กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--กรีนพีซ
กรีนพีซเรียกร้องผู้นำโลกที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสมัชชาสหประชาชาติในกรุงนิวยอร์คให้ละวางผลประโยชน์ด้านการเมืองและลงมือปฏิบัติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยจัดเงินทุน 140 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ให้แก่กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุดและมีความพร้อมในการรับมือน้อยที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เดินกับช้าง ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งกรีนพีซได้จัดทำการศึกษา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการประเมินความล่อแหลมของชุมชนต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณลุ่มน้ำบางปะกง ” (1) และจัดเวทีรับฟังปัญหาและความคิดเห็น เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบในการศึกษา ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความล่อแหลมต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และความสามารถในการปรับตัวของชุมชนเพื่อระบุยุทธศาสตร์การรับมือและปรับตัวที่ดีที่สุดเพื่อผนวกเข้าไปในแผนการพัฒนาลุ่มน้ำบางปะกงของรัฐบาล
ลุ่มน้ำบางปะกงซึ่งมีแม่น้ำไหลลงสู่อ่าวไทยนั้นเป็นหนึ่งในพื้นที่เกษตรกรรมยุคแรกสุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ขณะนี้กำลังประสบผลกระทบจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง การรุกล้ำของน้ำเค็ม และการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ที่มีความล่อแหลมแห่งนี้และต่อชุมชนที่ต้องพึ่งพาพื้นที่ลุ่มน้ำในการดำรงชีวิต
“ชุมชนท้องถิ่นจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชุมชนประสบกับความทุกข์ยากจากแบบแผนการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมอยู่ก่อนแล้วและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกลายเป็นแรงกดดันเพิ่มต่อวิถีชีวิตของพวกเขาในปัจจุบันและอนาคต แบบจำลองสภาพภูมิอากาศล่าสุดคาดการณ์ว่าผลกระทบอันเลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง เราจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ของชุมชนต่างๆ ที่มีความล่อแหลมอย่างอย่างเร่งด่วนเพื่อนำแนวทางแก้ปัญหามาดำเนินการโดยทันที” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา จะแถลงต่อผู้นำสหประชาชาติป็นครั้งแรกตั้งแต่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี ในการประชุมซึ่งนำโดยนายบัน คีมุนเลขาธิการของสหประชาชาติ เพื่อปูทางไปสู่ข้อตกลงที่ดี มีความเป็นธรรม ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน ในเดือนธันวาคมนี้
“ผู้นำโลกจะต้องฟังเสียงและเรื่องราวของผู้คนเหล่านี้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อทำความเข้าใจและเชื่อมโยงปัญหา แล้วนำไปสู่ทางออกในการแก้ไข การประชุมที่กรุงนิวยอร์คนับเป็นอากาสที่ดีที่จะก่อให้เกิดข้อตกลงที่ดี กรีนพีซเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนโดยเฉพาะประธานาธิบดีประเทศอินโดนีเซียยูโดโยโน และประธานาธิบดีบารัคโอบามาให้ลงมือแก้ไขและนำเสนอทางออกจากมหันตภัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงมากที่สุดและมีการเตรียมการรับมือน้อยที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กิจกรรม “เดินกับช้าง ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง” จึงจัดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำโลกโดยเฉพาะประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐอเมริกาให้ได้มาซึ่งข้อตกลงที่ดีและเป็นธรรมจากการประชุมที่โคเปนเฮเกนประเทศเดนมาร์กในเดือนธันวาคมนี้ และจัดเงินทุนเพื่อปกป้องป่าไม้ในภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคตของภูมิภาค ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและประชาชน หากต้องการร่วมลงชื่อผลักดันให้โอบามาสร้างการเปลี่ยนแปลง สามารถคลิกที่ www.greenpeace.org/seasia/en
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 089 476 9977, tbuakams@greenpeace.org
พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ โทร 081 658 9432, ply.pirom@greenpeace.org
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 089 487 0678, wkingwat@greenpeace.org
หมายเหตุ
(1) เวทีความคิดเห็นนี้จัดขึ้นที่วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีฉะเชิงเทราจากภาคเกษตรกรรม ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เดินกับช้าง ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง” ของกรีนพีซที่ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีช้าง 5 เชือกที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยร่วมเดินทางรณรงค์ตั้งแต่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯเป็นระยะทาง 250 กิโลเมตร รวมระยะเวลาเดินทางทั้งสิ้น 15 วัน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละแห่ง และขณะนี้อยู่ระหว่างการรณรงค์ในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในพื้นที่กว่า 1.25 ล้านคน ที่พึ่งพาผืนดินอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ในการเพาะปลูกข้าว ผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ผลไม้และการทำประมง
ก่อนหน้านี้ที่จังหวัดนครนายก เจ้าหน้าที่รณรงค์ของกรีนพีซได้พบปะพูดคุยกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่วนในวันที่ 24 กันยายน จะมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนในประเด็นการปะมงและการกัดเซาะชายฝั่งในเขตอำเภอบางปะกง และจะเดินทางเข้าสู่ชายขอบของจังหวัดกรุงเทพมหานครในวันที่ 27 กันยายน 2552 ก่อนหน้าการประชุมเจรจาโลกร้อนที่กรุงเทพฯจะเริ่มขึ้น
ก้าวต่อไปของกิจกรรมเดินกับช้าง ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง
26-27 กันยายน 2552 คณะรณรงค์ “เดินกับช้าง ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง” จะเดินทางไปถึงเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ก่อนหน้าการประชุมเจรจาโลกร้อนที่กรุงเทพฯ
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ซินดี แบกซเตอร์ กรีนพีซสากล โทร +64 21 772 661
เลยา เกเรโร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร +66 8 5070 5552
สเตฟานี ทันมอร์ กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา โทร +1 202 286 4824