กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนการทุจริตและประพฤติมิชอบในการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ป.ป.ช.กทม.) เพื่อตรวจสอบการบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งได้ลงนามในคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 3808/2552 เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 52 โดยมีกรรมการ จำนวน 8 คน ประกอบด้วย พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร (นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์) เป็นรองประธานกรรมการ รองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ รองศาสตร์ต่อตระกูล ยมนาค ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรวรรณ ภักดีบุตร นายกิตติวัฒน์ อุชุปาละนันท์ เป็นกรรมการ นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และนางสาวกนกกาญจน์ อนุแก่นทราย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
โดยกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบและสืบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเกี่ยวกับ การประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ในเรื่องการพัสดุ และการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตก่อนเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาสั่งการ เสนอความเห็นต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อให้มีการปรับปรุงระบบงานและหรือระบบการปฏิบัติราชการ นอกจากนี้คณะกรรมการมีอำนาจเรียกให้หน่วยงาน การพาณิชย์ วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร ข้าราชการ ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครส่งเอกสาร หลักฐาน หรือมาชี้แจง รวมทั้งการขอความร่วมมือส่วนราชการหรือองค์กรของรัฐโดยผ่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลใดเพื่อดำเนินการตามคณะกรรมการมอบหมาย และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย
ด้านพลตำรวจเอกวสิษฐ กล่าวถึงการทำงานในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนการทุจริตและประพฤติมิชอบในการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ภายหลังประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรก (21 ก.ย. 52) ว่า ขณะนี้คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 3 เรื่อง ส่วนรายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้โดยจะมีการนำเข้าพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ในส่วนทำงานของ ป.ป.ช.กทม. นั้นจะทำงานโดยยึดหลักของกฎหมาย พิจารณาจากเอกสารและหลักฐานเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านทางศูนย์ร้องเรียนของกทม. โทร.1555 หรือร้องเรียนมายังคณะกรรมการฯ โดยตรง นอกจากนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการหรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยงานเฉพาะเรื่องด้วย