การปฏิรูปการศึกษาเพื่อเศรษฐกิจคุณภาพเอกสารเสนอในการสัมมนาวิชาการเรื่อง “การปฏิรูปการศึกษาเพื่อเศรษฐกิจคุณภาพ”

ข่าวทั่วไป Monday September 21, 2009 15:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--ม.รังสิตฯ การปฏิรูปการศึกษาเพื่อเศรษฐกิจคุณภาพเอกสารเสนอในการสัมมนาวิชาการเรื่อง “การปฏิรูปการศึกษาเพื่อเศรษฐกิจคุณภาพ”ในวันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2552 เวลา 13.00 — 16.00 น. มหาวิทยาลัยรังสิต การปฏิรูปการศึกษาเพื่อเศรษฐกิจคุณภาพ อาจจะดูเพียงผิวเผินว่าจะมิใช่เรื่องใหม่ นักศึกษาส่วนหนึ่งจะคุ้นเคยกับประเด็นเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และในหลักสูตรการสอนในสถาบันการศึกษาระดับสูงก็มีวิชา “Economics of Education” สอนในภาควิชาเศรษฐศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ในหัวข้อนี้ได้ใช้คำว่า “เศรษฐกิจคุณภาพ” ซึ่งน่าจะมีความหมายค่อนข้างยืดหยุ่น ขึ้นอยู่กับจุดยืนของแต่ละคน เศรษฐกิจคุณภาพ อาจหมายถึงเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานความรู้ และเทคโนโลยี หรืออาจหมายถึงเศรษฐกิจที่มีการกระจายรายได้ทั่วถึง และ“ค่อนข้างเป็นธรรม” หรือ อาจหมายถึงเศรษฐกิจพอเพียง ตามทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป้าหมายของเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ จึงอาจจะค่อนข้างยืดหยุ่น แต่แฝงไว้ด้วยอุดมการณ์ และความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ขณะเดียวกัน ผู้ตั้งประเด็นคงมุ่งหมายจะเพ่งเล็งไปที่การศึกษาและการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องหลัก นัยหนึ่งก็คือกำหนดให้ “การปฏิรูปการศึกษา” เป็นปัจจัยหลัก ที่จะนำไปสู่ “เศรษฐกิจคุณภาพ” “การปฏิรูปการศึกษา” นั้นมิใช่เรื่องที่จะหยิบยกมาพูดกันได้อย่างง่าย ๆ การปฏิรูปกับการปฏิวัติ นั้น อันที่จริงมีผลเกือบจะใกล้เคียงกัน การปฏิวัติเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น การล้มระบบกษัตริย์และจัดตั้งระบบรัฐสภา การเลิกระบบทาสในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏการณ์เหล่านี้หากใช้กำลังเข้าประหัตประหารกันด้วยความรุนแรงก็จะเป็นการปฏิวัติ แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงโดยมีขั้นตอนบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และโดยสันติวิธี ก็จะเรียกว่า “การปฏิรูป” การเลิกทาสสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเป็นการปฏิรูป ขณะที่การล้มระบบกษัตริย์สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ของฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1789 เป็นการปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งพ.ศ.2542 ถือว่าเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญ เพราะมีการปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้าง และระบบการบริหารการศึกษา ปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาให้เป็นการศึกษาตลอดชีวิต ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน เพื่อเน้นกระบวนการและการมีส่วนร่วมของตัวนักเรียน ขยายสิทธิทางการศึกษาถึง 12 ปีเป็นอย่างน้อยให้แก่เยาวชนทุก ๆ คนในวัยเรียน ที่มักเรียกกันว่า “Democratization of basic education” ผลของการดำเนินงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คงจะสร้างความผิดหวังในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่อง “คุณภาพ” แต่ก็อาจสร้างความสมหวังในบางเรื่อง เช่นการขยายสิทธิการเข้าถึงการศึกษาของประชากรทั่วประเทศ ฉะนั้นจึงได้มีหยิบยกประเด็นการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ขึ้นมาเป็นวาระสำคัญ ต้อนรับรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ เมื่อปลายปี พ.