ์ประชาธิปไตย นำไปสู่สภาวะของการขัดแย้งภายในตนเอง ที่คาร์ล มาร์กซ์ เรียกว่า “Internal Contradiction” และอาการโรคร้ายของสภาพการขัดแย้งภายในของลัทธิทุนนิยมโลกก็ได้ปรากฏออกมาชัดแจ้งอยู่แล้ว กรณีของวิกฤตการณ์ทางการเงินของโลกและวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน จึงสมควรที่ผู้นำทางความคิดจะได้วิเคราะห์ทบทวนบทเรียนจากอดีตว่ามีอะไรบ้างที่จะต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ กล่าวอย่างคร่าว ๆ โดยสรุป อาจจะจำแนกแยกแยะจุดด้อย หรือจุดอ่อนของระบบทุนนิยมโลกได้ว่ามีทั้งหมด 4 ประการดังนี้ 1. ระบอบทุนนิยม มีความเชื่อถือในกลไกของตลาด ที่จะเป็นกลไกเพื่อการปรับระบบราคาสินค้า ระบบการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดความสมดุลด้านอุปสงค์และอุปทาน ผลของการนำหลักการตามแนวคิดนี้ไปปฏิบัติก็คือ จะเกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แบบและผู้ชนะก็คือผู้ที่เข้มแข็งที่สุด ผู้ที่เข้มแข็งจึงจะดำรงอยู่ได้ในโลกของทุนนิยมสุดขั้ว หรือที่เรียกกันเป็นภาษาฝรั่งว่า “Survival of the Fittest” (ผู้เข้มแข็งที่สุดจึงจะอยู่รอดได้) ผลของการนำหลักการและแนวคิดนี้ไปสู่ภาคปฏิบัติมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดช่องว่างเศรษฐกิจระหว่างชนชั้น จะเห็นได้ว่ารายได้ของแรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีผลทำให้คนส่วนใหญ่จนลง และคนส่วนน้อยร่ำรวยมากขึ้น นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง นายเลสเตอร์ ทูโร ได้อ้างสถิติว่ารายได้ของประชากรในวัยแรงงานที่เพิ่มขึ้นจริง ๆ นั้นตกอยู่ในกลุ่มคนเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น และร้อยละ 67 ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นตกอยู่ในมือของคนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ช่องว่างทางเศรษฐกิจของประชากรในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป จึงห่างมากยิ่งขึ้นในช่วง 20 ปีที่แล้ว หากระบอบทุนนิยมโลกทำให้เกิดผลของความไม่เสมอภาคกันเช่นนี้ นายทูโรก็คาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคตต่อไปได้ว่า ย่อมจะเกิดความขัดแย้งกันระหว่างกระแสแนวคิดของทุนนิยมกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เชื่อในเรื่องความเสมอภาค และเมื่อเกิดความขัดแย้งกันระหว่าง อุดมการณ์ทางการเมืองกับ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ความสมดุลทางสังคมย่อมสูญหายไป และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในอนาคต โลกจะดำรงอยู่ในลักษณะของความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ทางการเมือง กับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่นนี้มิได้ ประวัติศาสตร์ของอารยธรรมโลกในอดีตชี้ให้เห็นแล้วว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์และเทคโนโลยีทางการผลิตอารยธรรมของสังคมนั้นย่อมเสื่อมสลายและแตกหักในที่สุด 2. ระบอบทุนนิยมสมัยใหม่มีลักษณะแตกต่างจากทุนนิยมดั้งเดิม สิ่งที่เรียกว่าทุนในสมัยนี้ส่วนหนึ่งเปรียบเทียบเหมือนฟองสบู่ เงินทุนที่ไหลเวียนในตลาดการเงินของโลกปัจจุบันปรับกระแสทิศทางรวดเร็วคาดคะเนยากและควบคุมกำกับยาก