กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--คอร์ แอนด์ พีค
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดงาน “ใคร? ขโมยความจำ...ของฉันไป” กิจกรรมที่ให้ความรู้ประชาชน เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก โดยภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “โรคสมองเสื่อม” การสาธิตการทำอาหารสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ การตรวจวัดความดันและมวลกระดูก การตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อม และการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพและความรู้เรื่องยา รวมถึงกิจกรรมสันทนาการต่างๆ พร้อมร่วมพูดคุยกับคุณแอน ทองประสม นักแสดงสาวชื่อดังถึงประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และหากใครเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ รับฟรีหนังสือ “จะได้ไม่ลืมกัน” หรือผู้ที่สนใจหนังสือ สามารถร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา
นายแพทย์ มัยธัช สามเสน ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เนื่องจากโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวกับความคิด ความจำ และการใช้ภาษา อาการหลงลืมจากโรคอัลไซเมอร์จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเริ่มจากการที่ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดได้และในที่สุดก็ไม่สามารถจดจำบุคคลใกล้ชิดได้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิต และอาจมีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพ เช่น หงุดหงิดง่าย เฉื่อยชา หรือเฉยเมย เป็นต้น โดยในระยะสุดท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด โรคอัลไซเมอร์ ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถให้ยาช่วย เพื่อชะลอการสูญเสียความจำของผู้ป่วยให้ช้าลง ให้สามารถดูแลตนเองและทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้นานขึ้น แต่ไม่สามารถให้กลับมาจำได้ดีเท่าเดิม
เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก สถาบันประสาท จึงได้จัดงาน “ใคร? ขโมยความจำ...ของฉันไป” ขึ้น เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของโรค ซึ่งการเฝ้าระวังและสังเกตอาการผู้สูงอายุในครอบครัวนั้น เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น หากสงสัยว่าผู้สูงอายุในครอบครัวมีอาการดังกล่าว ควรพามาพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้น มีผลกระทบโดยตรงกับผู้ใกล้ชิด จึงจำเป็นที่คนในครอบครัวต้องได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง
เภสัชกรหญิงศิริลักษณ์ สุธีกุล ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางสมองแต่ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเกือบทุกคน ต่างต่อสู้กับความทุกข์ที่เกิดจาก ความกังวล ความห่วงใย ความรัก ความเห็นใจ หรือแม้แต่ความโกรธ กับภาระ ที่ตนเผชิญ “การได้ดูแลคนที่รักแต่สูญเสียความทรงจำ” ประสบการณ์ของตัวผู้ป่วยเองอาจแตกต่างกันตามสภาวะของโรค ขณะที่บางคนรู้สึกกลัวเมื่อรู้ว่าตัวเป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่สิ่งที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่กลัวมากที่สุดหาใช่ภาวะเสื่อมทางสมองไม่ แต่กลับกลายเป็นความกลัวจะลืมสิ่งที่เขารัก กลัวลืมคนที่เขารัก และกลัวจะลืมคนที่รักเขา ดังนั้น ประสบการณ์ของผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ที่ถูกถ่ายทอดออกมาในแง่มุมต่างๆ ทั้งในแง่ความรัก ความเข้าใจ การดูแลเอาใจใส่ ความผูกพัน ความทรงจำ และ การหลงลืม โดยสะท้อนแนวคิด และมุมมองดีๆ ที่คุณอาจจะไม่เคยรู้ หรืออาจมองข้ามไป ได้ถูกรวบรวมลงใน หนังสือ “จะได้ไม่ลืมกัน”เล่มนี้ หนึ่งในนั้นคือ ประสบการณ์ของคุณแอน ทองประสม ที่ดูแลคุณยายซี่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งทาง โนวาร์ตีส รู้สึกยินดีและภูมิใจที่ได้จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสวันอัลไซเมอร์โลก 21 กันยายนนี้