ศ.2551 อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เราจะได้เห็นนั้น สมควรจะเรียกว่า การปฏิรูปหรือไม่ จะขอพักการพิจารณาไว้ก่อน อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือการปรับปรุงให้ดีขึ้น และยังไม่ถึงขั้นจะเรียกว่า “การปฏิรูป” ก็เป็นได้ ประเด็นที่จะต้องพิจารณาขณะนี้ก็คือจะจัดการศึกษาอย่างไร เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้มีคุณภาพ ก่อนอื่นมีข้อสังเกตบางประการในประวัติศาสตร์ เช่น มนุษย์คนแรกที่ปลูกเมล็ดพืชเมล็ดแรกในบริเวณเทือกเขาคาราคาแด็ก (Karacadag) ในเขตประเทศตุรกี (ปัจจุบัน) เมื่อ 10,000 ปีมาแล้ว คือผู้ที่สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพราะตราบใดที่มนุษย์ในยุคหินเร่ร่อน ล่าสัตว์ เก็บผัก ผลไม้กินไปวัน ๆ ไม่รู้จักการทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ตราบนั้น ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจก็ไม่เกิดขึ้น ในประเด็นนี้ ความรู้และความคิด คือปัจจัยหลักของการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เมื่อ ค.ศ.1776 อะแดม สมิธ พิมพ์หนังสือ ชื่อ “The Wealth of Nations” (ความมั่งคั่งแห่งชาติ) เผยแพร่แนวคิดใหม่ 2 ประการ ประการหนึ่งคือเรื่อง “การแบ่งงานกันทำเฉพาะด้าน” ทำให้เกิดประสิทธิภาพของการผลิต และอีกประการหนึ่งคือ การส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางการค้าโดยเสรี จะนำไปสู่ความมั่งคั่งแห่งชาติ หลักการใหม่ของ อะแดม สมิธ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ของชนชาติอังกฤษ และทั่วยุโรปตะวันตกในสมัยต่อมา เพราะหลายศตวรรษก่อนหน้านั้น ชาวยุโรปยึดหลักของศาสนาคริสต์ ที่การค้าจะต้องมีการควบคุมราคา ควบคุมการผลิต การทำงานแยกสายตามอาชีพ ทฤษฎีใหม่ของอะแดม สมิธ ตอบสนองต่อความต้องการและกิเลสตัณหาของพ่อค้า และชนชั้นกลาง และได้กลายเป็นต้นตำหรับของเศรษฐศาสตร์ยุคคลาสสิก ความรู้และความคิด อีกนั่นแหละ ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบเศรษฐกิจ อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ (Alvin Toffler) นักพยากรณ์ทางสังคมซึ่งมีผลงานมากมาย ตั้งแต่หนังสือ “Future Shock” “The Third Wave” (คลื่นลูกที่สาม) “Power Shifts” และล่าสุด “Revolutionary Wealth” ได้เสนอความคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ เป็นยุคที่ใช้ฐานความรู้เป็นปัจจัยของการผลิต และยกตัวอย่างของประเทศที่กำลังจะช่วงชิงการนำจากตะวันตก เช่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ซึ่งจัดระบบเศรษฐกิจแบบคู่ขนานระหว่างระบบเศรษฐกิจยุคอุตสาหกรรม ที่เน้นต้นทุนแรงงานที่ถูกกับระบบเศรษฐกิจบนฐานความรู้ใหม่ทาง Biotechnology และ Computer Science นายทอฟฟ์เลอร์ยังเชื่อมั่นว่า ระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานความรู้จะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจน