กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--วอล์ท ดิสนีย์ สตูดิโอส์ โมชั่น พิคเจอร์ส
ข้อมูลงานสร้าง
มนุษย์ใช้ชีวิตผ่านทางหุ่นยนต์ตัวแทนเสมือน ซึ่งเป็นเครื่องจักรกลที่มีรูปร่างเซ็กซี สมบูรณ์แบบที่เป็นตัวแทนของพวกเขา ภายในอาณาเขตปลอดภัยของบ้านตัวเอง มันเป็นโลกในอุดมคติ ที่ไร้ซึ่งอาชญากรรม ความเจ็บปวด ความกลัว และเรื่องเลวร้าย เมื่อเหตุฆาตกรรมครั้งแรกในรอบหลายปีทำให้สรวงสวรรค์แห่งนี้สั่นสะเทือน เจ้าหน้าที่ FBI เกรียร์ (บรูซ วิลลิส) ได้ค้นพบเครือข่ายการสมคบคิดขนาดใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ตัวแทนเสมือน และเขาก็ต้องปล่อยวางจากหุ่นยนต์เสมือนของตัวเอง และเอาชีวิตตัวเองเข้าเสี่ยงเพื่อไขปริศนาเรื่องนี้ให้ได้
ทัชสโตน พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอ “SURROGATES” แอ็กชันทริลเลอร์สุดระทึก ที่กำกับโดยโจนาธาน มอสโทว์ (“Terminator 3: Rise of the Machines,” “Breakdown”) และนำแสดงโดยราดาห์ มิทเชล, โรซามุนด์ ไพค์, บอริส ค็อดโจ, เจมส์ ฟรานซิส กินตี้, ไมเคิล คัดลิทซ์, เจมส์ ครอมเวลและวิง ราห์มส์
“SURROGATES” อำนวยการสร้างโดยเดวิด โฮเบอร์แมนและท็อดด์ ลีเบอร์แมนแห่งแมนเดอวิลล์ ฟิล์ม (“The Proposal,” “Traitor,” “Wild Hogs”) และแม็กซ์ แฮนเดลแมนแห่งบราวน์สโตน โปรดักชันส์ ผู้ควบคุมงานสร้างคือเดวิด นิคเซย์ (“Legally Blonde,” “The Negotiator,” “Robin Hood: Prince of Thieves”) และอลิซาเบธ แบงค์ส แห่งบราวน์สโตน โปรดักชัน (ผลงานการแสดงของเธอคือ “Zack and Miri Make a Porno,” “W.,” “The 40-Year-Old Virgin”) บทภาพยนตร์โดยจอห์น แบรนคาโต้ และไมเคิล เฟอร์ริส (“Terminator 3: Rise of the Machines,” “The Game”) จากนิยายภาพยอดนิยมของท็อป เชลฟ์ คอมิกซ์ โดยโรเบิร์ต เวนดิตตี้และเบรท เวลเดล
ทีมงานสร้างสรรค์ได้แก่ผู้ออกแบบงานสร้าง เจฟ แมนน์ (“Terminator 3: Rise of the Machines,” “Transformers,” “Gone in Sixty Seconds”), ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายเจ้าของรางวัลเอ็มมี เอพริล เฟอร์รี (“Terminator 3: Rise of the Machines,” “U-571,” HBO’s “Rome”), ผู้กำกับภาพผู้คร่ำหวอดในวงการ โอลิเวอร์ วู้ด (ไตรภาค “The Bourne,” “Fantastic Four,” “U-571”), มือลำดับภาพมือเก๋า เควิน สติทท์ (“The Kingdom,” “Cloverfield,” “Breakdown”) และซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ เจ้าของรางวัลออสการ์ มาร์ค สเตทสัน ส่วนทีมงานเบื้องหลังได้แก่สามเจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ได้แก่เมคอัพ อาร์ติสท์ โฮเวิร์ด เบอร์เกอร์ (“The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe,” “Transformers,” “Grind House”), เมคอัพ อาร์ติสท์ เจฟ ดอว์น (“Terminator 2: Judgment Day,” “Terminator 3: Rise of the Machines,” “Batman & Robin”) และซาวน์ ดีไซเนอร์ จอน จอห์นสัน (“U-571,” “Breakdown”)
“SURROGATES” ถ่ายทำในสถานที่จริงในแมสซาซูเซทส์ โดยเฉพาะในบอสตันและชนบทแวดล้อม
จุดกำเนิด SURROGATES
อนาคตอยู่ตรงนี้แล้ว
ตอนแรกเราก็มีคอมพิวเตอร์ ต่อมาก็อีเมล์ โทรศัพท์มือถือเครื่องจิ๋ว อินเทอร์เน็ต ปัจจุบันนี้ หุ่นยนต์เสมือนที่มีเสน่ห์เย้ายวนได้ก้าวเข้ามาแทนที่มนุษย์ตัวจริงที่อัปลักษณ์กว่าพวกมันเสียแล้ว เหล่ามนุษย์สามัญที่ไม่จำเป็นจะต้องเหยียบย่างสู่โลกที่แท้จริงด้วยตัวเองอีกต่อไปแล้ว ในโลก “SURROGATES” เทคโนโลยีก้าวไปไกลเกินไปหรือไม่?
“พล็อตของหนังเรื่องนี้ก็คือการที่ตัวแทนเสมือนได้เข้าครอบงำโลกใบนี้ เหมือนอย่างโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์น่ะครับ” ผู้กำกับโจนาธาน มอสโทว์กล่าว “หุ่นยนต์เสมือนเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ทำใหผู้ใช้มีโอกาสที่จะได้สัมผัสกับชีวิตอย่างหฤหรรษ์จากบ้านของตัวเองที่แสนสุขสบายและปลอดภัย ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวแทนเสมือนเป็นตัวแทนของอิสรภาพอย่างแท้จริง ทั้งจากภัยร้ายต่อร่างกายและความทุกข์ใจในชีวิตประจำวัน ความสุขเกิดขึ้นได้เพียงแค่เสียบปลั๊กครับ”
“แต่สำหรับบางคน การมีตัวแทนเสมือนให้ความรู้สึกเหมือนการเมินเฉยต่อความเป็นมนุษย์” มอสโทว์กล่าวต่อ “ในโลกที่ซึ่งการสัมผัสทางกายมีน้อยลงเรื่อยๆ ความรักจะสูญสิ้นความหมายของมันเองไปรึเปล่า นั่นเป็นหนึ่งในไอเดียที่เราพูดถึงในเรื่องด้วยครับ”
โรเบิร์ต เวนดิตตี้ นักเขียนหน้าใหม่ได้คิดพล็อตที่ไม่เหมือนใครนี้ขึ้นมาระหว่างที่ทำงานกับท็อป เชล์ฟ พับลิเคชันส์ในโกดังขนส่งสินค้าของพวกเขาในย่านชานเมืองของแอตแลนตา ด้วยความต้องการที่จะหามุมมองใหม่ๆ ให้กับนิยายภาพ เวนดิตตี้คิดไปถึงหนังสือสังคมวิทยาที่เขาเคยอ่านสำหรับคอร์สปริญญาโทของเขา ซึ่งบรรยายถึง “การศึกษาผู้คนที่หมกมุ่นอยู่กับเกมๆ หน่ง ที่สร้างตัวแทนเสมือนสำหรับตัวเองขึ้นมา พวกเขารู้สึกผูกพันกับตัวแทนเสมือนนั้นจนพวกเขาอาจจะเสียงาน ชีวิตคู่พัง เพราะพวกเขาไม่อาจที่จะแยกแยะชีวิตของพวกเขาออกจากตัวแทนเสมือนที่พวกเขาสร้างขึ้นได้ มันเป็นไอเดียที่ประทับรอยอยู่ในใจผม มันเป็นความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ครับที่อยากจะเป็นอะไรที่ไม่ใช่ตัวเอง”