เช่น ขณะนี้สหรัฐอเมริกาลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็จะมีผลให้เงินดอลลาร์ไหลออก แต่เมื่อวันหนึ่งสหรัฐอเมริกาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินก็จะไหลกลับ “เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่าง อุดมการณ์ทางการเมืองกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ความสมดุลทางสังคมย่อมสูญหายไปและจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในอนาคต” เงินทุนเหล่านี้จึงคล้ายฟองสบู่ หากรัฐบาลไม่ตระหนักในสภาพข้อเท็จจริงเช่นนี้ และไม่วางมาตรการเพื่อกำกับทิศทางของการลงทุนภายในประเทศในอนาคต ก็จะเกิดสภาพของการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ ซึ่งจะแฟบทันทีเมื่อเงินทุนไหลออก และแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ระดับเกจิอาจารย์จะให้เหตุผลว่าการไหลออกของเงินทุนเป็นไปตามหลักของเศรษฐศาสตร์ ที่คำนึงถึงปัจจัยหลักด้านอัตราเงินเฟ้อ ดุลการชำระเงิน แต่ในสถานการณ์จริงของการไหลออกของเงินทุนชนิดที่เรียกว่า “Capital Flight” หรือ “การติดปีกบินหนีของเงินทุน” ไม่ได้มีสาเหตุดังกล่าวเสมอไป แต่เกิดจากกระบวนการเก็งกำไร จากการค่าเงินตราโดยการโยกย้ายแลกเปลี่ยนเงินตราของกองทุนโลก เช่นกองทุนควอนตั้มฟันด์ ของนายจอร์จ โซรอส และกองทุนเฮดจ์ฟันด์อื่น ๆ และเหตุผลของการเก็งกำไรนั้นมาจากเหตุผลด้านการเมืองและจิตวิทยามากเท่า ๆ กับเหตุผลทางเศรษฐกิจ 3. ระบอบทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ แตกต่างจากระบอบทุนนิยมในสมัยก่อนในบางลักษณะที่มีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นั่นก็คือในสมัยก่อนข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ คือการมีวัตถุและทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะถ่านหิน น้ำมัน และแก๊ส เพราะทรัพยากรธรรมชาติสามประการนี้คือ แหล่งพลังงานที่เป็นหัวใจของการผลิต แต่ในปัจจุบันและอนาคต ทรัพยากรมนุษย์จะเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุดหมายความว่ามนุษย์ที่มีความรู้และมีเทคโนโลยีจะเป็นฐานสำคัญและข้อได้เปรียบในการผลิตอุตสาหกรรมในอนาคตจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ฐานความรู้และเทคโนโลยีเป็นหลักสำคัญ ฉะนั้นการลงทุนเพื่อจัดการศึกษาอบรมแรงงานให้มีมาตรฐานสูงขึ้น การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ แต่ปัญหาก็คือในระบอบทุนนิยมเอกชนจะไม่มีวิสัยทัศน์ไกลจะมองอนาคตเฉพาะผลกำไรในวันนี้และวันพรุ่งนี้เท่านั้น ไม่ผิดจากนักการเมือง ผู้ที่จะลงทุนระยะยาวคือรัฐ บทบาทของรัฐบาลในการลงทุนด้านโครงสร้างที่เรียกว่า “Infrastructure” ทั้งทางวัตถุและทางสังคมจึงมีความสำคัญมาก ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นทุนที่แท้จริงในอนาคต นี่คือบทบาทของรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล การลงทุนดังกล่าวมีผลต่อส่วนรวม และจะคาดหวังให้เอกชนมาลงทุนคงยาก 4. ระบอบทุนนิยมเน้นการบริโภคมากกว่าการลงทุน การเน้นการบริโภคที่ทำให้เกิดลัทธิบริโภคนิยมและวัตถุธรรมนิยม