และความอดอยากหิวโหยของประชากรทั่วโลกได้ โดยกระบวนการไหลริน (Trickle-down Economics) นอกจากนั้น ความรู้ทางเทคโนโลยีซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการผลิต ยังเป็น “สินค้า” ที่ไม่มีวันหมดไป ทุกคนทุกประเทศสามารถเข้าถึงได้ จึงน่าจะเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิที่จะยกระดับเศรษฐกิจของตนได้ นายทอฟฟ์เลอร์ มิได้ถูกต้องเสมอไป ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นได้ตามทฤษฎีของฐานความรู้ดังกล่าว แต่ประเทศผู้มีอำนาจ และทรัพยากรอย่างมหาศาล คือผู้ที่จะได้รับส่วนแบ่งมากที่สุด ขณะที่ประเทศที่อยู่ปลายแถว ก็คงได้รับแต่เพียงเศษขนมปัง จากการไหลรินของส่วนแบ่ง อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการจัดการศึกษา ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องวางนโยบายให้เหมาะสม เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจสำหรับอนาคต ความตระหนักในเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อเศรษฐกิจนี้ เริ่มตั้งแต่ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา เมื่อการวางแผนทางการศึกษา และการวางแผนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เกิดขึ้นในสมัยของท่าน และแผนพัฒนาการศึกษาแผนแรก (พ.ศ.2503-2508) ก็เป็นแผนที่เน้นการผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นสำคัญ และกำลังคนที่เป็นแกนหลักในสมัยนั้นก็คือวิศวกร แพทย์ สถาปนิก นักบัญชี นักกฎหมาย ฯลฯ และระดับรองลงมาได้แก่ Technician ช่างฝีมือต่าง ๆ ที่เรียกว่า กำลังคนระดับกลาง แต่การพัฒนาเศรษฐกิจก็จะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เมื่อประชากรส่วนใหญ่ยังยากจน เจ็บไข้ และขาดความรู้ กล่าวกันว่า เพราะขาดความรู้ จึงยังยากจนและเจ็บไข้ ระบบการศึกษาจึงขยายโอกาสทั้งระดับบน ได้แก่ การจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาค ในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 1-2-3 และการจัดตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วภูมิประเทศ และต่อมาก็ขยายระดับล่าง คือการจัดการศึกษาภาคบังคับ 6 ปี และการจัดการศึกษาผู้ใหญ่ และการรณรงค์เพื่อลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือในชนบท ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ก็เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และขจัดความยากจนข้นแค้นของประเทศ ในช่วง 30 ปี จากพ.ศ.2500-2530 อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ มิใช่เรื่องง่ายแบบ 1+1=2 มักจะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา ฉะนั้นในช่วงการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 5 ก็ได้เริ่มพูดถึงปัญหาชุมชนอ่อน และครอบครัวล่มสลาย แผนพัฒนาฉบับที่ 5 จึงไม่พูดถึงการสร้างกำลังคน แต่พูดถึงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และมาบัดนี้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ในช่วงการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2541-2542 ได้ให้ความสำคัญต่อการขยายสิทธิทางการศึกษาแก่ประชาชน จาก 6 ปีการศึกษาภาคบังคับ ขยายชั้น 9 ปีการศึกษาภาคบังคับ และจะจัดให้ทุกคนได้เรียนฟรีถึง 12 ปี คือจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรียกว่าการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี