เอแบคโพลล์ชี้คนไทยยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

ข่าวทั่วไป Monday December 18, 2006 14:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--เอแบค โพลล์
แรงงานต่างด้าวมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยแต่คนไทยจำนวนมากกลับไม่ต้องการให้แรงงานต่างด้าวมีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย
ผลการสำรวจล่าสุดของเอแบคโพลล์เปิดเผยว่าคนไทยจำนวนมากยังขาดความเข้าใจต่อความสำคัญและประโยชน์ของแรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจไทย
ผลสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นเนื่องในวันแรงงานต่างชาติสากล (International Migrants Day) ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๘ ธันวาคมของทุกปี โดยในปีนี้สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization — ILO ) และกองทุนเพื่อพัฒนาสตรีแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Fund for Women — UNIFEM ) ในการทำการสำรวจทัศนคติของคนไทยที่มีต่อแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศที่มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไปจำนวนทั้งสิ้น ๔,๑๔๘ คน ระหว่างวันที่ ๒๕ พ.ย. — ๑ ธ.ค. ๒๕๔๙ การสำรวจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าใจถึงทัศนคติของคนไทยที่มีต่อแรงงานต่างด้าว และชี้ให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของแรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงความจำเป็นที่ต้องคุ้มครองสิทธิของแรงงานเหล่านี้
เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าทุกวันนี้แรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย และความต้องการแรงงานต่างชาติในตลาดแรงงานและภาคธุรกิจก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางกระแสการอพยพย้ายถิ่นเพื่อการทำงาน แรงงานไทยจำนวนมากต่างเดินทางไปหางานในต่างประเทศที่ร่ำรวยกว่า และในขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็กำลังต้องการแรงงานต่างด้าวมากขึ้นเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจ
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่าภาคธุรกิจต่างมีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น โดยในปีที่แล้ว นายจ้างไทยขอโควต้าจ้างแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา จำนวน ๑.๘ ล้านคน ซึ่งทำให้รัฐบาลไทยอนุมัติข้อเสนอในการนำเข้าแรงงานไร้ฝีมือจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ คน จากทั้ง ๓ ประเทศ
แต่ในขณะที่ทางการไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของแรงงานต่างด้าว ผลการสำรวจของเอแบคโพลล์กลับชี้ให้เห็นว่าคนไทยจำนวนมากเชื่อว่าประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ ๕๘.๖ ระบุว่ายังไม่ควรเปิดเสรีเพื่อรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับร้อยละ ๙.๗ ที่คิดว่าควรเปิดเสรี กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าการเปิดเสรีจะส่งผลกระทบทางลบต่อแรงงานไทย โดยทำให้แรงงงานไทยหางานยากขึ้น ทำให้นายจ้างให้ความสำคัญกับแรงงานไทยน้อยลง และทำให้แรงงานไทยต้องยอมรับค่าจ้างที่น้อยลงในที่สุด
ในความเป็นจริง แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ไม่ได้มาแย่งงานจากแรงงานไทย เนื่องจากงานที่แรงงานต่างด้าวทำมักเป็นงานที่แรงงานไทยจำนวนมากหลีกเลี่ยงที่จะทำเพราะถือว่าเป็นงานระดับล่างที่ต่ำต้อย อันตราย และมีสภาพการทำงานที่สกปรก
ผลการสำรวจของเอแบคโพลล์ยังสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีทัศนคติเชิงลบต่อแรงงานต่างด้าว โดยพบว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะการที่พวกเขาได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและต้องทำงานในสภาพการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐาน
เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่าเงื่อนไขการทำงานใดที่แรงงานต่างด้าวควรได้รับเท่าเทียมกับคนไทยมากที่สุด กลุ่มตัวอย่างร้อยละ ๗๙.๙ ระบุว่าคือชั่วโมงการทำงาน รองลงมาคือ จำนวนวันหยุด (ร้อยละ ๗๕.๙) สำหรับค่าจ้างนั้น มีเพียงร้อยละ ๔๐ เท่านั้นที่ระบุว่าแรงงานต่างด้าวควรได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกับแรงงานไทย โดยให้เหตุผลว่า แรงงานต่างด้าวมีทักษะหรือความชำนาญน้อยกว่า อีกทั้งไม่สามารถสื่อสารพูดคุยได้ และค่าจ้างที่ได้ในประเทศไทยยังไงก็ยังดีกว่าที่ได้รับในประเทศบ้านเกิดของตนเอง