ทั้งนี้ ทางบริษัทฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ดูแล ผู้ป่วย ผู้สนใจทั่วไป ทั้งยังจะช่วยย้ำเตือน ให้เราทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีสติ และเห็นคุณค่าของการมีความทรงจำ รู้จักและเข้าใจโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น ที่สำคัญคณะผู้จัดทำอยากส่งกำลังใจ และความปรารถนาดี ให้กับผู้ดูแลผู้ป่วยที่กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่ทุกคน ขอให้มีความหวัง มีแรงใจในการดูแล และสู้กับโรคนี้ต่อไป ขอให้มีความสุขกับความทรงจำดีๆ แม้อาจจะเหลือมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม หนังสือส่งความปรารถนาดี “จะได้ไม่ลืมกัน” ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป แต่คณะผู้จัดทำ ขอมอบให้ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ฟรี โดยท่านสามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่คลินิกรักษาโรคทางระบบประสาททั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ หรือกรอกเอกสารขอรับหนังสือพร้อมให้แพทย์ผู้รักษาให้การรับรอง แล้วส่งกลับมาที่ “อัลไซเมอร์ คลับ” (21/7 ถ.พระราม 2 ซอย 42 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพฯ 10150) ส่วนผู้ที่สนใจหนังสือเล่มนี้ สามารถร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุนมูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาท ตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป ก็จะได้รับหนังสือเล่มนี้ฟรี
คุณแอน ทองประสม ดาราสาวชื่อดัง เปิดเผยว่า คุณยายของแอน ต้องทรมานกับโรคอัลไซเมอร์มา กว่า 6 ปี ตอนแรกแอนสังเกตว่า คุณยายจำไม่ได้ว่าตัวเองทานข้าวแล้ว ลืมทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว เนื่องจากแอนยังไม่เคย มีความรู้เรื่องโรคอัลไซเมอร์มาก่อน ก็เลยคิดว่าเป็นอาการของคนแก่ที่อายุมากก็เริ่มเลอะเลือน แล้วอาการของคุณยายก็เริ่มหนักขึ้น เมื่อคุณยายหายออกไปจากบ้าน ทุกคนในบ้านต้องช่วยกันออกตามหา เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด คุณยายล้มในห้องน้ำเส้นเลือดในสมองแตก เป็นอัมพฤกษ์ พูดไม่ชัด จนสุดท้ายก็สื่อสารอะไรไม่ได้ คุณยายที่เคยพูดคุยสนุกสนาน วันนี้กลับได้แต่นอนนิ่ง จากคนที่เคยผูกพันวันหนึ่งกลับเฉยชา เหมือนไม่เคยรู้จักกัน ทั้งๆ ที่ยังอยู่ด้วยกัน ตอนนั้นแอน ทั้งเสียใจและใจหาย เพราะแอนใกล้ชิดยายที่สุด แอนคิดว่าทำอย่างไรจึงจะได้ยายกลับคืนมา แอนใช้วิธีกอดเขาทำให้เขารู้ว่าเรายังเป็นหลานที่รักเขามาก สายตาเขาจะบอกว่ารู้จักเรา คุ้นเคยกับเรา แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่าเขารู้จักเราแบบไหน แอน ไม่สนใจว่าคุณยายจะรู้จักแอนหรือไม่ มันไม่สำคัญ ที่สำคัญคือแอนยังรักยายเสมอ แอนอยากให้ยายมีความทรงจำดีๆ เกี่ยวกับแอน น่าเสียดายที่พอแอนประสบความสำเร็จแล้ว ได้ทุกสิ่งทุกอย่างมากมายยายกลับไม่รับรู้อะไรเลย
จากการที่ดูแลยายมากว่า 6 ปี แอนรับรู้อาการของคุณยายตั้งแต่เริ่มหลงลืมจนถึงพูดไม่รู้เรื่อง แอนเรียนรู้ว่าการตั้งสติยอมรับในสิ่งที่เป็นอยู่ และมองโลกด้วยความเป็นจริง เป็นสิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โรคนี้จะใช้ยาช่วยรักษาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูแลเรื่องจิตใจของผู้ป่วยด้วย ที่สำคัญอย่าทำให้เขารู้สึกแย่ อยากให้มองว่าเขาเป็นคนปกติและให้ความช่วยเหลือ โอนอ่อนผ่อนตามในบางเรื่อง เพราะถ้ายิ่งว่าเขาจะต่อต้าน เพราะเขาไม่คิดว่าตัวเองป่วย เรารู้ว่าเขาลืมเราก็ไม่เป็นไร มาช่วยให้เขาจำเราได้ใหม่เหมือนนับหนึ่งใหม่ อย่างน้อยก็เป็นการเริ่มสร้างความผูกพันมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร จะจำเราได้หรือไม่ เราต้องทำทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่ใช่พอรู้ว่าเขาเป็นโรคนี้จำเราไม่ได้ ก็ไม่ใส่ใจ ไม่ทักทายเพราะคิดว่าพูดไปเขาก็ไม่รู้เรื่อง ทำอย่างนี้แล้วจะทำให้ทุกอย่างมันแย่ลง
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณสิริพร สิรินิจศรีวงศ์ และคุณศรีสุพัฒ เสียงเย็น
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด
โทร.0-2439-4600 ต่อ 8300 อีเมล์: siriporns@corepeak.com, srisuput@corepeak.com