กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--สสส.
ผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นเกย์เมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา สร้างบทเรียนให้แก่ชาวบ้านจังหวัดชุมพรอย่างลึกซึ้ง พวกเขาเล็งเห็นถึงความสำคัญของการฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเริ่มต้นจาก “ชุมชน-โรงเรียน” ที่ผ่านมามีการผลักดันนายทุนออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และร่วมรณรงค์การทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศกันขนานใหญ่
เนื่องในโอกาสใกล้ครบรอบ 2ทศวรรษภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเกิดจากไต้ฝุ่นเกย์ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 ชิดสุภางค์ ชำนาญ เลขาธิการสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพรว่า ปัจจุบันดำเนินการในนามของ “ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาจังหวัดชุมพร” และมี “สมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร” ทำงานเป็นต้นแบบให้แก่เครือข่ายจากชุมชนต่างๆ
ที่ผ่านมา มีการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกชุมชนทุกหมู่บ้าน สนับสนุนให้แต่ละเครือข่ายคิดกิจกรรมเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเอง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตัวเอง เพราะเมื่อชุมชนเข้มแข็ง ภาพรวมก็จะเข้มแข็งตามมา
ชิดสุภางค์ เล่าว่า หลังการจัดการสภาพแวดล้อมเริ่มเข้าที่แล้ว ต่อมาได้เกิดปัญหาใหม่ คือการบุกรุกพื้นที่ป่าของกลุ่มนายทุนปลูกปาล์ม อันเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลในยุคก่อนๆ ส่งเสริมให้มีการปลูกปาล์ม โดยหวังให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่ท้องถิ่น โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งนี้กลับเป็นดาบสองคม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือป่าต้นน้ำหลักที่ใช้หล่อเลี้ยงคนทั้ง อ.ปะทิว ซึ่งมีพื้นที่กว่า 500 ไร่ แต่หลังจากที่รัฐส่งเสริมการปลูกปาล์ม ได้มีการบุกรุกป่าสาธารณะ จากป่า 500 ไร่ เหลืออยู่ไม่ถึง 300 ไร่ ทางศูนย์ฯ จึงได้ประสานกับทางหน่วยงานราชการเพื่อหยุดยั้งการบุกรุกป่าของเหล่านายทุน
สำหรับปัญหาเฉพาะหน้าของชุมชนในปัจจุบัน เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวว่า อยู่ที่การใช้สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากหากมีการใช้สารเคมีในพื้นที่ต้นน้ำ เพราะเมื่อเกิดฝนตกแล้วน้ำฝนก็จะชะล้างสารเคมีจากพื้นดินไหลลงมาสู่ลำน้ำ ทำให้ระบบนิเวศทางน้ำสูญเสีย ตั้งแต่ตั้งต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คนที่อยู่กลางน้ำและท้ายน้ำต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางศูนย์ฯ จึงได้ประสานให้กลุ่มเครือข่ายแต่ละพื้นที่ทำการรณรงค์ส่งเสริมการทำเกษตรเชิงนิเวศ ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ความสำเร็จของการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของชาวอ.ปะทิว ในการหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมี หน่วยงานหนึ่งที่ร่วมให้การสนับสนุน คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโครงการ “ชุมชน-โรงเรียนร่วมใจรักษาป่าต้นน้ำ อ.ปะทิว จ.ชุมพร” ที่มีเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มอนุรักษ์ที่เป็นเครือข่ายของศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาฯ ตามพื้นที่ต่างๆ เช่น กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำน้ำตกทุ่งยอ กลุ่มอนุรักษ์ป่าพรุตาอ้าย กลุ่มอนุรักษ์ป่าพรุเขาดินสอ บ้านคอกม้า ได้รณรงค์และดำเนินกิจกรรมเพื่อปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดลักษณะบูรณาการและการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน ภาครัฐและเอกชน อันส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป