กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับเครือข่าย ๙ มหาวิทยาลัยของไทย และสถาบันทางสังคมศาสตร์ตาต้า มุมไบ ประเทศอินเดีย จัดสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านคนพิการ แก่หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชนด้านคนพิการ นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป และคนพิการ รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ องค์ความรู้ใหม่ๆ แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านคนพิการ โดยมีนางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา วันพุธที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๓๐ น.
นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การวิจัยถือเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่มงาน การคิดแสวงหาแนวทาง และการดำเนินงานใหม่ๆ เนื่องจากการวิจัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเรียนรู้ของมนุษย์ เช่น การสร้างรูปแบบหรือต้นแบบใหม่ การเริ่มโครงการ การปรับปรุง และประเมินผลงาน รวมถึงองค์ความรู้ที่เป็นนวัตกรรมการพัฒนาสังคม การวิจัยที่มีการดำเนินการตามระเบียบวิธี จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีการพัฒนากระบวนการคิด ทักษะ การวิเคราะห์ การนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้เป็นกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรได้อีกทางหนึ่งด้วย ในอนาคตหวังว่าคนพิการจะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานวิจัย และงานวิชาการด้านสังคมมากขึ้น ตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่๓ พ.ศ. ๒๕๕๐ -๒๕๕๔ ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านคนพิการ ที่กำหนดให้มีการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทุกด้านและนำผลงานวิจัยไปปรับใช้ เพื่อพัฒนางานด้านคนพิการ
นางนวลพรรณ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการรวบรวมและเผยแพร่ผลงานวิจัยองค์ความรู้ด้านคนพิการใหม่ๆ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเซ็นจอห์น มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และสถาบันทางสังคมศาสตร์ตาต้า มุมไบ ประเทศอินเดีย จัดงานสัมมนาทางวิชาการระดับชาติด้านคนพิการครั้งนี้ขึ้น ภายในงานจะมีการปาฐกถา เรื่อง ทิศทางใหม่ของงานวิจัยด้านคนพิการ การนำเสนอผลงานวิจัยใน ๓ ประเด็นหลัก คือ กฎหมายและสิทธิคนพิการ สวัสดิการและการอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยเหลือคนพิการ และการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพคนพิการ เป็นต้น