นักเขียนหนุ่มได้ต่อยอดไอเดียนี้เพิ่มเติมด้วยการจินตนาการเหตุผลหลากหลายที่ทำให้ผู้คนต้องใช้ตัวแทนเสมือน “ไอเดียของผมคือการสร้างตัวแทนเสมือนที่จะไปทำงานหาเงินให้คุณ ซึ่งเป็นเหตุผลที่เข้าท่าทีเดียวที่จะมีตัวแทนเสมือน ผมมองไปที่ไอเดียเรื่องการพัฒนาตนเอง ที่ตัวแทนเสมือนเหล่านี้เป็นเหมือนการศัลยกรรมตกแต่งความงามขั้นสุดโต่ง ที่คุณจะสามารถคงความหนุ่มสาวได้ตลอดกาล หรืออาจจะมีกล้ามเนื้อมากขึ้น เป็นตัวคุณอย่างที่คุณใฝ่ฝันน่ะครับ”
“สำหรับผมแล้ว เรื่องราวนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีและความเป็นมนุษย์ครับ” ผู้อำนวยการสร้าง โฮเบอร์แมนกล่าว “ผมเป็นคนที่เกิดก่อนพวกคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต อีเมล์และ iPhone ผมแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับมันจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ เรื่องราวนี้กล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าทุกคนใช้ชีวิตอยู่ในคอมพิวเตอร์ และมีคนอื่นใช้ชีวิตแทนพวกเขาอยู่นอกบ้าน ในลักษณะที่น่าสนใจ มันพูดถึงทิศทางของเทคโนโลยี แล้วผมก็คิดว่ามันพูดถึงการศัลยกรรมความงาม และสิ่งต่างๆ ที่ผู้คนทำกับร่างกายพวกเขา ผมคิดว่ามันเป็นไอเดียที่น่าสนใจที่จะพูดถึงในหนังเรื่องนี้ครับ”
บรูซ วิลลิส (“Die Hard,” “Twelve Monkeys,” “The Sixth Sense”) และราดาห์ มิทเชล (“Man on Fire,” “Melinda and Melinda,” “Pitch Black”) รับบทเจ้าหน้าที่ FBI โธมัส เกรียร์และเจนนิเฟอร์ ปีเตอร์ส คู่หูใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้สืบสวนคดีฆาตกรรม มันเป็นคดีฆาตกรรมครั้งแรกในรอบหลายปีที่เกิดขึ้นในสังคมอุดมคติแห่งนี้ และมันก็เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับจริยธรรมของเทคโนโลยีตัวแทนเสมือนและอนาคตของสังคมเรา
มอสโทว์กล่าวว่า “หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องลี้ลับ เรื่องสืบสวนสอบสวน ที่มีบรูซ วิลลิสเป็นเจ้าหน้าที่ FBI ผู้ซึ่งการสืบสวนคดีฆาตกรรมปริศนาของตัวแทนเสมือนทำให้เขาต้องเผชิญหน้ากับการสมคบคิดที่ตั้งคำถามกับคำนิยามของความเป็นมนุษย์ครับ”
“มันเป็นเรื่องราวเตือนใจเกี่ยวกับการที่ผู้คนใช้ชีวิตในโลกเทคโนโลยีปัจจุบันครับ” โฮเบอร์แมนกล่าวเสริม
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ดร.ไลโอเนล แคนเตอร์คือมหาเศรษฐีผู้รักสันโดษ อัจฉริยะจาก M.I.T. ผู้ซึ่งการทดลองที่น่าตื่นตาตื่นใจของเขานำไปสู่การสร้างประชากรตัวแทนเสมือนขึ้น แคนเตอร์ที่ต้องนั่งอยู่บนรถเข็นตลอดเวลาเริ่มทดลองการใช้แขนขาเทียมระหว่างที่อยู่ M.I.T. งานวิจัยของเขานำไปสู่เทคโนโลยีใหม่ในการถอดรหัสแรงกระตุ้นจากสมอง ซึ่งเขาค้นพบว่าสามารถนำมาแปลงเป็นสัญญาณที่ส่งต่อไปยังมนุษย์เทียมได้ “ตัวแทนเสมือน” ที่ถูกบังคับจากระยะไกลแตกต่างจากมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อตรงที่พวกมันมีรูปลักษณ์ทางกายภาพที่สมบูรณ์แบบ ตัวแทนเสมือนแต่ละคนจะเชื่อมโยงโดยตรงกับมนุษย์ ที่อาจจะอยู่ห่างออกไปไม่กี่บล็อก หรือหลายร้อยไมล์ และคอยควบคุมตัวแทนเสมือนของพวกเขาอยู่ หากไม่มีจิตใจมนุษย์ที่คอยส่งและรับแรงกระตุ้นเหล่านั้นในขณะที่นั่งอยู่ในสิ่งประดิษฐ์พิเศษที่มีชื่อว่า “เก้าอี้กระตุ้น” หุ่นยนต์ตัวแทนเสมือนเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย
เช่นนี้เอง โลกของตัวแทนเสมือนจึงถือกำเนิดขึ้นมา ภายใต้การตอบรับอย่างดีจากผู้คนนับล้าน และความเสียใจและความรังเกียจเดียจฉันท์จากอีกหลายๆ คน วิง ราห์มส์ (“Pulp Fiction,” “Mission: Impossible,” “Con Air”) รับบทนักพยากรณ์ ผู้นำของกลุ่มประชากรที่ต่อต้านวิถีชีวิตทันสมัยที่ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์นี้อย่างโจ่งแจ้ง
“ไอเดียหลักสำหรับ ‘Surrogates’ คือทำอย่างไรเราถึงจะสามารถคงความเป็นมนุษย์ไว้ได้ในโลกที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ที่เราอาศัยอยู่ใบนี้” มอสโทว์กล่าว “เทคโนโลยีเป็นเรื่องเยี่ยมก็จริงครับ และความใฝ่ฝันของการใช้เทคโนโลยีก็คือมันจะทำให้เรามีอิสระที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างโน่นสร้างนี่ขึ้นมา และทำในสิ่งที่มหัศจรรย์มากมาย ผลเสียของมันก็คือสุดท้ายแล้วเราก็จะกลายเป็นทาสของมันในรูปแบบหนึ่ง เรายึดติดกับโทรศัพท์มือถือ กับแบล็คเบอร์รีของเรา การมีอีเมล์เป็นเรื่องดีก็จริง แต่เมื่อคุณต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงต่อวันในการตอบอีเมล์ มันก็กลายมาเป็นภาระผูกมัด ดังนั้นโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในชีวิตเหล่านี้ก็กลายเป็นตัวพันธนาการเราเช่นกันครับ”
“เทคโนโลยีกลายมาเป็นวิถีชีวิตครับ” ผู้อำนวยการสร้างท็อดด์ ลีเบอร์แมนกล่าว “มันดูเหมือนจะเกิดขึ้นเมื่อมีเทคโนโลยีอยู่เต็มไปหมด มันเข้าครอบงำสังคมและทำให้คนต้องพึ่งพามันในการใช้ชีวิต ทุกวันนี้ชีวิตเราจะเป็นยังไงถ้าขาดอินเทอร์เน็ต หรือขาดโทรศัพท์มือถือล่ะครับ มันเป็นเรื่องที่จินตนาการได้ยากใช่มั้ยล่ะครับ ในโลกใบนี้ พวกเขาจะทำยังไงถ้าไม่มีตัวแทนเสมือนล่ะ”
“วัตถุประสงค์ของเรื่องราวนี้คือเพื่อตั้งคำถามเหล่านั้นครับ” เวนดิตตี้สรุป “ผมไม่รู้คำตอบของคำถามที่ว่าเหมือนกัน ตอนที่ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ผมอยากให้คนได้เห็นว่าการใช้ตัวแทนเสมือนมีประโยชน์ต่อสังคมยังไง และมีโทษยังไง และที่สุดแล้ว ผมก็อยากจะให้ผู้อ่านตัดสินใจด้วยตัวเองครับ”
การส่ง “SURROGATES” ขึ้นจอเงิน
นิยายภาพกลายมาเป็นภาพยนตร์
ผู้อำนวยการสร้างแม็กซ์ แฮนเดลแมน ซึ่งเป็นแฟนการ์ตูนตัวยง ได้ซื้อสิทธินิยายภาพเรื่องนี้จากเวนดิตตี้ เขาพบว่าธีมของเรื่องราวช่างน่าหลงใหล “เรื่องราวนี้เดินหน้าในจังหวะที่ยอดเยี่ยมและทำให้คุณได้จินตนาการถึงสิ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคมของเราในซักวันหนึ่ง เราทุกคนจะมีตัวแทนเสมือนรึเปล่า ก็อาจจะไม่ แต่มันเป็นอุปมาอุปมัยถึงการที่สังคมเราพึ่งพาเทคโนโลยีและการติดต่อสื่อสารเสมือนจริงเพิ่มขึ้นทุกวันน่ะครับ”
แฮนเดลแมนได้นำการ์ตูนเรื่องนี้ไปเสนอเพื่อนสมัยเรียนของเขา ผู้อำนวยการสร้างท็อดด์ ลีเบอร์แมน ผู้ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับผู้อำนวยการสร้างและผู้บริหารสตูดิโอเดวิด โฮเบอร์แมนที่แมนเดอวิลล์ ฟิล์มส์
“ผมกำลังมองหาสิ่งที่มีความดิบ เรื่องราวแบบฟิล์มนัวร์ และผมก็พบคุณสมบัตินั้นในเรื่องราวของโรเบิร์ตครับ” ลีเบอร์แมนกล่าว “หนังเริ่มต้นด้วยคนที่ดูดีมีเสน่ห์มากๆ สองคนด้านนอกคลับ แล้วจู่ๆ มีคนๆ หนึ่งเดินเข้ามาใกล้ แล้วพวกเขาก็ล้มลงตาย คุณจะไม่รู้เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น และแล้วผู้ที่เข้ามาก็คือตัวละครของบรูซ วิลลิสและคู่หูของเขา และคุณก็จะได้รับรู้อย่างรวดเร็วว่าโลกใบนั้นไม่ใช่โลกใบที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ครับ”
“คนสองคนที่ถูกฆ่าจริงๆ แล้วเป็นตัวแทนเสมือนครับ” ลีเบอร์แมนกล่าวต่อ “ไม่เพียงแต่พวกตัวแทนเสมือนจะถูกทำลายเท่านั้น แต่คนที่ควบคุมพวกมันที่บ้านก็ถูกสังหารด้วย ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของตัวแทนเสมือน โลกตัวแทนเสมือนกำลังตกอยู่ในอันตรายเพราะมาตรการที่ไม่ทำร้ายผู้ใช้เป็นรากฐานสำคัญของเทคโนโลยีนี้ครับ”
โจนาธาน มอสโทว์ตอบตกลงที่จะกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ และคู่หูเขียนบทที่เคยร่วมงานกับเขามานานอย่างจอห์น แบรนคาโต้และไมเคิล เฟอร์ริส (“Terminator 3: Rise of the Machines,” ภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์ปี 1991 เรื่อง “Flight of Black Angel”) ก็ได้รับการทาบทามให้มาเขียนบทสคริปต์ภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งทำให้งานนี้กลายเป็นเหมือนงานคืนสู่เหย้าสำหรับอดีตเพื่อนร่วมชั้นจากฮาร์วาร์ดทั้งสามคน
“ทันทีที่ไมค์กับผมได้อ่านนิยายภาพเรื่องนี้ เราก็รู้สึกว่ามันน่าจะกลายเป็นหนังเยี่ยมๆ ได้” แบรนคาโต้บอก “คอนเซ็ปต์เรื่องตัวแทนเสมือนพูดถึงสภาพสังคมปัจจุบันทั้งในแบบที่ตรงไปตรงมาและแบบอ้อมๆ มันเป็นการอุปมาอุปมัยถึงอินเทอร์เน็ต ศัลยกรรมความงาม การเสพติด และการเล่นเกมสมมติ แถมยังมีเรื่องของตัวตนภายนอกกับภายในอีกนะครับ”
ในการถ่ายทอดกลิ่นไอในแบบที่ทั้งคู่ต้องการจะบรรยายในโลกปัจจุบัน/กึ่งๆ อนาคต ที่มีประชากรเป็นหุ่นยนต์เป็นส่วนมาก ทั้งคู่ก็เริ่มต้นค้นคว้าเรื่องเทคโนโลยีที่สะท้อนถึงไอเดียของเวนดิตตี้ในนิยายภาพเรื่องนี้
การศึกษาค้นคว้าของพวกเขาทำให้พวกเขาได้พบกับนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ ฮิโรชิ อิชิงุโระ ผู้ซึ่งใช้เวอร์ชันพลาสติกของตัวเองในการบรรยายทั่วโลกโดยไม่ต้องออกจากออฟฟิศที่โอซาก้าของเขาเลย นอกจากนี้ พวกเขายังได้ค้นพบลิงวอกในนอร์ธ แครอไลนา ที่ถูกต่อเข้ากับสายวงจรเพื่อทำให้หุ่นยนต์ในเกียวโตเดินได้ เพียงแค่คิดเท่านั้น เทคโนโลยีล้ำหน้าไปเรื่อยๆ ด้วยความทันสมัยที่น่าตื่นตกใจต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนที่เผชิญกับโรคร้ายต่างๆ แล้วในขณะนี้
การคัดเลือกนักแสดงสำหรับ “SURROGATES”
บรูซ วิลลิสรับบทนำ
ตัวละครมากมายของ “SURROGATES” ประกอบไปด้วยทั้งหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างสมบูรณ์แบบและมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจริงๆ และนักแสดงส่วนใหญ่ก็ถูกขอร้องให้เล่นทั้งสองบทบาท
ในการเนรมิตชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ FBI ผู้มีความขัดแย้งในจิตใจของ “SURROGATES” ทีมผู้สร้างได้หันไปหา บรูซ วิลลิส ซูเปอร์สตาร์ระดับโลก “เขาเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในรุ่นของเขาจริงๆ ครับ” มอสโทว์กล่าว “เขาต้องมีทักษะที่ยอดเยี่ยมมากๆ ในการที่จะแสดงหนังที่มีไอเดียแบบไฮคอนเซ็ปต์มากๆ อยู่เบื้องหลังได้ อย่างในเรื่องนี้ที่มันเป็นความจริงเสมือน แต่เขาก็ทำให้มันน่าเชื่อได้ นั่นเป็นพรสวรรค์ของเขาจริงๆ ครับ”
