กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--บีโอไอ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประเมินผลจัดสัมมนาชักจูงการลงทุนในประเทศตลอดปี 52 พบเอสเอ็มอีให้ความสนใจ โดยเฉพาะสิทธิด้านภาษีอากร พร้อมประสาน เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารรัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน และเตรียมส่วนแสดงสินค้าให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพเข้าร่วมทุกครั้งในปีหน้า
นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( บีโอไอ ) เปิดเผยว่า ตลอดปีงบประมาณ 2552 ที่บีโอไอโดยสำนักพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการลงทุน ได้จัดกิจกรรมสัมมนาชักจูงการลงทุนในประเทศและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้ ตามนโยบายปีแห่งการส่งเสริมการลงทุนผ่านการจัดสัมมนาชี้แจงสิทธิประโยชน์การลงทุนทั้ง 4 ครั้งในภาคกลาง พบว่า มีผู้ประกอบการขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 3 ราย เป็นกิจการผลิตเครื่องเซรามิค กิจการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ กิจการผลิตตู้แช่แข็งเงินลงทุนประมาณ 232 ล้านบาท และยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจขอรับการส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา ต้องการรับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การลงทุนใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรเพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ขณะเดียวกันนักลงทุนยังสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างกันได้อีกด้วย
“การจัดสัมมนาเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ความรู้ความเข้าใจในสิทธิประโยชน์การลงทุนจากบีโอไอและได้รับทราบเกี่ยวกับประเภทกิจการและนโยบายใหม่ ๆ จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ ว่าประเภทกิจการของตัวเองเข้าข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการรับทราบข้อมูลรวมทั้งสิทธิประโยชน์เพื่อตัดสินใจลงทุนหรือขยายกิจการเพิ่มเติม ” เลขาบีโอไอกล่าว
สำหรับการจัดกิจกรรมสัมมนากระตุ้นชักจูงการลงทุนในประเทศและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในปีงบประมาณ 2553 นั้น บีโอไอมีเป้าหมายจะจัดกิจกรรมทั่วประเทศทั้งสิ้น 34 ครั้ง ซึ่งไฮไลท์สำคัญของกิจกรรมปีหน้าจะมีการจัดสรรพื้นที่หน้างานสัมมนา ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับการส่งเสริมลงทุน สามารถนำสินค้ามาแสดงให้กับผู้สนใจได้โดยตรง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนั้น บีโอไอจะประสานธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ เอสเอ็มอีแบงก์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ของภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม ในการให้คำปรึกษาด้านสินเชื่อเพื่อขยายโอกาสในการลงทุนต่อไป
อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมสัมมนากระตุ้นชักจูงการลงทุนในประเทศและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 4 ครั้งที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีเข้าร่วมทั้งสิ้น 672 คน โดยจัดสัมมนาที่จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดลพบุรี และล่าสุดที่จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา สำหรับการจัดสัมมนาในปีงบประมาณ 2553 จะเริ่มที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้