กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
จับมือจุฬาฯ ยกระดับโรงฆ่าสัตว์ กทม. เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางวิชาการและศึกษาดูงานของนิสิต นักศึกษา และประชาชน พร้อมทั้งเป็นแหล่งแปรรูปเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัย ประชาชนได้รับความปลอดภัย และมีความเชื่อมั่นในการบริโภคเนื้อสัตว์ในพื้นที่
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ของกรุงเทพมหานครให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางวิชาการ ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นแถลงข่าว โดยมี ศ.ดร.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามและแถลงข่าว พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศ.น.สพ.ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต คณะบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ และ ศ.ดร.สุพจน์ หาญหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาโรงฆ่าสัตว์ของกรุงเทพมหานครให้มีความทันสมัย เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางวิชาการ เป็นแหล่งศึกษาดูงานการ ผลิตเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน พร้อมทั้งเป็นแหล่งผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด ปลอดภัย รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคเนื้อสัตว์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งบันทึกดังกล่าวมุ่งประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรบุคคลและพื้นที่ของทั้งสองฝ่าย อาทิ ด้านการเรียนการสอนและฝึกงานของนิสิต การวิจัยและพัฒนา การบริการวิชาการ การพัฒนาบุคลากร ระบบข้อมูลข่าวสาร โดยเป็นการกำหนดกรอบความร่วมมืออย่างกว้าง และจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงในรายละเอียดแต่ละโครงการ หรือกิจกรรม ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือต่อไป เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม ปัจจุบันทั่วประเทศมีโรงฆ่าสัตว์อยู่ประมาณ 1,000 กว่าแห่ง เป็นโรงฆ่าสัตว์มาตรฐานสากลส่งออกเพียง 10 กว่าแห่งเท่านั้น ที่เหลือเป็นโรงงานฆ่าสัตว์ตามมาตรฐานของกฎหมาย
ทั้งนี้โรงฆ่าสัตว์ของกรุงเทพมหานครตั้งอยู่บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 3 เขตหนองแขม ในพื้นที่ 50 ไร่ ประกอบด้วยโรงฆ่าสุกรและโรงฆ่าโค-กระบือ เป็นโรงฆ่าสัตว์ที่ทันสมัยทั้งอาคาร เครื่องจักร และการบริหารจัดการ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2545 โดยมี ห้างหุ้นส่วนจำกัดอลงกต เป็นผู้รับเหมา ต่อมาปี 2551 ทางบริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงินได้ละทิ้งงาน ปัจจุบันงานมีความคืบหน้าร้อยละ 98 เหลือการทดสอบระบบเครื่องจักร และระบบบำบัดน้ำเสีย กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าก่อสร้างในส่วนที่เหลือ จากการสำรวจพบว่าต้องใช้เงินประมาณ 200 ล้านบาท คาดว่าหลังจากหาแหล่งเงินกู้ได้แล้ว จะดำเนินการซ่อมแซมส่วนที่เสียหายให้แล้วเสร็จ พร้อมเปิดดำเนินการได้ปลายปีนี้