“สิ่งหนึ่งเกี่ยวกับบรูซก็คือเขาเล่นเป็นตำรวจได้ยอดเยี่ยม แต่เขาก็ยังเล่นเป็นคนธรรมดาสามัญได้ยอดเยี่ยมอีกด้วยครับ” ผู้อำนวยการสร้างโฮเบอร์แมนกล่าว “ทั้งจากมุมมองด้านปรัชญาและทฤษฎี นั่นคือตัวละครตัวนี้ครับ ระหว่างที่เขาเดินหน้าในการผจญภัยนี้ เขาก็ได้ค้นพบว่าความขัดแย้งระหว่างความเป็นมนุษย์และตัวแทนเสมือนคืออะไร ซึ่งก็ทำให้ตัวละครของเขาเผชิญหน้ากับวิกฤตครั้งใหญ่ แล้วหนังเรื่องนี้ก็ยังมีแอ็กชันและสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่คุณอยากจะเห็นในหนังของบรูซ วิลลิสด้วยครับ”
“ในหนังเรื่องนี้ ความเป็นมนุษย์จะฉายออกมาจากตัวละครของบรูซครับ” มอสโทว์กล่าว “เช่นเดียวกับคนอื่นๆ เขาก็ใช้ชีวิตประจำวันผ่านทางการใช้เทคโนโลยีนี้เช่นกัน เขาเป็นเจ้าหน้าที่ FBI ที่อยู่บ้าน ในอพาร์ทเมนต์ที่ปลอดภัย และควบคุมให้หุ่นยนต์ตัวแทนเสมือนของเขาออกไปทำงานอันตรายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของเขา พอมาถึงจุดหนึ่ง เขาสูญเสียหุ่นยนต์ตัวแทนเสมือนของตัวเองไป และถูกบีบให้ต้องออกไปด้วยตัวเองและสัมผัสกับชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอีกครั้งในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ครับ”
“ในขณะเดียวกัน เขาก็ค้นพบความรู้สึกที่สั่งสมอยู่ภายในตัวเขา เกี่ยวกับความห่างเหินระหว่างเขาและภรรยา ผู้ซึ่งเสพติดการใช้ตัวแทนเสมือนของเธอเอง” ผู้กำกับกล่าวต่อ “เขาเป็นผู้ชายที่เผชิญกับวิกฤตการณ์เกี่ยวกับตัวตน และเมื่อเขาเริ่มต้นที่จะใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์อีกครั้ง เขาก็ตระหนักได้ว่าโลกใบนี้มันบิดเบี้ยวขนาดไหน และเขาก็เริ่มมองโลกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงครับ”
“ผมมองเกรียร์ว่าเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในและตอบรับโลกตัวแทนเสมือนมาได้ซักพักแล้ว” ผู้อำนวยการสร้างเดวิด โฮเบอร์แมนกล่าวเสริม “เมื่อตัวแทนเสมือนของเขาถูกทำลาย และเขาไม่สามารถหาตัวแทนใหม่ได้ เขาก็กลายเป็นผู้ชายคนหนึ่ง เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ในโลกใบนั้น และท้ายที่สุด เขาก็ต้องตัดสินใจครับ”
ทีมผู้สร้างได้เลือกนักแสดงหญิงชาวออสซี ราดาห์ มิทเชล มารับบทเจนนิเฟอร์ ปีเตอร์ส คู่หู FBI ของเกรียร์ “ปีเตอร์สเป็นตัวละครที่น่าสนใจเพราะจริงๆ แล้วเธอเป็นคนสามคนที่แตกต่างกันในเรื่องครับ” ผู้อำนวยการสร้างลีเบอร์แมนกล่าว “เธอเป็นตัวแทนเสมือนปีเตอร์ส ที่เป็นตำรวจหน้าใหม่ ที่ยังไร้เดียงสาอยู่ และต้องมาจับคู่กับเกรียร์ มีตัวละครปีเตอร์สตัวจริง ที่มีเสน่ห์น้อยกว่าตัวแทนเสมือน เป็นศิลปินมากกว่า แล้วก็มีปีเตอร์สคนที่สามที่เป็นส่วนหนึ่งของปริศนา มันเป็นความท้าทายสำหรับราดาห์เพราะความแตกต่างเพียงเบาบางระหว่างทั้งสามเวอร์ชันนั้นน่ะครับ”
“กระบวนการคัดเลือกราดาห์เป็นกระบวนการที่น่าสนใจครับ” โฮเบอร์แมนกล่าว “เธอมีประวัติผลงานที่ยอดเยี่ยม เราเคยเห็นผลงานของเธอใน ‘Finding Neverland,’ ‘Man on Fire’ และ ‘Feast of Love’ ซึ่งโรเบิร์ต เบนตันกำกับ เธอเป็นนักแสดงที่ยอดเยี่ยมและเธอก็สวยซะด้วย เธอเหมาะกับบทนี้พอดิบพอดีเลยครับ”
“ตัวละครเจนนิเฟอร์ ปีเตอร์สทำให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับคอนเซ็ปต์ของเอกลักษณ์อยู่เสมอค่ะ” มิทเชลเล่า “นี่เป็นตัวละครตัวหนึ่ง หรือหลายตัว ที่น่าสนใจจริงๆ ค่ะ เจนนิเฟอร์ ปีเตอร์สคือใครกันแน่ เธอเป็นตัวละครที่นั่งอยู่บนเก้าอี้กระตุ้นที่บ้าน เป็นคนที่เราไม่เคยได้พบตัวเป็นๆ เธอมีผมสีน้ำตาล ผิวไม่สวย รูปร่างใหญ่ ฟันตลก และผมที่กระเซอะกระเซิง เธอไม่เคยต้องการจะไปจากโลกความจริงแคบๆ ที่เธอใช้ชีวิตอยู่ เธอก็เลยสัมผัสกับชีวิตผ่านหุ่นยนต์ตัวนี้ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ FBI และเราก็ได้เห็นตัวแทนเสมือนของเธอ ซึ่งก็เป็นเจนนิเฟอร์ ปีเตอร์สด้วยเช่นกันค่ะ”
“มันทั้งน่าสับสนและน่าหลงใหลค่ะ และมันก็เป็นเรื่องยากกับการต้องเล่นเป็นหุ่นยนต์ที่มีเสียงและการเคลื่อนไหวเหมือนกันกับตัวละครมนุษย์ของคุณ แม้ว่าความตั้งใจและแรงกระตุ้นของหุ่นยนต์ตัวนั้นจะเปลี่ยนแปลงบุคลิกลักษณะของเธอไปก็ตามค่ะ” มิทเชลกล่าวต่อ
“ตัวแทนเสมือนของคุณจะมีรูปร่างหน้าตายังไงก็ได้ตามแต่คุณปรารถนาครับ” ผู้กำกับมอสโทว์กล่าว “เพื่อความต่อเนื่องด้านกายภาพ ผู้ใช้ส่วนใหญ่มักจะเลือกตัวแทนเสมือนที่คล้ายกับตัวจริงของพวกเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่อาจจะผอมเพรียวกว่าและดูดีกว่า คนที่กล้าหน่อยก็อาจจะเลือกร่างกายที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เช่นตัวแทนเสมือนอีกเชื้อชาติหนึ่งหรืออีกเพศไปเลย ส่วนคนที่มีเงินน้อยกว่าก็จะใช้ตัวแทนเสมือนแบบธรรมดาๆ ที่จะไม่มีรายละเอียดบนหน้า และไม่มีสีหน้าท่าทางแบบรุ่นที่แพงกว่าครับ”
โรซามุนด์ ไพค์ได้รับเลือกให้รับบทแม็กกี้ ภรรยาที่หมกมุ่นอยู่กับการใช้ตัวแทนเสมือนของเกรียร์ “แม็กกี้เป็นคนสวยครับ แต่เธอมองเห็นแต่เพียงข้อบกพร่อง” โฮเบอร์แมนกล่าว “เธออยากจะมองดูในกระจกแล้วเห็นแต่ความสวยงามเท่านั้น สำหรับเกรียร์ ความงามคือสิ่งที่อยู่ภายใน ไม่ใช่ภายนอก เขาตกหลุมรักเธอที่ตัวตนของเธอ ไม่ใช่เพราะหน้าตาของเธอ”
