กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ศรีปทุมโพล โดยสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครที่มีต่อการแพทย์และสังคมไทย ในหัวข้อ “การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อแพทย์และสังคมไทย” จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,000 คน เนื่องจากวันที่ 24 กันยายน เป็น “วันมหิดล” ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยดร.ปิยากร หวังมหาพร ผู้อำนวยการสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้สรุปผลการสำรวจได้ดังนี้
เมื่อถามว่าวิชาชีพแพทย์และพยาบาลในปัจจุบันต้องได้คนประเภทใดมาทำงานจึงจะเหมาะสม ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ควรจะได้คนที่เก่งและดีพอๆกัน ร้อยละ 63.83 รองลงมา คือ เก่งมากๆ ดีพอสมควร ร้อยละ 17.23, เก่งที่สุดเท่านั้น ร้อยละ 10.20, เก่งมากๆและตามใจคนไข้ ร้อยละ 7.47, เก่งมากๆ และหน้าตาดี ร้อยละ 1.03 และไม่แสดงความคิดเห็นร้อยละ 0.23
ถ้าหากมีลูกหลานที่เรียนเก่งหัวกะทิ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องการให้ลูกหลานเป็นหมออย่างแน่นอน ร้อยละ 41.27 รองลงมา คือ ทำอาชีพอื่นดีกว่า ร้อยละ 21.07, ไม่แน่ใจในกฏหมายของแพทย์จึงไม่กล้าตัดสินใจ ร้อยละ 15.20, ไม่แน่ใจเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจครอบครัวไม่กล้าตัดสินใจ ร้อยละ 15.10, กลัวในเรื่องความปลอดภัยจึงไม่กล้าตัดสินใจ ร้อยละ 5.83 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 1.53
เมื่อถามถึงการใช้บริการแพทย์ทางเลือก ประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่าเคยใช้บริการแพทย์ทางเลือกถึงร้อยละ 62.43 และไม่เคยใช้บริการ ร้อยละ 36.87 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 0.70
ส่วนความคิดเห็นถึงการแพทย์ทางเลือกชนิดใดที่ได้รับความนิยมและเติบโตแบบสวนกระแส ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็น ฟิตเนต ซาวน่า สปา ร้อยละ 29.33 รองลงมา คือ นวดแผนไทย ร้อยละ 21.77, อาหารเสริม ร้อยละ 14.50, เครื่องดื่มสุขภาพ ร้อยละ 11.77 การใช้ยาสมุนไพร ร้อยละ 9.47, ไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 6.27, การฝึกจิต ร้อยละ 4.13, การฝังเข็ม ร้อยละ 2.07 และ ชี่กง ร้อยละ 0.70
และเมื่อถามถึงแพทย์ที่รัฐบาลจะต้องให้ความช่วยเหลือและดูแลมากเป็นพิเศษ ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า เป็นแพทย์ชนบท ร้อยละ 45.73 รองลงมา คือ แพทย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 34.10, แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ร้อยละ 9.70, แพทย์ที่ถูกฟ้องเพราะความผิดพลาดในการรักษา ร้อยละ 4.43, อาจารย์แพทย์ในมหาวิทยาลัย ร้อยละ 2.27, ไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 2.00 และแพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ร้อยละ 1.77
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติภูมิ มีประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม ให้ความเห็นเกี่ยวกับการสำรวจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสังคมไทยครั้งนี้ว่า สังคมไทยปัจจุบันมองเห็นว่าอาชีพที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินความเป็นความตายของคน เช่นอาชีพแพทย์และพยาบาลนั้นต้องการทั้งคนเก่งและคนดีมาเติมเต็มในอาชีพนี้ โดยดูได้จากตัวเลือกที่ประชาชนสนใจตอบมากที่สุดคือต้องได้ทั้งคนเก่งและคนดีมาเป็นแพทย์และพยาบาล โดยตอบในหัวข้อนี้ถึงร้อยละ 63.83 แม้กระทั่งคำตอบรองลงมาที่พอใจแพทย์และพยาบาลที่เก่งมากๆ แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญต่อความดีว่ายังต้องดีพอสมควรจึงจะยอมรับได้ร้อยละ 17.23 ทิ้งห่างเรื่องเก่งมาก เอาใจคนไข้อย่างมาก หรือหน้าตาดีมากๆ แบบไม่เห็นฝุ่น ซึ่งน่าจะสอดรับกับสังคมไทยในปัจจุบันว่าเราโหยหาคนดีมาเคียงข้างเราตั้งแต่เกิดจนตาย
มีประเด็นที่น่าสนใจคือ พ่อแม่ในปัจจุบันแม้มีลูกหลานในครอบครัวที่เรียนเก่งมาก ก็ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะให้ลูกมาเรียนแพทย์เพราะคำตอบยังยืนยันว่าจะให้เรียนแพทย์อย่างแน่นอนนั้นไม่ถึงครึ่ง มีร้อยละ 41.27 เท่านั้นที่ยืนยัน และหนึ่งในห้าของพ่อแม่ที่มีลูกเรียนเก่งมาก ยังต้องการให้ลูกมีอาชีพอื่นมากกว่าเอาดีทางการเป็นแพทย์
ในยุคโลกาภิวัตน์ที่คนต้องทำงานแข่งกับเวลา การรักษาสุขภาพและการใช้บริการแพทย์ทางเลือกยังคงเป็นที่ต้องการของ คนไทยเป็นอย่างมาก เพราะมากกว่าร้อยละ 62 ตอบว่าเคยใช้บริการ และที่เป็นที่นิยมอย่างมากของคนไทยยุคดิจิตอลก็คือ ฟิตเนท ซาวน่า สปา รวมไปถึงการนวดแผนไทยที่ครองแชมป์ความนิยมมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนความนิยมในเรื่องแพทย์ทางเลือกในประเด็นอาหารเสริมและเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพนั้น หนึ่งในสี่ของผู้ตอบแบบสอบถามยังให้ความนิยมชมชอบเรื่องนี้อยู่ ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือคนไทยไม่นิยมใช้สมาธิและการฝึกจิตในการรักษาโรคซึ่งอาจจะเนื่องจากต้องใช้เวลาและความตั้งใจสูงไม่เหมาะกับจริตของคนในยุคดิจิตอลที่ทำงานแข่งกับเวลาจนหลงลืมคุณค่าของสมาธิที่จะก่อให้เกิดปัญญา
ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญและน่าชื่นชมอย่างยิ่งคือคนไทยเกือบร้อยละ 80 ลงความเห็นว่าแพทย์ที่พวกเขาคิดว่ารัฐบาลจะต้องช่วยเหลือและดูแลมากเป็นพิเศษคือกลุ่มแพทย์ชนบทและแพทย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งน้ำใจและความดีที่แพทย์เหล่านี้ได้กระทำเป็นคุณค่าที่อยู่ในหัวใจของคนไทยตลอดเวลา ทั้งยังแสดงออกถึงความตระหนักรับรู้ว่าแพทย์ชนบทยังเป็นความหวังและที่พึ่งของคนไทยได้เป็นอย่างดี บทสรุปดังกล่าวคงทำให้คนไทยยิ้มออกได้ไม่มากก็น้อยเมื่อคิดถึง คนดีๆ ที่เสียสละเพื่อสังคมไทย