วิกฤตชาติ วิกฤตสมอง วิกฤตเศรษฐกิจ จากฐานภาษาไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday September 23, 2009 08:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--สบร. สบร. วอนทุกฝ่ายผลักดัน BBL แก้วิกฤตชาติ หลังพบปัญหาการอ่อนภาษาไทยเป็นสาเหตุใหญ่ ทำให้เด็กไทยไม่เข้าใจในศาสตร์อื่น ชี้ภาษาเป็นรากฐานในสมองเพื่อต่อยอดไปสู่การคิด วิเคราะห์ และสร้างสรรค์ วอนรื้อระบบการเรียนการสอนเพื่อสร้างคุณภาพประชากร รองรับโลกอนาคตที่ซับซ้อนและการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ ลั่นฐานสมองและการเรียนรู้ที่ถูกต้องคือต้นทางผลักดัน Creative Economy พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ สบร. (องค์การมหาชน) กล่าวถึงปัญหาเด็กไทยอ่อนภาษาไทย กำลังจะกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ เพราะภาษาคือพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ความหมาย เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ไปยังทุกศาสตร์และทุกสาขาวิชา พบปัจจุบันเด็กไทยส่วนใหญ่เรียนจบชั้นประถมศึกษา แต่ยังอ่านภาษาไทยไม่คล่อง สะกดคำไม่แม่น จึงสื่อสารความหมายที่ลึกซึ้งไม่ได้ ส่งผลให้สมองขาดฐานข้อมูลเบื้องต้น จึงคิดเชื่อมโยงและต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ศาสตร์อื่นได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หากปัญหายังคงเป็นเช่นนี้ ในอนาคตอันใกล้พลเมืองของประเทศไทยจะด้อยศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ โดยเฉพาะด้านการค้า และการลงทุน ซึ่งต้องอาศัยการสื่อความหมายและความคิดเชื่อมโยงในสาขาวิชาต่างๆ นอกจากนั้นการมีทักษะทางภาษาที่ไม่มั่นคง จะทำให้คิด วิเคราะห์เชิงลึกไม่ได้ จึงมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถประเมินสถานการณ์ที่ซับซ้อนของประเทศและโลกได้อย่างเท่าทัน เช่น การผลักดันแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) การรู้เท่าทันนักการเมือง และนโยบายการเมือง พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กไทยอ่อนแอด้านภาษาคือ กระบวนการสอนของครูในอดีตที่ยังไม่สอดรับกับธรรมชาติการรับรู้ในระบบสมองของมนุษย์ จึงไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ แต่เน้นเพียงให้เด็กท่องจำ ผลที่ออกมาคือเด็กไม่ได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ พร้อมย้ำว่าควรปรับกระบวนการเรียนการสอนใหม่ โดยอาศัยหลักพัฒนาการของสมองในแต่ละช่วงวัยหรือ BBL (Brain-based Learning) จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ แม้ที่ผ่านมาจะได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการอบรมครู BBL ไปเกือบ 1,000 คนแล้วก็ตาม แต่วิธีการบริหารจัดการดังกล่าวอาจไม่ทันการ จึงย้ำให้ทุกฝ่ายเร่งหาทางแก้ไขทั้งระบบ ด้านศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ บุญเกิด ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประสาทวิทยา กล่าวถึงเรื่องสมองกับการเรียนและรู้ภาษาว่า “ในการทำงานของสมองนั้น ภาษาคือหน้าต่างและบานข้อมูลที่จะต่อยอดไปสู่การเรียนรู้วิชาต่างๆ เพราะสมองจะทำงานโดยการเชื่อมต่อการเรียนรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิมเสมอ โดยช่องทางการเรียนรู้ที่ถูกต้องคือต้องเรียนรู้จากของจริงไปหาสัญลักษณ์ มิใช่ในปัจจุบันที่เรียนรู้จากสัญลักษณ์คือตัวอักษรไปหาของจริงคือประสบการณ์ในชีวิต สมองที่ไม่เข้าใจความหมายจึงไม่เปิดรับเป็นความจำ เพื่อต่อยอดสู่ความเข้าใจและเป็นความรู้ต่อไป” ดังนั้นการเรียนภาษาจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปสู่ความเข้าใจในวิชาอื่น ซึ่งคนทั่วไปมักไม่ค่อยทราบความสำคัญของภาษาตรงนี้ จึงละเลยไม่เห็นความสำคัญของการเรียนวิชาภาษาไทยและมุ่งไปที่การเรียนวิชาอื่นเสียมากกว่า สำหรับกุญแจสำคัญที่จะทำให้เด็กเก่งภาษาคือต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจัดการการเรียนรู้อย่างสมวัย เป็นไปตามหลักของทฤษฎี Brain-based Learning (BBL) ที่ สสอน.