“เกรียร์และแม็กกี้เป็นคู่สามีภรรยาที่สูญเสียลูกไป ซึ่งเขาก็รับมือกับเรื่องนี้ด้วยการโหมงานหนัก จนทำให้เธอต้องรับมือกับเรื่องนี้ตามลำพัง” ไพค์กล่าว “ด้วยความที่เธอรู้สึกว่าตัวเธอเองมีแต่ข้อเสีย ตัวแทนเสมือนจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เธอสมบูรณ์แบบขึ้นมา และการติดต่อสื่อสารระหว่างพวกเขาทั้งคู่ก็กลายเป็นหุ่นยนต์สองตัวพบกัน แทนที่จะเป็นมนุษย์จริงๆ สองคนน่ะค่ะ”
“ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่เป็นจิตวิญญาณของหนังเรื่องนี้ครับ” โฮเบอร์แมนกล่าวเสริม “เราเริ่มต้นด้วยคนสองคนที่รับมือกับการเสียชีวิตของลูกคนละแบบ ในช่วงระหว่างที่มีการพัฒนาตัวแทนเสมือนขึ้นมา”
“ไอเดียของตัวแทนเสมือนทำให้เกิดโลกที่แปลกต่างขึ้นมาค่ะ” ไพค์กล่าว “ในหลายๆ ระดับแล้ว มันพูดถึงการเสพติดที่แปลกประหลาดและความหวาดระแวงเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเองค่ะ ในอีกระดับหนึ่ง มันเป็นเรื่องราวที่เป็นมนุษย์มากๆ ความสัมพันธ์ระหว่างแม็กกี้และเกรียร์คือจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งระหว่างความสมบูรณ์แบบและความจริงค่ะ”
ไพค์บอกว่าเธอมองเห็นตัวแทนเสมือนของแม็กกี้ว่าเป็น “แอร์โฮสเตสสาวยุค 50s แบบพวกแพนแอมยุครุ่งโรจน์สุดๆ ที่สวมสูทสวยๆ น่ะค่ะ” แต่ร่างที่เป็นมนุษย์ของเธอกลับห่างไกลคำว่าสมบูรณ์แบบ “คุณจะรู้สึกค่อนข้างเปราะบางทีเดียวในตอนที่คุณปลอกเปลือกทั้งหมดออกเพื่อนำเอาข้อบกพร่องทั้งหมดออกมาน่ะค่ะ”
สำหรับผู้ที่รับบทแคนเตอร์ อัจฉริยะเบื้องหลังเทคโนโลยีตัวแทนเสมือนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ ทีมผู้สร้างได้เลือกนักแสดงสองคนคือเจมส์ ฟรานซิส กินตี้ สำหรับเวอร์ชันที่หนุ่มแน่นกว่าของแคนเตอร์ และเจมส์ ครอมเวลในบทแคนเตอร์ในวัยอาวุโสกว่า
“แคนเตอร์คือชายสูงอายุที่เป็นโรคร้าย จนต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็น ซึ่งทำหน้าที่เป็นเก้าอี้กระตุ้นของเขาด้วยเช่นกัน” ผู้กำกับมอสโทว์กล่าว “และเรื่องราวง่ายๆ ก็คือว่าแคนเตอร์ ผู้สร้างตัวแทนเสมือนขึ้นมา เชื่อว่ามันไปไกลเกินกว่าที่เขาตั้งใจไว้แต่แรกแล้วน่ะครับ”
“แคนเตอร์ไม่ใช่เมสไซอาห์ครับ” กินตี้กล่าว “จริงๆ แล้ว ผมคิดว่าแรงจูงใจดั้งเดิมของเขาเป็นอะไรที่ไม่เห็นแก่ตัวมากๆ ในช่วงเริ่มแรกของชีวิต เขาต้องเจอกับโรคร้าย และประสบการณ์นั้นก็ผลักดันให้เขาทุ่มเทพลังงานทั้งหมดที่มีเพื่อทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น เขาก็เลยสร้างตัวแทนเสมือนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ป่วยครับ”
“การได้มอบของขวัญนั้นแก่คนที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่น่าทึ่งเหลือเกินครับ” ผู้อำนวยการสร้างโฮเบอร์แมนกล่าว “แคนเตอร์คิดว่ามันจะช่วยเจ้าหน้าที่ที่รักษากฎหมายและทหารของเราได้ เพื่อให้พวกเขาไม่ต้องตาย พวกเขาจะยังปลอดภัยในขณะที่ตัวแทนเสมือนของพวกเขาถูกระเบิดในสงคราม แต่ก็มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้จนเกินควร ในตอนที่บริษัทยักษ์ใหญ่ได้สร้างให้มันเป็นของสำหรับทุกคน แคนเตอร์รู้สึกว่าเทคโนโลยีตัวแทนเสมือนได้ไปไกลเกินขอบเขตเสียแล้วน่ะครับ”
อีกด้านหนึ่งของความขัดแย้งเกี่ยวกับตัวแทนเสมือนคือผู้หยั่งรู้บ้าคลั่งที่เรียกตัวเองว่า นักพยากรณ์ “เขาเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์เพราะเขาควรจะเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์พวกนี้เคารพนับถือครับ” ผู้อำนวยการสร้างลีเบอร์แมนกล่าว “เขาเทศนาสั่งสอนชื่นชมความเป็นมนุษย์ ต่อต้านเทคโนโลยี และต่อต้านตัวแทนเสมือนครับ”
ทีมผู้สร้างได้เลือกวิง ราห์มส์ให้รับบทตัวละครตัวนี้ “วิง ราห์มส์เป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ และมีความองอาจในแบบที่เหมาะกับบทนี้ครับ” ลีเบอร์แมนกล่าว “เขาเต็มไปด้วยความเข้มแข็งและความเป็นผู้นำครับ”
โฮเบอร์แมนกล่าวเสริมอีกว่า “วิงทั้งทรงพลังและมีเสียงที่เยี่ยม แล้วเราก็คิดว่าเขาน่าจะเข้าคู่กับบรูซได้สมน้ำสมเนื้อครับ”
“นักพยากรณ์เป็นผู้นำลัทธิ ที่เป็นตัวแทนของคนที่ต่อต้านการใช้ตัวแทนเสมือน ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลทางศาสนาหรือการเงินก็ตามครับ” เวนดิตตี้ เจ้าของเรื่องกล่าว “คนพวกนี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในวัฒนธรรมตัวแทนเสมือน พวกเขาก็เลยใช้ชีวิตชายขอบอยู่ในสถานที่เรียกว่า “สถานอนุรักษ์” ที่ซึ่งมนุษย์ที่ตัดสินใจที่จะตัดขาดกับโลกเทคโนโลยีใช้ชีวิตอยู่”
และผู้ที่ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้อีกก็คือบอริส ค็อดโจในบทแอนดรูว์ สโตน หัวหน้า FBI, ไมเคิล คัดลิทซ์ในบทผู้พันเบรนดอนและแจ็ค โนสเวิร์ธตี้ในบทอันธพาลท้องถิ่นชื่อสตริคแลนด์ ผู้เป็นตัวเปิดเรื่อง
“ในศตวรรษที่ 21 ที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในเรื่องอินเทอร์เน็ตและสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นแบบฉับไว มันก็ทำให้คนเกิดความวิตกกังวลถึงการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมพวกนั้นครับ” มอสโทว์กล่าว “และเรื่องราวเกี่ยวกับตัวแทนเสมือนนี้ก็พูดถึงประเด็นนั้น มันกลายมาเป็นเหมือนนิทานเปรียบเทียบสำหรับชีวิตในยุคเทคโนโลยี คนจะเข้าใจแง่มุมที่แตกต่างกันออกไปในเรื่องราวนี้ทันทีเพราะพวกเขาก็มองเห็นมันในชีวิตของพวกเขาเองเหมือนกันครับ”
การสร้าง “SURROGATES” ให้กลายเป็นจริง
การถ่ายทำกับทีมงานเบื้องหลังผู้คร่ำหวอดในวงการ
“SURROGATES” เป็นเหมือนกับงานคืนสู่เหย้าสำหรับผู้กำกับมอสโทว์ ชาวคอนเน็กติคัทผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อ 25 ปีที่แล้ว
นอกเหนือไปจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ในย่านต่างๆ รอบบอสตัน ทั้งเขตเลธเธอร์ ดิสตริค, เขตไฟแนนเชียล ดิสตริค, เซาธ์ เอนด์, เชสต์นัท ฮิลล์ และสถานศึกษาเก่าของเขา เคมบริดจ์ มอสโทว์ยังได้ถ่ายทำย่านชานเมืองของบอสตันเช่นวอร์เชสเตอร์ ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ FBI ในเขตศาลย่านดาวน์ทาวน์ของเมือง, ทอนตัน สถานบำบัดผู้ป่วยทางจิตของรัฐเดเวอร์ ซึ่งถูกใช้เป็นเขตอนุรักษ์ของนักพยากรณ์ และโฮปเดล ที่ซึ่งอดีตโรงงานทอผ้าเดรเปอร์ มิลล์ถูกใช้ถ่ายทำฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง
ผู้อำนวยการสร้างโฮเบอร์แมนกล่าวว่า “สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับบอสตัน จากมุมมองของคนทำหนัง ก็คือโครงสร้างและอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ที่ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 19 ครับ มันมีทั้งโครงสร้างอิฐและหินที่คลาสสิกแบบอเมริกันเคียงคู่ไปกับโครงสร้างกระจก และหนึ่งในสิ่งที่บอสตันทำได้เหนือกว่าเมืองอื่นๆ ในประเทศนี้ก็คือการทำให้มันเข้ากันได้ เรื่องราวของเราไม่เชิงเป็นเรื่องอนาคตซะทีเดียว แต่เป็นเหมือนกับอยู่ในปัจจุบัน และสถาปัตยกรรมของบอสตันทำให้คุณรู้สึกถึงทั้งอดีตและอนาคต และเราก็รักษาสมดุลตรงนั้นไว้ครับ”
ในการสร้างสรรค์โลกในจินตนาการที่เกิดความขัดแย้งระหว่างเทคโนโลยีและความเป็นมนุษย์นั้น มอสโทว์ได้เลือกใช้งานทีมผู้สร้างระดับแนวหน้าของวงการ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ออกแบบงานสร้างเจฟ แมนน์และทีมศิลป์ของพวกเขา ซึ่งรวมถึงผู้ตกแต่งฉาก เฟนชี แม็คคาร์ธีด้วย
“สิ่งหนึ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้คือความหลากหลายของทั้งลุค ฉาก โลเกชันและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เราได้สร้างและไปเยี่ยมเยือนมาครับ” มอสโทว์กล่าว “ในแง่ของลุคและแบบดีไซน์นั้น เราใช้เวลานหกเดือนก่อนหน้าที่เราจะเริ่มสร้างอะไรขึ้นมา เพื่อพูดคุยและคิดคอนเซ็ปต์กัน และทำให้แน่ใจว่าสิ่งต่างๆ จะตั้งอยู่บนเหตุผล ซึ่งสร้างความพอใจให้กับทั้งผมและเจฟ แมนน์ ผู้ออกแบบงานสร้างของเรา เราได้ทุ่มเทความคิดให้กับเรื่องนี้ และทีมงานพรสวรรค์ของเราก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมครับ”
“โลกใบนี้เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ และเต็มไปด้วยภาพน่าตื่นตาตื่นใจครับ” แมนน์กล่าว “นิยายภาพเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่มืดหม่น ขุ่นมัว ที่เกิดขึ้นสิ่งแวดล้อมแบบอนาคต แต่ในหนัง เราวางเรื่องราวให้อยู่ในโลกคู่ขนาน เทคโนโลยีเรื่องตัวแทนเสมือนล้ำหน้าไปมาก แต่ตัวแทนเสมือนในเรื่องราวของเราเป็นเครื่องมือครับ คนที่ควบคุมพวกมันเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำของเครื่องจักรกลนั้น เหมือนอย่างที่คุณจะมีความรับผิดชอบในการควบคุมเครื่องจักรชิ้นอื่นๆ น่ะครับ”
แมนน์ได้ออกแบบฉากใหญ่ๆ หลายฉากสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ และฉากที่สำคัญที่สุดฉากหนึ่งก็คือสถานพำนัก DMZ ที่ซึ่งกลุ่มมนุษย์ได้ใช้เป็นที่พักพิงจากโลกเทคโนโลยีใบนี้ที่ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์และความรู้สึก
ที่นั่นเอง หนึ่งในซีเควนซ์แอ็กชันสำคัญของเรื่องราวได้เกิดขึ้นในเขาวงกตขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยตู้คอนเทนเนอร์สินค้าสนิมเกรอะกรัง ที่วางซ้อนทับกันราวกับตัวอาคารสิ่งก่อสร้างที่พังทลายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ดินแดนรกร้างกลายเป็นฉากให้กับโรงงานทอผ้าที่ถูกทิ้งร้างเมื่อสามสิบปีก่อน ที่กลายเป็นฉากหลังที่โดดเด่นให้กับสังคมที่แมนน์พูดถึงว่า “มืดมิดสุดๆ”
“โซน DMZ เป็นสลัมที่เต็มไปด้วยขยะครับ” แมนน์บอก “มันเป็นเหมือนเขตค้าขายสำหรับพวกเดร็ดส์ ที่ซึ่งพวกเขาจะรีไซเคิลหรือลอกเปลือกสายไฟทองแดง พวกเขาใช้สิ่งเหล่านี้ในการแลกเปลี่ยนกับโลกตัวแทนเสมือนสำหรับสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเอง เพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดษได้”
“DMZ เป็นเหมือนเขตสงครามที่ห้อมล้อมเขตอนุรักษ์ ที่ซึ่งพวกเดร็ดส์อาศัยอยู่ และตัดขาดจากสังคมครับ” มอสโทว์กล่าว “มันเต็มไปด้วยยานพาหนะและชิ้นส่วนที่ไหม้เกรียม ที่ซึ่งคนเหล่านี้พยายามยังชีพอยู่ด้วยการสร้างสิ่งของต่างๆ ที่พวกเขาสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ฉากนี้ และฉากเขตอนุรักษ์เป็นสองฉากในหนังเรื่องนี้ที่จะช่วยก่อให้เกิดประสบการณ์ที่แปลกต่างสำหรับผู้ชมของเราครับ”
