GC มั่นใจ ธุรกิจปิโตรเคมียังไม่ใช่ขาลง เชื่อโตต่อเนื่อง ตามGDP-ทิศทางการบริโภคของประชากรที่สูงขึ้น

ข่าวทั่วไป Wednesday July 12, 2006 17:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--โกลบอล คอนเน็คชั่นส์
ผู้บริหาร GC มั่นใจ ธุรกิจปิโตรเคมียังไม่ใช่ขาลง เชื่อเติบโตต่อเนื่อง ตามGDP และทิศทางการบริโภคของประชากรที่สูงขึ้น ระบุเชื่อมั่นแผนแม่บทในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย ที่มีความรัดกุมและพึงระมัดระวังการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ให้ขยายตัวในระดับที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อรองรับปริมาณอุปทานที่เพิ่มขึ้น พบว่าไม่น่าเป็นห่วง ชี้สิ่งที่ต้องระวังคือ ปัจจัยใหม่ๆ ที่เป็นตัวแปรด้านลบ อาทิ กรณีข้อพิพาทโครงการนิวเคลียร์ระหว่างประเทศอิหร่าน และประเทศตะวันตก ปัญหาความตึงเครียดหลังประเทศเกาหลีเหนือทดลองยิงขีปนาวุธ
นายสมชาย คุลีเมฆิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล คอนเน็คชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GC แสดงความคิดเห็นภายหลังการเสวนา หัวข้อ ปิโตรเคมีไทย ' สถานการณ์และทิศทางในอนาคต' ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดยให้ความเห็นว่า ธุรกิจปิโตรเคมียังไม่ใช่ขาลง และยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2551 เป็นอย่างน้อย ทั้งในประเทศ และตลาดโลก เนื่องจากแนวโน้มการบริโภคของประชากรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม (GDP Growth) โดยเฉพาะความต้องการจากประเทศจีน ประกอบกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทฤษฎีทางการค้า และการรวมกลุ่ม โดยแต่ละประเทศจะเน้นทำในสิ่งที่แต่ละประเทศถนัด ซึ่งจะทำให้ตัวแทนจำหน่าย เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น ในการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงสินค้าระหว่างผู้ผลิต และผู้บริโภคได้
ทั้งนี้ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีระดับโลก เพราะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆที่ทันสมัย ดังนั้นเมื่อพิจารณาต้นทุนการผลิตแล้ว ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้กับทุกประเทศ ยกเว้นเพียงผู้ผลิตในประเทศแถบตะวันออกกลาง เพราะในแถบประเทศดังกล่าวมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่ามาก เนื่องจากได้นำก๊าซที่เป็นผลพลอยได้จากการขุดเจาะน้ำมันมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการผลิตไปเป็นสินค้าปิโตรเคมี
นอกจากนี้ประเทศไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปิโตรเคมี โดยเป็นสัดส่วนวัตถุดิบประมาณ 50% ซึ่งก๊าซธรรมชาติมีราคาที่ถูกว่าแนฟทา และในอนาคตถ้าก๊าซธรรมชาติมีราคาที่สูงขึ้น ก็สามารถนำ ก๊าซธรรมชาติ และแนฟทา เฉลี่ยต้นทุนกันได้ ไม่เหมือนหลายประเทศที่ต้องพึ่งพิงอย่างใดอย่างหนึ่ง พร้อมกันนี้การนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตสินค้าปิโตรเคมียังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ เนื่องจากการแปรรูปก๊าซธรรมชาติเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์มากกว่าการนำไปใช้ในการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือก๊าซหุงต้มได้มากกว่า500% และยังเป็นการช่วยลดการเสียดุลการค้าในการที่นำเข้าวัตถุดิบในรูป แนฟทา ดังนั้นจึงถือว่าได้ประโยชน์สองต่อ
"การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันธุรกิจปิโตรเคมีของไทยนั้น มองว่าปัจจัยหลักคือ การพัฒนาความสามารถของทรัพยากรบุคคล และให้การสนับสนุนงานด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมในประเทศสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ และยังสามารถส่งออกสินค้าสำเร็จรูปไปแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งทำให้สินค้าเกิดมูลค่าเพิ่มที่ดีกว่าการส่งออกสินค้าในรูปวัตถุดิบเม็ดพลาสติกซึ่งยังไม่เกิดมูลค่าเพิ่มที่เต็มที่ พร้อมทั้งควรสร้างเสริมความแข็งแกร่งของ Marketing Network ทั้งใน และต่างประเทศ ในลักษณะพันธมิตรทางการค้าระยะยาว มากกว่าการซื้อขายในลักษณะ SPOT"นายสมชายกล่าว
นายสมชายกล่าวในตอนท้าย ถึงการพัฒนาปิโตรเคมีของประเทศไทยว่า ประเทศไทย มีความรัดกุมและพึงระมัดระวังการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ให้ขยายตัวในระดับที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อรองรับปริมาณอุปทานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากที่พิจารณาแผนแม่บทธุรกิจปิโตรเคมีของไทย เฟส3 จากสถาบันปิโตรเลียม ที่ได้ช่วยประสานงาน และทำการศึกษาความเป็นไปได้ พร้อมกับแผนงานที่รอบคอบรัดกุมทุกด้าน พบว่าไม่น่าเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว แต่สิ่งที่พึงระมัดระวังคือ ปัจจัยใหม่ๆ ที่เป็นตัวแปรด้านลบ เช่น ความผันผวนของเศรษฐกิจการเมืองที่สั่นคลอนเศรษฐกิจโลก อาทิ กรณีข้อพิพาท โครงการนิวเคลียร์ระหว่างประเทศอิหร่าน และประเทศตะวันตก ปัญหาความตึงเครียดหลังประเทศเกาหลีเหนือทดลองยิงขีปนาวุธ ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน และความผันผวนของค่าเงินเป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
คุณวลีรัตน์ เชาวนวิหานนท์
โทรศัพท์ 01-277-7871

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