พยายามผลักดันเข้าไปสู่การเรียนการสอนในโรงเรียน “สมองมนุษย์นับเป็นอวัยวะพิเศษไม่เหมือนใคร เพราะมีความสามารถในการเรียนรู้อย่างมาก สมองสร้างหน่วยความจำได้ถึง 280 ล้านวงจร สามารถเรียนรู้ภาษาได้อย่างมหาศาล แต่การจะเรียนรู้ได้ดีนั้นหลักสำคัญคือต้องเรียนรู้จากของจริงไปหาสัญลักษณ์ และต้องเป็นการเรียนด้วยความสุข ทำให้การเรียนเข้าใจง่ายมีประสิทธิภาพ ในการเรียนภาษาพูดของมนุษย์ สมองจะมีคลังข้อมูลสำหรับเก็บสัญลักษณ์และเอกลักษณ์ของคน สัตว์ สิ่งของ ภาวะแวดล้อม รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว จึงแปลงข้อมูลสัญลักษณ์เหล่านี้มาเป็นการเปล่งเสียงหรือภาษาพูดภาษาใช้การทำงานของสมองซีกซ้าย คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน และสื่อสาร โดยเรียนรู้จากภาษากาย ไปสู่ภาษาพูด ต่อขยายไปยังภาษาเขียน ไปสู่การอ่านในใจ แล้วเชื่อมโยงไปยังการเรียนรู้วิชาอื่น ๆ” ด้านนางสาวปาริชาติ สกุลภาพนิมิต รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) เปิดเผยว่า หน้าต่างการเรียนรู้ของเด็กจะเปิดและปิดตามช่วงวัยตามทฤษฏีการเรียนรู้ของสมอง โดยฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างไม่รู้จบนั่นคือ ภาษาและการจัดการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย ดังนั้นปัญหาการต่อยอดการเรียนรู้จะไม่เกิดขึ้น หากเด็กมีฐานภาษาที่ไม่แข็งแกร่ง ในด้านการเรียนรู้ธรรมชาติของวิธีการเรียนรู้ภาษาให้แข็งแกร่ง ควรเริ่มจัดการเรียนรู้ตั้งแต่ การฟัง สู่การดู ทำให้อยากพูด อ่านตาม และ เริ่มเขียน ตามหลักทฤษฎี Brain-based Learning (BBL) ซึ่งกระบวนการที่ใช้สอนในปัจจุบันได้ข้ามขั้นตอนและให้ความสำคัญที่ผิด โดยให้น้ำหนักไปที่จุดวัดผลให้เด็กเขียนได้เป็นอันดับแรก แต่หารู้ไม่ว่าจะไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้นหากเด็กไม่เข้าใจจากการฟัง พูด อ่าน ซึ่งส่งผลให้ภาษาของเด็กล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ตามผลการวิจัยพบว่า การฟังมีประโยชน์ในการพัฒนาอย่างมหาศาล สมองจะพยายามเก็บข้อมูลแล้วนำมาเชื่อมโยง การฟังเป็นจุดแรกในการเชื่อมต่อ เมื่อฟังจะเกิดการเก็บข้อมูล และเมื่อมาประกอบการดู เช่น ภาพจากนิทาน จะทำให้ขยายสิ่งที่ฟัง เป็นการเปิดมิติการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กได้ตื่นตาตื่นใจ ติดตาม ภาพติดตาจากการได้ฟัง และดูเรื่องราวนิทานหลายๆ รอบ จะส่งผลให้เด็กเริ่มเลียนเสียงตาม เมื่อเด็กมีความพร้อมในการเรียนภาษาระดับหนึ่ง ความต้องการที่จะอ่านออกและสะกดเป็นจะตามมาเป็นลำดับ ซึ่งแม้ว่าครูจะไม่สอนเด็กก็จะพยายามทำเอง นางสาวปาริชาติ กล่าวต่อว่า ในด้านพัฒนาการตามช่วงวัย ในการเรียนรู้ภาษา จะเริ่มตั้งแต่วัยทารกอายุราว 18 เดือน วัยนี้ประสาทสัมผัสของเด็กในด้านการฟังจะเริ่มทำงาน จนนำไปสู่การคิดตาม แต่ยังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นภาษาพูดได้ ผู้เลี้ยงดูควรเริ่มฝึกให้เด็กคุ้นชินกับภาษาด้วยคำง่ายๆ ผ่านการอ่านนิทาน จะช่วยให้เด็กต่อยอดได้ดีเมื่อเติบโตขึ้น ในช่วงวัย 0-6 ขวบ ระยะนี้เป็นโอกาสทองของการวางรากฐานด้านภาษาและวรรณคดี การเชื่อมโยงประสานการทำงานระหว่างสมองซีกซ้าย ซีกขวา และส่วนต่างๆ กำลังก่อตัวอย่างรวดเร็ว