สิ่งที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับฉากความเวิ้งว้างหลังหายนะโลกคือความเงียบสงบของโรงพยาบาลรัฐเดเวอร์ อาคารทางการแพทย์ขนาดใหญ่ที่อยู่ในย่านชานเมืองทางตอนใต้ของทอนตัน ที่กลายเป็นฉากที่สมบูรณ์แบบสำหรับชุมชนในเขตอนุรักษ์ที่ตัดขาดจากผู้คนของนักพยากรณ์ ที่ซึ่งพวกเดร็ดส์ “ใช้ชีวิตในแบบที่เราอาจจะเคยใช้ในยุค 30s หรือ 40s น่ะครับ” โฮเบอร์แมนกล่าว “มันเป็นชีวิตที่เรียบง่ายกว่า ที่ไม่มีเทคโนโลยีใดๆ และมนุษย์ก็ต้องปลูกอาหารด้วยตัวเองครับ” “มันมีคุณสมบัติแบบชนบทที่ให้ความรู้สึกห่างเหินจากเมือง” แมนน์กล่าวเสริม “มันให้ความรู้สึกท่วมท้นราวกับมันถูกครอบครองโดยธรรมชาติ เราวางโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคา และสร้างบ่อเก็บน้ำพวกนี้ขึ้นมาเพื่อใช้เก็บกักน้ำฝน นอกจากนี้ เรายังปลูกผักสวนครัว เหมือนพื้นที่สีเขียวสาธารณะด้วยครับ” สถานที่ที่เหล่าตัวแทนเสมือนไปทำการปรับแต่งโฉมหน้าของพวกมันถูกสร้างขึ้นในเขตเลธเธอร์ ดิสตริคในย่านดาวน์ทาวน์ของบอสตัน ในโรงงานผลิตเก้าอี้ ที่กลายเป็นซาลอนเสริมความงามของแม็กกี้ในเรื่อง “แม็กกี้เป็นช่างเสริมสวยและความงามในโลกใบนี้ก็เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีค่ะ” โรซามุนด์ ไพค์กล่าวถึงตัวละครของเธอ “ร้านเสริมสวยของฉันเป็นเหมือนกับร้านออโต้บอดี้ค่ะ เราทำการขัดมัน และขัดเงา ซึ่งเราเรียกมันว่าการเสริมความงามอุตสาหกรรมค่ะ” ทีมงานของเฟนชี แม็คคาร์ธีได้ตกแต่งฉากด้วยเครื่องไม้เครื่องมือไฟแรงสูงและเครื่องขัดกระดาษทราย ที่จะมีด้ามจับเป็นลวดลายดอกไม้สีชมพูสดใส “มันมีซีนหนึ่งที่โรซามุนด์จะเจอผู้หญิงสวยคนหนึ่งเข้ามาเปลี่ยนหน้าครับ” โฮเวิร์ด เบอร์เกอร์ เมคอัพ อาร์ติสท์ ชิ้นส่วนเทียมกล่าว “เราสร้างแบบจำลองของนักแสดงหญิงขึ้นมา ที่จะมีใบหน้าที่คุณสามารถลอกออกได้ มันเป็นใบหน้าซิลิโคนที่บางเฉียบ ซึ่งจะติดแนบไปถึงศีรษะของนักแสดงหญิงคนนี้ และมันก็แนบเนียนไร้รอยต่อแม้ขณะที่เธอพูด หรือในตอนที่ใบหน้าถูกดึงออกแล้วเผยให้เห็นหัวกะโหลกแบบหุ่นยนต์ด้านล่างนั้น แผนกวิชวล เอฟเฟ็กต์ของมาร์ค สเตทสันทำให้ทุกอย่างเข้ากันครับ” หนึ่งในผลงานที่สะดุดตาของแมนน์คือ “เก้าอี้กระตุ้น” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ควบคุมหุ่นยนต์ตัวแทนเสมือนของพวกเขา “เก้าอี้กระตุ้นเป็นความท้าทายเพราะผมไม่อยากให้มันดูเหมือนเก้าอี้ในร้านหมอฟันเกินไป” แมนน์กล่าว “มันเป็นเก้าอี้ยาวสบายๆ ที่มีเซ็นเซอร์ที่กระตุ้นปฏิกิริยาของเส้นประสาทและมัดกล้ามเนื้ออื่นๆ ครับ” “คอนเซ็ปต์เริ่มแรกในสคริปต์เกี่ยวกับเก้าอี้กระตุ้นนี้ก็คือมันจะเป็นเก้าอี้สบายๆ ที่คุณจะเชื่อมต่อกับสายไฟและเครื่องยนต์กลไก” มอสโทว์กล่าวเสริม “เราไม่อยากได้อะไรที่ให้ความรู้สึกอึดอัด ผมก็เลยคิดไอเดียว่ามันเหมือนกับคุณนั่งอยู่บนเก้าอี้ที่เหมือนกับเก้าอี้นวด ซึ่งสร้างให้เกิดความรู้สึกที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว แล้วมันก็จะมีเลเซอร์ที่คอยอ่านค่าอุณหภูมิของผิวหนังคุณรวมไปถึงการเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาทางประสาทของคุณด้วย สิ่งเดียวที่คุณต้องสวมคือเฮดเซ็ทที่เบามากๆ ซึ่งมีต้นแบบเป็นอุปกรณ์อย่างบลูทูธครับ ไอเดียของผมคือการสร้างสิ่งที่คนจะไม่รังเกียจที่จะนั่งอยู่กับมันวันละ 16 ชั่วโมงครับ” ในการทำให้เก้าอี้กระตุ้นสมบูรณ์ แมนน์ยังได้สร้างอุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง นั่นคือฐานชาร์จ “ในตอนที่คุณซื้อตัวแทนเสมือนมา มันก็จะถูกส่งมาให้คุณในคอนเทนเนอร์ที่มีประโยชน์สองอย่าง คือใช้เป็นทั้งคอนเทนเนอร์ในการขนส่งและเป็นฐานชาร์จสำหรับตัวแทนเสมือนครับ” มอสโทว์กล่าว “ดังนั้น ท้ายที่สุดแล้ว คุณก็จะกลับมาบ้านเข้าสู่ฐานชาร์จแล้วก็เสียบปลั๊กตัวเองเพื่อชาร์จพลังงานครับ” ลุคแบบหุ่นยนต์ของตัวละครหลักและตัวประกอบหลายร้อยคนที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นจากความพยายามร่วมกันระหว่างแผนกเมคอัพทั้งสองของเรื่อง ซึ่งก็คือเมคอัพหลักภายใต้การดูแลของเจฟ ดอว์น เจ้าของรางวัลออสการ์ (“Terminator 2: Judgment Day”) และแผนกดีไซน์ชิ้นส่วนเทียมพิเศษภายใต้การดูแลของเบอร์เกอร์ เจ้าของรางวัลออสการ์อีกคนหนึ่ง (“The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe”) ด้วยความที่นักแสดงหลักส่วนใหญ่จะแสดงเป็นตัวละครของพวกเขาถึงสองเวอร์ชันหรือมากกว่านั้น ดอว์นและเบอร์เกอร์ก็เลยใช้ประสบการณ์นานหลายปีของพวกเขาในการสร้างความแตกต่างระหว่างตัวแทนเสมือนที่สมบูรณ์แบบและมนุษย์ที่ค่อนข้างจะมีข้อบกพร่องของพวกเขา “ความท้าทยในการเมคอัพและทำผมในหนังเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มต้นคือการกำหนดว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างมนุษย์และตัวแทนเสมือนครับ” ดอว์นบอก “พวกตัวแทนเสมือน จะเป็นพลาสติก หรือเหมือนจริงสุดๆ พวกมันดูดีกว่าคนที่หน้าตาดีทั่วไปรึเปล่า