การขยายฐานการศึกษาพื้นฐานดังกล่าว ย่อมจะมีผลต่อการขยายปริมาณการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉะนั้นปัญหาที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อไป คือจะกำหนดนโยบายอุดมศึกษา และกำหนดบทบาทของมหาวิทยาลัยอย่างไร เพื่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีฐานความรู้และเทคโนโลยีเป็นหลัก แนวทางหนึ่งก็คือส่งเสริมมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพอยู่แล้วให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย และเป็นศูนย์ของความเป็นเลิศในบางสาขาวิชาที่จะเป็นหลักต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นสาขา Biotechnology สาขาพลังงาน สาขา Information Science สาขาการบริหารการจัดการ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอาจจำเป็นต้องจัดตั้งสถาบันวิจัย ที่เน้นการประยุกต์ศาสตร์สำคัญที่จะมีผลต่อการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นการขยายฐานและจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอกในทุก ๆ สาขาวิชาก็เป็นความจำเป็น เพื่อรองรับการขยายปริมาณการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันอุดมศึกษา จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องคัดสรรมหาวิทยาลัยที่จะทำหน้าที่นี้ให้เป็น Graduate Schools ในสาขาวิชาต่าง ๆ ในเวลาเดียวกันที่รัฐบาลต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมให้เกิดมหาวิทยาลัยวิจัย นโยบายการขยายเชิงปริมาณระดับปริญญาตรี และอนุปริญญาควรจะต้องจัดให้ภาคเอกชนเข้ามารับผิดชอบมากขึ้น สัดส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชนที่จะรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีจึงควรเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพราะมีทรัพยากรบุคคล หรือมีฐานความรู้ทางเทคโนโลยีเท่านั้น อันที่จริงเศรษฐกิจนอกเงินตรา ก็มีความสำคัญมาก นายทอฟฟ์เลอร์ เห็นว่าเศรษฐกิจผลิต-บริโภค (Prosumer Economy) มีความสำคัญมากเท่า ๆ กับ monetary economy การเลี้ยงดูบุตร การผลิตเพื่อบริโภคเอง การตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับสมาชิกในครอบครัว การดูแลผู้เจ็บป่วยในครอบครัว กิจกรรมเหล่านี้หากคิดเป็นตัวเงินก็มีราคาค่างวดสูง แต่เราไม่เคยคิด ฉะนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงมักละเลยเศรษฐกิจภาคนี้โดยเฉพาะกระบวนการสังคมประกิต (Socialization) ภายในครอบครัว และโรงเรียนที่จะสร้างให้สมาชิกใหม่ของสังคมเป็นพลเมืองที่ขยันขันแข็ง มีวินัยและซื่อสัตย์สุจริต จึงมีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจมาก การแข่งขันทางเศรษฐกิจชนะขาดกันด้วยคุณภาพของมนุษย์ดังกล่าว และที่สำคัญคือ หากระบบเศรษฐกิจขาดระบบการเมืองที่ดี ระบบสังคมที่ยุติธรรม ระบบกฎหมายที่ทันสมัย ระบบเศรษฐกิจก็จะล้าสมัย ดังที่จะประสบกันอยู่ในสังคมไทย ฉะนั้นระบบการอบรมบ่มนิสัย สร้างค่านิยมและอุดมการณ์ของชีวิต การสร้างบุคลิกภาพประชาธิปไตย การสร้างผู้นำที่เสียสละสำหรับอนาคต จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ นโยบายของการจัดการศึกษาในการปฏิรูปช่วงต่อไปนี้ ก็คือจะต้องวางยุทธศาสตร์ของการพัฒนาบุคลิกภาพของเยาวชน โดยขั้นต้นจาก 0-10 ขวบ ต้องเน้นที่การสร้างอุปนิสัย ขั้นที่สอง อายุระหว่าง 11-15 ควรเน้นการสร้างแรงบันดาลใจ แรงจูงใจ (Affective Domain) เกี่ยวกับ Role-Model (วีรบุรุษ วีรสตรีในจินตนาการ) และขั้นตอนที่สาม ช่วง 16-18 ปี เน้นการคิดวิเคราะห์ เชิงเหตุผล (Intellectualization) เกี่ยวกับประเด็นปัญหาบ้านเมือง การเมือง จริยธรรม และขั้นตอนที่สี่ ในระดับอุดมศึกษา ก็ขยายความของตอนที่สาม ให้กว้างขวางและลึกซึ้ง เรียกว่า “Liberal Studies” เพื่อที่จะปลดปล่อยให้นักศึกษาเป็นอิสระทางความคิด มีสติปัญญา ที่จะไตร่ตรองว่าอะไรผิดอะไรถูก มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับสังคมของตนและสังคมโลก ปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งอยู่ในความสนใจของนักการศึกษา และผู้บริหารการศึกษาส่วนมาก คือ ปัญหาของคุณภาพของการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ปัญหานี้เป็นปัญหาทั่วไป ซึ่งประเทศต่าง ๆ ที่ขยายการศึกษาอย่างรวดเร็วมักจะประสบ จึงได้มีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงคุณภาพของการศึกษา โดยเฉพาะในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาไทย ปัญหานี้คงสัมพันธ์กับปัญหาของประสิทธิภาพของครู ซึ่งกระทรวงศึกษา ก็ตระหนักดีในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้มีโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ ให้เข้มข้นทางวิชาการ โดยเฉพาะทางวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันที่จะลืมเสียมิได้คือ การพัฒนาครูประจำการ ที่จะต้องจัดระบบให้มีประสิทธิภาพ มีงบประมาณจัดให้อย่างมีระบบ เรื่องคุณภาพของการศึกษานี้มีข้อเสนอว่าควรยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีจำนวนมากเกือบจะร้อยละ 60 ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดและเป็นที่มาของคะแนน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ค่อนข้างต่ำ ฉุดรั้งให้คะแนนรวมโดยเฉลี่ยทั้งประเทศต่ำลงด้วย แต่ประเด็นเรื่องการยุบรวมนี้ อาจเผชิญกับปัญหาทางการเมืองระดับท้องถิ่นทำให้ยากต่อการดำเนินการ ข้อเสนอเดิมของการปฏิรูปช่วงปี พ.ศ. 2542- ก็คือการกระจายอำนาจการบริหารให้สถานศึกษารับผิดชอบให้มากขึ้น แต่การดำเนินการในทิศทางนี้จะสำเร็จเกิดมรรคผล ก็อยู่ที่ระบบการคัดเลือกผู้บริหาร และคุณสมบัติของผู้บริหาร ว่าจะสามารถเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงในสถานศึกษาได้หรือไม่ ยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปลักษณะนี้เรียกกันว่า “Staff-driven Reform” การปฏิรูปที่ยึดคณะครูเป็นตัวขับเคลื่อน จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะครู ภายใต้การนำของผู้บริหาร ที่จะร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาองค์กรของตน กำหนดเป้าหมายและปรัชญาการทำงานของโรงเรียน ช่วยกันพัฒนากระบวนการเรียนการสอนตามแนวทางใหม่ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 สถานศึกษาดังกล่าวจึงน่าจะพัฒนาตนเองให้เป็น “องค์การเรียนรู้ตลอดชีวิต” มีระบบการบริหารแบบประชาธิปไตย ภายใต้สภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง เสียสละแต่มีน้ำใจเป็นประชาธิปไตย รูปแบบของการบริหารงานและบรรยากาศที่มีความเป็นประชาธิปไตย จะมีอิทธิพลต่อเรียนรู้ “ประชาธิปไตย” ของนักเรียนด้วย ประเด็นสำคัญที่ยังคงถูกละเลย แม้จะเป็นส่วนสำคัญของแนวคิดการปฏิรูป ช่วง พ.