เด็กจะเน้นการเล่นเพื่อการเรียนรู้ เป็นวัยซุกซนที่สมองเปิดในการพัฒนา วัยนี้ควรให้เด็กได้ฟังได้ดู เปิดโสตประสาทสัมผัส หู ตา ผ่านสื่อที่น่าสนใจซึ่งจะคอยช่วยเชื่อมเด็กให้อยากเรียนรู้ ในช่วงวัย 7-9 ขวบ เด็กจะมีพัฒนาของสมองซีกซ้ายชัดเจนมาก เช่นเดียวกับการมีทักษะในการสะกดคำ เด็กวัยนี้เริ่มสนใจรายละเอียดต่างๆ ของมวลประสบการณ์ จึงเป็นวัยแห่งความพร้อมที่จะเข้าสู่การเรียนรู้จากสิ่งรูปธรรม และเรียนรู้ได้ดีที่สุดในกิจกรรมที่ใช้มือและเสียง ครูผู้สอน ควรส่งเสริมเน้นการฟัง การดู และให้เด็กมีส่วนร่วม และสร้างนิสัยรักการอ่าน โดยหาได้จากสภาพแวดล้อมที่มีหนังสือให้เด็กอ่าน ในช่วงวัย 9-15 ขวบ เด็กจะเริ่มเรียนรู้ เน้นทางวิชาการมากยิ่งขึ้น เด็กในวัยนี้เป็นวัยมัธยม ภาษาในวัยนี้จะแข็งแกร่ง การอ่านมากจะทำให้ยิ่งสะสมคำ สะสมการตีความได้สูง เมื่อฐานการเรียนรู้ภาษาถูกสร้างให้แข็งแกร่งตามวัย ผลที่ตามมาคือการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ได้ดี เด็กก็จะสามารถต่อยอดองค์ความรู้ได้เพิ่มเติมมากขึ้น ส่วน ดร.ยุวดี ศันสนีย์รัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ เปิดเผยถึงผลสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎี Brain-base Learning (BBL) ในการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบระดับประถมศึกษาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาว่า มีโรงเรียนนำร่องในโครงการทดลอง 12 โรงเรียน ทั้งในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน ทางสถาบันฯ ได้สนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบ BBL โดยการอบรมบุคลากร การลงพื้นที่สังเกตการณ์การจัดการเรียนรู้จริง จึงพบว่าเด็กที่ได้เรียนรู้ตามหลักสูตร Brain-base Learning ในพัฒนาการที่สมวัย จะมีความพร้อมในการเรียนรู้ได้จริง โรงเรียนต้นแบบ BBL เหล่านี้ จะเป็นโรงเรียนที่ทดลองใช้หลักสูตรการเรียนรู้แบบ BBL ซึ่งขณะนี้ได้จัดให้มีการประชุมกลุ่มผู้บริหารในระดับนโยบาย เพื่อทำความเข้าใจต่อแนวทางกระบวนการเรียนรู้แบบ BBL และจัดให้มีการประชุมปฏิบัติการครูต้นแบบ BBL เพื่อให้สามารถพัฒนากระบวนการเรียนการสอน ตลอดจนการใช้สื่อประกอบการเรียน เช่น หนังสือแบบเรียน แบบฝึกหัด คู่มือครู กิจกรรมประกอบการเรียนต่างๆ เข้าสู่แนวทางการเรียนรู้ที่ยึดพื้นฐานกลไกการทำงานของสมองเด็กแต่ละช่วงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ทางโครงการฯ พบว่าโรงเรียนนำร่องดังกล่าว สามารถแก้ปัญหาการเรียนรู้ภาษาไทยของเด็กได้ ด้วยหลักสูตรการเรียนรู้แบบ BBL เช่น กรณีเด็กหญิงเพ็ญนภา แสงท้าว (น้องมอมิว) จากโรงเรียนบ้านโป่งแยงนอก จ.เชียงใหม่ เด็กชนเผ่าที่ขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก สื่อสารกับคุณครู และเพื่อนไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อผ่านกระบวนการ BBL เพียงไม่นาน ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เริ่มสื่อสารรู้เรื่องดีขึ้น อีกหนึ่งเดือนต่อมาสามารถอ่านหนังสือจากภาพได้ และมีพัฒนาการที่ดีเป็นลำดับ ปัจจุบันสามารถพูดและอ่านออกเสียงภาษาไทยได้อย่างชัดเจน และสื่อสารกับทุกคนได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีสำเนียงภาษาชนเผ่า หรือ กรณีตัวอย่างเด็กที่อ่านได้น้อย เขียนไม่คล่อง เรียนหนังสือแบบไม่มีความสุข ชอบดูแต่รูปภาพ เด็กชายสมชาย ตะฮ่อ จากโรงเรียนเทศบาลวัดพวกช้าง จ.เชียงใหม่ เมื่อเข้าร่วมกระบวนการ BBL ได้ไม่นาน น้องสมชายกลายเป็นเด็กที่สนใจ และชอบอ่านภาษาไทยอย่างมาก” ดร.ยุวดี กล่าวในที่สุด

แท็ก ภาษาไทย   สมอง   BBL  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