ความท้าทายคือการทำให้คนที่ดูดีอยู่แล้วดูดีเป็นพิเศษในทุกช็อตครับ” “ไอเดียของตัวแทนเสมือนเกี่ยวโยงกับความหยิ่งยะโสที่พวกเราทุกคนต่างก็มี โดยเฉพาะในวงการนี้ครับ” ดอว์นกล่าวต่อ “มันพูดถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา คุณผสมผสานทั้งสองอย่างนี้เข้าด้วยกัน และคุณก็จะได้ไอเดียที่ดูเหมือนจะวิเศษสุดขึ้นมา นั่นก็คือคนสมบูรณ์แบบ ผมคงจะทำให้ตัวเองหนุ่มแน่นกว่านี้ สูงกว่านี้ หรือดูดีกว่านี้น่ะครับ” ดอว์นกล่าวว่าวิลลิสไม่มีปัญหาในการยอมรับอีกรูปแบบหนึ่งของตัวเอง แม้กระทั่งตอนที่ช่างเมคอัพแต่งแต้มรายละเอียดที่ไม่ค่อยจะเข้าท่านักเข้าไป “ตัวละครเกรียร์ที่เป็นมนุษย์จะอายุมากกว่า แข็งกระด้างกว่า และมีรอยเหี่ยวย่นมากกว่าเล็กน้อย” ดอว์นกล่าว “และบรูซก็ถนัดเรื่องนั้นมาก ในตอนที่ผมต้องเพิ่มอายุ รอยเหี่ยวย่น เคราสีดอกเลา เขาก็โอเค แล้วตัวแทนเสมือนของบรูซต้องมีลักษณะที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งเราทำได้ด้วยการใช้ผมสีบลอนด์ทั้งหัวและคิ้วสีบลอนด์ครับ” เบอร์เกอร์ เมคอัพ อาร์ติสท์ ชิ้นส่วนเทียมต้องกำหนดพัฒนาการของตัวแทนเสมือนในการออกแบบชิ้นส่วนเมคอัพและหุ่นอนิเมทรอนิคสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ “มันเป็นความท้าทายมหาศาลที่ต้องคิดว่าตัวแทนเสมือนจะพัฒนาไปในรูปแบบไหน” เขากล่าว “ผมนั่งลงคุยกับเจฟ แมนน์และโจนาธานเพื่อระดมความคิดกัน ซึ่งทำให้เราเกิดคำถามมากมาย พววกมันจะเป็นหุ่นยนต์มากขึ้นรึเปล่า พวกมันทำจากพลาสติกหรือโลหะ ผิวของพวกมันเป็นซิลิโคนรึเปล่า พวกมันมีอวัยวะแบบสิ่งมีชีวิตรึเปล่า พวกมันทำจาากคาร์บอน ไฟเบอร์รึเปล่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือโครงสร้างภายในของพวกมันมีลักษณะยังไง อะไรที่อยู่ข้างในตัวแทนเสมือน พวกมันเป็นสิ่งสังเคราะห์ทั้งหมด ที่สร้างขึ้นจากพลาสติกและคาร์บอน ไฟเบอร์ เป็นเครื่องจักรล้วนๆ เป็นหุ่นยนต์ครับ” แบบดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์บางอย่างของเบอร์เกอร์รวมถึงศพตัวแทนเสมือนของเกรียร์ที่ถูกตรึงกางเขนหลังจากที่มันถูกทำลาย, บาดแผลจากช็อตกันที่เผยให้เห็นถึงกลไกภายในหุ่นยนต์ตัวเสมือน ซึ่งทำจากเยลลี KY และสีผสมอาหารสีเขียว ผสมกับของเหลวไฮดรอลิค ที่ไหลเวียนในตัวตัวแทนเสมือน และหุ่นยนต์ “โดรน” อนิเมทรอนิคแปดตัว ที่ทำหน้าที่ควบคุมมอนิเตอร์กล้องวงจรปิดภายในสำนักงานใหญ่ FBI การเลือกบอสตันให้เป็นสถานที่ถ่ายทำหลักของโลกความจริงคู่ขนานนี้ก่อให้เกิดความท้าทายสำหรับทีมงานวิชวล เอฟเฟ็กต์ของเรื่อง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของมาร์ค สเตทสัน เจ้าของรางวัลออสการ์ (ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสามครั้ง) ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเหมือนงานคืนสู่เหย้าสำหรับสเตทสัน (ซึ่งได้รับการยกย่องในปี 2006 ให้เป็นหนึ่งในผู้สร้างคอนเทนท์ “ดิจิตอล 50” ในฮอลลีวูดโดยนิตยสารฮอลลีวูด รีพอร์ตเตอร์ และพีจีเอ ซึ่งเป็นชาวแมสซาซูเซทส์อีกหนึ่งคนที่อยู่ในทีมงานด้วย สเตทสัน ผู้ซึ่งเริ่มต้นทำงานในแวดวงนี้ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ได้พูดถึงบทบาทของเขาใน “SURROGATES” ว่าเป็นบทสนับสนุน “งานของเราคือการช่วยนำคอนเซ็ปต์ของการใช้ตัวแทนเสมือนเข้าไปในชีวิตประจำวันที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ครับ ด้วยความที่หนังเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน เราก็เลยพยายามจะสอดแทรกเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในเรื่องเข้าไปในซีนชีวิตประจำวันเพื่อทำให้ทุกอย่างดูสมจริงครับ” การสร้างเวอร์ชันหุ่นยนต์ที่สมบูรณ์แบบให้กับนักแสดงคนดังก็เป็นเรื่องท้าทายเหมือนกัน เขากล่าวว่า “ความแตกต่างระหว่างตัวแทนเสมือนและเจ้าของที่เป็นมนุษย์ของมันหลักๆ แล้วถูกสร้างขึ้นโดยการใช้คอสตูมและเมคอัพ สดๆ ในกองถ่ายเลยครับ” สเตทสันกล่าว “เราได้ขับเน้นความแตกต่างพวกนั้นด้วยการใช้เทคโนโลยีวิชวล เอฟเฟ็กต์ที่เหนือกว่าขีดจำกัดของเทคนิคบนเวที ด้วยการใช้การผสมผสานระหว่างการจัดฉากสองมิติกับเทคนิค CG 3D ครับ” มอสโทว์ยังได้เลือกใช้งานช่างภาพผู้คร่ำหวอดในวงการมานานอย่าง โอลิเวอร์ วู้ด (ไตรภาค “The Bourne”) ผู้ซึ่งงานจัดแสงและถ่ายภาพของเขาได้ช่วยสร้างเสริมบรรยากาศน่าอึดอัดในทริลเลอร์สงครามโลกครั้งที่สองที่ได้รับรางวัลออสการ์ปี 2000 ของมอสโทว์เรื่อง “U-571,” เอพริล เฟอร์รี ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายเจ้าของรางวัลเอ็มมี (“Rome” ซีรีส์ทางเอชบีโอ) ได้กลับมาร่วมงานกับผู้กำกับมอสโทว์อีกครั้งเป็นครั้งที่สาม ซึ่งเธอได้สร้างโลกสองด้านขึ้นมาดังจะเห็นได้จากการผสมผสานระหว่างเสื้อผ้าที่ซื้อมาจากร้านค้าและเสื้อผ้าที่ตัดเย็บเอง ซึ่งสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างตัวแทนเสมือนและมนุษย์ในบรรดาทีมนักแสดงของเรื่อง นอกจากนี้ ผู้กำกับยังได้ใช้งานมือลำดับภาพมากประสบการณ์ เควิน สติทท์ ผู้ลำดับภาพให้กับภาพยนตร์เรื่องแรกของมอสโทว์ “Breakdown” เมื่อกว่าสิบปีที่ผ่านมาอีกด้วย