กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดสัมมนานำเสนอผลการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ในวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อเสนอแนะจากมุมมองของสหวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งการแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อยุติความรุนแรงในครอบครัวร่วมกัน
นายศุภฤกษ์ หงส์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานหลักที่สำคัญที่สุดในสังคม เพราะเป็นสถาบันที่หล่อหลอมความเชื่อ ทัศนคติ และบุคลิกภาพของคน ทั้งทางบวกและทางลบและเป็นปัจจัยยึดเหนี่ยวในการสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของสังคม ประเทศชาติ ที่ผ่านมาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ได้ส่งผลให้สถาบันครอบครัวไทยมีการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การเกิดปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคมรูปแบบใหม่ๆ ครอบครัวไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ขาดพลังในการต่อสู้กับปัญหาโดยเฉพาะในกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก มีข้อมูลการให้ความช่วยเหลือจากศูนย์พึ่งได้ (OSCC) แสดงแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายศุภฤกษ์ กล่าวต่อว่า ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ขานรับกับกระแสสากลด้านสิทธิมนุษยชน โดยเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และร่วมรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี รวมทั้งการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นการแสดงความมุ่งมั่นที่ยืนยันถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจัง
“กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือป้องปรามการกระทำผิด การที่จะเข้าถึงสิทธิและความต้องการของผู้เสียหายอย่างแท้จริงนั้น ต้องอาศัยมิติทางสังคม พลังความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วนสนับสนุน กระบวนการการใช้กฎหมายฉบับนี้จึงจะบังเกิดผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านกระบวนการยุติธรรม การบำบัด ฟื้นฟู เยียวยา การกำกับติดตาม และการป้องกันเฝ้าระวังในชุมชน การสัมมนาครั้งนี้ เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ปฏิบัติงานในสาขาสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ข้อเสนอแนะ นำไปสู่แนวทางการปฏิบัติ และสร้างข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อบรรลุความสำเร็จในการคุ้มครองสิทธิเด็ก สตรีจากความรุนแรงในครอบครัว ที่เอื้อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนต่อไป” นายศุภฤกษ์ กล่าว