กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT สายช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ คืบภาพรวมกว่า 80% แบ่งเป็นก่อสร้างสถานีที่ 2-11 เสร็จกว่า 95% ส่วนสถานีที่ 1 และ 12 คืบ 70% คาดว่าทดลองเดินรถทั้งระบบได้เดือน พ.ค. 53 และเปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการภายในปี 53 พร้อมผลักดันอีก 2 เส้นทาง คือ สายหมอชิต-ศูนย์ราชการ และสายช่องนนทรี-ประชาอุทิศ
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกทม. ตรวจเยี่ยมพื้นที่โครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ BRT สายช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ บริเวณสถานี BRT ราชพฤกษ์ ใต้สะพานข้ามทางแยกรัชดาภิเษก-ราชพฤกษ์ เพื่อติดตามความคืบหน้าและผลักดันให้โครงการนี้เปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปี 2553
โครงการรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที เป็นระบบขนส่งมวลชนที่ประยุกต์ข้อดีของระบบรางมาใช้กับรถโดยสารประจำทาง และ ใช้ระบบเทคโนโลยีขนส่งอัจฉริยะในการควบคุม ทางวิ่งเป็นเลนพิเศษชิดเกาะกลางไม่ปะปนกับรถประเภทอื่นๆ เพื่อแยกออกจากกระแสจราจรของรถยนต์ส่วนตัว ลงทุนน้อยกว่าระบบรางและก่อสร้างได้เร็วกว่า รถโดยสารมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย ออกแบบให้เข้ากับแนวคิดการขนส่งที่มีความรวดเร็ว ตอบสนองการเดินทางของประชาชนได้ทุกระดับ ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ติดตั้งระบบการจอดเทียบชานชาลาเพื่อความปลอดภัยและสะดวกสำหรับผู้โดยสาร มีระบบขนส่งอัจฉริยะ ควบคุมโดยศูนย์สั่งการและประสานกับศูนย์ควบคุมสัญญาณไฟจราจร เพื่อไม่ต้องติดไฟแดง มีระบบติดตามรถทุกคันด้วยระบบ GPS และโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสาร ซึ่งตัวรถโดยสารจะมีความยาว 12 เมตร บรรจุผู้โดยสาร 80 คน
โครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ BRT สายช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ มีระยะทาง 15 กม.มี 12 สถานี มีทางเดินลอยฟ้าเชื่อมกับสถานีช่องนนทรีของ BTS และมีลานอเนกประสงค์กลางทางแยกสาทร-ช่องนนทรี และเชื่อมต่ออาคารสำนักงานบริเวณแยกสาทร เส้นทางเริ่มจากสถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี วิ่งไปตามแนวถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนพระราม 3 สิ้นสุดที่แยกราชพฤกษ์ใกล้ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ท่าพระ ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญ ทั้งรถ BRT รถโดยสารประจำทาง รถรับส่งขนาดเล็ก รถแท็กซี่ รถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคต และรถไฟฟ้ากรุงเทพมหานครส่วนขยายสายสีลมช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า นอกจากนั้นยังมีลานกีฬา สวน ที่จอดรถยนต์ ด้วย
สำหรับช่องทางจราจรที่เหลือจากการเปิดใช้รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ BRT นั้น ถ.นราธิวาสฯ เหลือทิศทางละ 3 ช่องจากเดิม 4 ช่อง ถ.พระราม 3 — ถ.รัชดาฯ มี 4 ช่องจราจรเท่าเดิม ถ.รัชดาฯ ขาออกวิ่งร่วมกับรถปกติโดยเพิ่มช่องจราจรอีก 1 ช่อง เป็น 5 ช่อง ส่วนขาเข้าวิ่งร่วมกับรถทั่วไปในช่องจราจรเท่าเดิม คือ 4 ช่อง และ ถ.นราธิวาสฯ เหลือทิศทางละ 3 ช่อง จากเดิม 4 ช่อง
ความคืบหน้าปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างเส้นทางและสถานีคืบหน้าไปแล้วในภาพรวมกว่า 80% แบ่งเป็นการก่อสร้างสถานีที่ 2-11 แล้วเสร็จกว่า 95% ส่วนสถานีที่ 1 และ 12 คืบหน้า 70% คาดว่าจะเริ่มทดลองการเดินรถทั้งระบบได้ภายในเดือน พฤษภาคม 2553 และเปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการภายในปี 2553 โดยค่าโดยสารของรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT จะอยู่ที่ 12-18 บาทตามระยะทาง
กรุงเทพมหานครมีแผนการขยายการดำเนินการ BRT อีก 2 เส้นทาง คือ สายหมอชิต-ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ระยะทาง 13.5 กม. 7 สถานี คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 56,000 คนต่อวัน และสายช่องนนทรี-ประชาอุทิศ ระยะทาง 19.5 กม. 7 สถานี คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 114,000 คนต่อวัน ซึ่งทั้งสองเส้นทางหากเริ่มดำเนินการจะใช้เวลาเพียง 12 เดือนเท่านั้น