มีผลต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ้นเปลืองรวดเร็ว เป็นการทำลายธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็นำไปสู่สภาวะมลพิษต่าง ๆ การตัดไม้ทำลายป่าเกิดอุทกภัยและสภาวะเรือนกระจากในพาหิรากาศ ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ทำให้สภาพภูมิศาสตร์เปลี่ยนไป ระบอบทุนนิยมสมัยเริ่มแรกเน้นการมัธยัสถ์อดออม ความขยันหมั่นเพียร ความมีวิริยะอุตสาหะ ความหนักเบาเอาสู้ คำว่า “Industry” และภาษาไทยว่า “อุตสาหกรรม” นั้นคือความมีอุตสาหะ แต่ปัจจุบันนี้การเก็งกำไรเป็นวิถีทางไปสู่ความร่ำรวย นักธุรกิจรุ่นใหม่ในสังคมจึงกลายเป็นนักเก็งกำไร หรือทำโครงการที่จะหาผลกำไรง่าย ๆ ไม่ต้องใช้วิริยะอุตสาหะ ไม่ต้องใช้เวลานาน เพื่อหวังเป็นเศรษฐีพันล้านในช่วงเวลาข้ามคืน ส่วนปุถุชนทั่วไปก็เป็นนักบริโภคนิยมไปหมด ไม่มีทรัพย์ก็ไปยืมเงินเพื่อซื้อบ้านและรถยนต์ยานพาหนะแบบผ่อนส่ง การอดออมจึงไม่มี มีแต่การใช้ทรัพยากรวันนี้โดยเป็นหนี้สินในวันข้างหน้า ทุนนิยมวันนี้จึงมีเน้นแต่ความโลภ และความไม่รู้จักพอ นโยบายของรัฐบาลในอนาคตจึงต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเปลี่ยนทิศทางของกระแสเศรษฐกิจปรับเปลี่ยนทิศทางของค่านิยมหันเหมาใช้ระบบพึ่งตนเอง อยู่อย่างมัธยัสถ์ และอดออมเพื่ออนาคต เมื่อทุนนิยมโลกมีปัญหาดังกล่าว แนวทางการแก้ไขน่าจะมี 7 ประการโดยย่อคือ 1. การจัดการศึกษา การฝึกอบรมให้ประชากรมีความรู้ ทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐต้องลงทุนด้านการวิจัยพื้นฐาน และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ 2. รัฐต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคมนาคม การสื่อสาร ไฟฟ้า โทรศัพท์ ฯลฯ 3. รัฐต้องช่วยส่งเสริมให้เกิดค่านิยมด้านการพึ่งพาตนเอง การมัธยัสถ์อดออม การทำงานหนัก การเสียสละแก่ส่วนรวม 4. รัฐต้องเน้นมิติทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ปลอดจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด เช่น การส่งเสริมการลงทุนด้านการคมนาคมขนส่งทางรถไฟ มากกว่าโดยรถยนต์และถนน ส่งเสริมการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และการใช้ปุ๋ยหมักมากกว่าปุ๋ยเคมีเป็นต้น 5. นโยบายด้านภาษีของรัฐ ควรมีองค์ประกอบของการลงโทษผู้บริโภคฟุ่มเฟือย เช่น การกำหนดอัตราภาษีสูง ๆ สำหรับการซื้อขายสิ่งของฟุ่มเฟือย เช่น การใช้ไม้สักปลูกบ้านราคาแพง ภาษีรถยนต์ที่มีผู้โดยสารจำนวนคนเดียว ภาษีอาคารบ้านเรือนที่ราคาแพง ๆ เป็นต้น 6. รัฐจะต้องมีมาตรการกำกับการไหลเวียนของเงินตราและติดตามแนวโน้มของการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา ตลอดจนตรวจสอบดูทิศทางของการลงทุนในประเทศ 7. ในระดับโลก จำเป็นต้องปรับองค์กร เช่น ไอเอ็มเอฟ ให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพที่จะแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องมีกลไกของการกำกับไหลเวียนของเงินตราประเภทที่บ่อนทำลายเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก เหล่านี้คือมาตรการและนโยบายแก้ไขจุดด้อยของระบบทุนนิยมโลก เท่าที่จะกล่าวได้โดยสังเขป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