ศ.2542 ก็คือการศึกษา ผู้ใหญ่ และการศึกษาตลอดชีวิต แนวคิดนี้มักจะได้รับการกล่าวขวัญถึงเสมอ แต่ในทางปฏิบัติมักไม่ค่อยปรากฏเป็นรูปธรรม หรือที่ปรากฏยังไม่เข้าเป้าของจุดมุ่งหมายระดับชาติ ที่จะยกสังคมชนบทสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นักการศึกษาผู้ใหญ่ และผู้รับผิดชอบทางนโยบาย จึงสมควรที่จะทุ่มเททรัพยากรบุคคลให้มาส่งเสริมโครงการสำคัญระดับชาติ ตามแนว “ทฤษฎีใหม่” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงสร้างรูปแบบการเกษตรผสมผสานเพื่อความพอเพียงของครอบครัวเป็นอันดับแรก และเพื่อตลาดการค้าเป็นอันดับรองลงมา แนวทางนี้ก็บังเอิญตรงกับแนวคิดของนายทอฟฟ์เลอร์ ที่ให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจแบบผู้ผลิต-ผู้บริโภค คือผลิตเพื่อบริโภคเอง ซึ่งนายทอฟฟ์เลอร์ คิดว่าจะเป็นแนวโน้มสำคัญของเศรษฐกิจยุคใหม่ และมีคุณค่ามหาศาล คิดเป็นตัวเงินไม่ได้ แต่หากไม่มีเศรษฐกิจภาคไม่มีตัวเงินแล้ว เศรษฐกิจภาคตัวเงินก็จะดำรงอยู่ไม่ได้ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการชุมชนพอเพียงของรัฐบาล ซึ่งมีงบประมาณมหาศาล ควรจะใช้ยุทธศาสตร์การศึกษาเป็นตัวนำ ไม่ควรใช้เงินเป็นตัวนำ หมายความว่าควรเปิดโอกาสให้ชุมชนได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม หรือเป็น “สภาชุมชน” เสียก่อน และศึกษาปัญหาของชุมชนในทุก ๆ แง่มุม จัดอันดับความสำคัญของปัญหา และโครงการที่จะแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ด้วยการสนับสนุนทางภาคความรู้จากวิทยากรภายนอก โดยการประสานงานของหน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียน หากการศึกษา และปัญญา ตลอดจนคุณธรรมเป็นตัวนำ โครงการชุมชนพอเพียงก็น่าจะดำเนินไปตามเป้าหมาย ไม่ควรจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการทุจริตที่ผ่านมา การศึกษาผู้ใหญ่ และการศึกษาตลอดชีวิต จึงน่าจะเป็นกลไก หรือยุทธศาสตร์หลักของการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ทั้งชนบทและในเมือง จากสังคมอุปถัมภ์ไปสู่สังคมที่ยึดกฎกติกา จากสังคมที่อ่อนแอไปสู่สังคมที่พึ่งตนเองได้ จากสังคมที่ยังโง่เขลาในปัญหาทางการเมือง ไปสู่สังคมที่รู้ทันนักการเมืองจอมโฉด เหตุใดเล่า รัฐบาลไทยแทบทุกยุคทุกสมัยจึงไม่ตระหนักในเครื่องมือที่ทรงพลังเช่นนี้ การศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษาที่ผ่านวิทยุโทรทัศน์ สื่อสารมวลชน เทพนิยาย นวนิยาย บทละครโทรทัศน์ คือพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชนชาวไทย ให้เป็นชนชาติที่ใฝ่เหตุผล และใช้ดุลยพินิจในการตัดสินปัญหา เป็นชนชาติที่มุ่งหวังแน่วแน่ที่จะประสบผลสำเร็จในชีวิต ด้วยวิถีทางที่มีเกียรติยศ และด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ไม่หวังพึ่งโชคชะตา การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงจึงต้องเริ่มต้นที่การปฏิรูปวัฒนธรรมทางความคิดของผู้ใหญ่ และปลูกฝังให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบทอด เริ่มต้นที่การปลูกฝังบุคลิกนิสัยในวัยเด็ก เพราะในที่สุด บุคลิกนิสัยของแต่ละคน เมื่อนำมารวมกันก็คือบุคลิกนิสัยของคนทั้งชาติ และเป็นความจริงในประวัติศาสตร์ที่ บุคลิกของชนชาติใด (National Character) ก็คือเครื่องกำหนดชะตากรรมชีวิตของชนชาตินั้น การปฏิรูปการศึกษารอบสองจึงต้องหยิบยกประเด็นบุคลิกของชนชาติขึ้นมาเป็นเป้าหมายหลัก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