ประเด็นสำคัญอีกประการจากผลการสำรวจพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยในการเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวมีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทย แต่กลับเห็นด้วยกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของแรงงานเหล่านี้ ผลการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ ๖๗.๓ ไม่เห็นด้วยที่จะให้แรงงานต่างด้าวสามารถสมัครทำงานทุกประเภทในประเทศไทยได้ และกลุ่มตัวอย่างจำนวนครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ ๕๐.๓) ไม่เห็นด้วยที่แรงงานต่างด้าวจะได้ทำงานภายใต้เงื่อนไขและค่าตอบแทนเดียวกันกับแรงงานไทย
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ ๗๗.๓ เห็นว่าไม่ควรอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ ๕๙.๗) ยังระบุว่าแรงงานต่างด้าวไม่ควรได้รับอนุญาตให้แสดงออกทางความคิดอย่างอิสระ
เอแบคโพลล์ยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากโดยเฉพาะคนที่รู้จักแรงงานต่างด้าวเป็นการส่วนตัวมีความเห็นว่าแรงงานต่างด้าวเป็นคนขยัน อดทน แต่มักไม่ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อนายจ้าง
ผลการสำรวจของเอแบคโพลล์ครั้งนี้ตรงกับผลของงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่จัดทำขึ้นโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล งานวิจัยดังกล่าวเปิดเผยว่านายจ้างไทยต่างเห็นว่าแรงงานต่างด้าวไม่ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย
เอแบคโพลล์ยังระบุว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนมากร้อยละ ๘๔.๔ รับทราบนโยบายว่าแรงงานต่างด้าวต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งๆที่ในความเป็นจริงนายจ้างจำนวนมากเต็มใจที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างด้าวหญิงที่มาทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้าน จริงๆแล้วนายจ้างจำนวนมากกลับต้องการจ้างแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานและมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการกดค่าแรง
ผลการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคมไทยเกี่ยวกับความสำคัญของแรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงความจำเป็นในการรณรงค์ให้สังคมมีทัศนคติที่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อแรงงานต่างด้าวทั้งในเรื่องค่าจ้างและสภาพการทำงาน ในขณะที่ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียกำลังแย่งชิงแรงงานประเภทไร้ฝีมือเพื่อขยายเศรษฐกิจในประเทศตนเอง ประเทศไทยจะสามารถแข่งขันได้หากต้องออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมและสภาพการทำงานที่ได้มาตรฐานที่แรงงานต่างด้าวพึงได้รับเช่นเดียวกับแรงงานไทย
ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสื่อที่มีต่อทัศนคติของคนไทย โดยกลุ่มสำรวจส่วนมาก (ร้อยละ ๗๙.๙) รับรู้ข่าวเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่ก่ออาชญากรรมในประเทศไทย ในขณะที่มีเพียงร้อยละ ๔๑.๔ ที่รับรู้ข่าวเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่ถูกละเมิดสิทธิ และถูกกระทำทารุณจากนายจ้าง และร้อยละ ๒๙ ระบุว่าเคยอ่านข่าวเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่เป็นคนรับใช้ในบ้านถูกโกงค่าจ้างและถูกกระทำทารุณจากนายจ้าง
ในแง่ดี ผลการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความเห็นอกเห็นใจแรงงานต่างด้าวในกรณีที่พวกเขาถูกกระทำทารุณจากนายจ้าง โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนมากระบุว่าจะช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้โดยการแจ้งตำรวจ องค์กรที่เกี่ยวข้อง หรือสื่อ มีเพียงร้อยละ ๑๕.๑ เท่านั้นที่ระบุว่าจะไม่ช่วยเหลือใดๆเลย อย่างไรก็ดี ความเห็นอกเห็นใจนี้ถือเป็นพื้นฐานที่ดีต่อการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเกี่ยวกับสภาพความจริงในทุกๆด้านที่แรงงานต่างด้าวต้องเผชิญ ซึ่งความเข้าใจนี้น่าจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อแรงงานต่างด้าวในอนาคต
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
Khun Siripan Kijraksa
ABAC Polling
Tel: 02 719 1074 or 02 719 1550
Mob: 081 313 7509
Khun Nattha Keenapan
UNIFEM East and South-East Asia
Regional Office, Bangkok
Mob: 086 616 7555
E-Mail: nkeenapan@gmail.com
Khun Rakawin Leechanavanichpan
ILO Bangkok
Tel: 02 288 2629
Mob: 081 682 3839
Email: rakawin@ilo.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