4 องค์กรร่วมจัดเทศกาลหนังจีนและการแสดงมองโกเลียใน ฉลอง 60 ปีสถาปนาจีน

ข่าวทั่วไป Thursday September 24, 2009 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--ธนาคารกสิกรไทย กสิกรไทย ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม สถานทูตจีน และศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ ร่วมฉลอง 60 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดสุดยอด 2 กิจกรรมพิเศษ เทศกาลหนังจีนที่หาดูยาก 6 วัน 6 เรื่อง ระหว่าง 30 ก.ย.-5 ต.ค. และการแสดงพื้นเมืองจากมองโกเลียใน ที่มาแสดงในไทยเป็นครั้งแรก 3 และ 4 ต.ค.นี้ ชมฟรี จองบัตรที่ 02 470 2653-8 กระทรวงวัฒนธรรม สถานทูตจีน และศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ โดยการสนับสนุนของธนาคารกสิกรไทย ร่วมกันจัดเทศกาลภาพยนตร์และการแสดงสุดยอดศิลปวัฒนธรรมจีน เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 60 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจัดฉายภาพยนตร์ที่หาดูได้ยาก 6 วัน 6 เรื่อง ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็กซ์ (SFX) ชั้น 6 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม ระหว่างวันที่ 30 กันยายน-5 ตุลาคมนี้ เวลา 19.30 น. โดยภาพยนตร์ทุกเรื่องพากย์จีน พร้อมซับไตเติ้ลภาษาไทยและอังกฤษ ส่วนการแสดงพื้นเมืองมองโกเลีย จากคณะอูหลานมู่ฉี แชมป์เหรียญทองการแสดงจากจีน จะแสดงวันที่ 3 และ 4 ตุลาคม เวลา 19.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับโปรแกรมฉายภาพยนตร์ ได้แก่ วันพุธที่ 30 กันยายน ฉายภาพยนตร์เรื่อง Crows and Sparrows เป็นหนังตลกแนวสัจจะนิยมใหม่ (Neo-realist Comedy) เป็นภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในการนำมาฉายในครั้งนี้ ด้วยฟิล์มขาวดำต้นฉบับ ความยาว 117 นาที สร้างเมื่อปี พ.ศ.2492 หรือมีอายุกว่า 60 ปี กำกับโดย เจิ้งจวินหลี่ นำออกฉายในปีใหม่ปีแรกของการสถาปนาจีนเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นหนังที่มีอิทธิพลต่อเหตุการณ์และการเติบโตของสังคมจีนที่สูงมากในประวัติศาสตร์หนังจีน เรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งในวิถีชีวิตของคนเมืองในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์มีแนวโน้มที่จะชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง เป็นการรวมตัวเพื่อต่อต้นการคดโกงของเจ้าของที่ในเซี่ยงไฮ้ พร้อมสถานการณ์การเมืองที่กำลังเข้มข้น วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม เรื่อง Cell Phone เป็นภาพยนตร์ชีวิต ความยาว 107 นาที สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2546 กำกับโดย เฝิงเสี่ยวกัง นับเป็นหนังจีนที่ทำรายได้สูงที่สุดในประเทศ เมื่อปี 2546 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากเทคโนโลยีและชีวิตสมัยใหม่บนความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดของสังคมจีนแบบเดิม เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ คนหนึ่งเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ อีกคนเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ แต่ความสัมพันธ์ของครอบครัวทั้งคู่ต้องร้าวฉานลง เมื่อสัมพันธ์ลับของทั้งสองที่ถูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือถูกเปิดเผยออกมา วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม เรื่อง Romance on Lushan Mountain เป็นภาพยนตร์ชีวิตแนวโรแมนติกยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่ง ความยาว 90 นาที สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2523 กำกับโดย หวงจู่ม๋อ เป็นเรื่องราวของโจวหยุน หญิงสาวเชื้อสายจีน-อเมริกัน ที่กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดของบิดา กับเกิ่งฮั๋ว นักเรียนที่กำลังจะสอบเข้าวิทยาลัยด้วยกัน และด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่ฝั่งรากลึกในช่วงทศวรรษที่ 70-80 ทำให้บิดาของทั้งสองที่แม้จะรู้จักกัน แต่ก็มีความเห็นด้านการเมืองที่ต่างกัน ความรักของทั้งคู่จึงมีอุปสรรค ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงแต่มีเนื้อเรื่องคล้ายกับหนังเรื่อง โรมิโอและจูเลียต แต่ยังได้รับการบันทึกในกินเนสบุ๊คว่า เป็นหนังที่ยืนโรงฉายได้ยาวนานที่สุดในโลก นับตั้งแต่ 12 กรกฎาคม 2523 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม เรื่อง Third Sister Liu ภาพยนตร์เพลง ความยาว 117 นาที สร้างเมื่อปี พ.ศ.2504 โดยผู้กำกับ ซูหลี่ ถ่ายทอดผ่านบทเพลงที่มีเอกลักษณ์ประจำถิ่นอันไพเราะและทิวทัศน์อันสวยงามของเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง มณฑลกว่างซี เป็นเรื่องราวของหญิงสาวชาวนาที่มุ่งมั่นที่จะรวบรวมชาวบ้านเพื่อต่อต้านเจ้าของที่ดินที่ละโมบโลภมาก โดยการสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวบ้านผ่านบทเพลง ซึ่งก็ได้สร้างความประทับใจชาวบ้าน พร้อมแรงดึงดูดความสนใจจากชายหนุ่มคนหนึ่งด้วย เป็นหนังที่ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศจีนอย่างกว้างขวาง วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม เรื่อง Jasmine Women ภาพยนตร์ชีวิตที่มีความยาวถึง 130 นาที สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยผู้กำกับ โฮ๋วหย่ง ซึ่งเป็นช่างภาพที่มีชื่อดัง จึงเป็นภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงด้านการกำกับการแสดงที่ยอดเยี่ยมและฉากที่สวยงาม โดยถือเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จในการทำให้ชีวิตทางการเมืองกลายเป็นเรื่องเปิดเผยร่วมสมัยได้ Jasmine Women บอกเล่าเรื่องราวของหญิง 3 คน 3 รุ่น ในมหานครเซี่ยงไฮ้ คือ ม่อ ในทศวรรษ 1930 ลี่ ในทศวรรษ 1950 และฮวา ในทศวรรษ 1980 ตัวเอกทั้งสามต้องเผชิญกับปัญหาความรัก เซ็กซ์ และครอบครัวในเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละช่วงเวลาดำเนินไปควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมือง และมีม่านธรรมเนียมของสังคมควบคุมพฤติกรรมอย่างเข้มงวด แต่แต่ละคนก็แข็งขืนต่อต้าน จนเกิดความผิดพลาดในชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า รุ่นแล้วรุ่นเล่า วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม ฉายเรื่องสุดท้าย Love, Come Back ภาพยนตร์ชีวิต ความยาว 90 นาที สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยผู้กำกับ เฉินจวิน หนังที่บอกเล่าเรื่องราวถึงการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขที่แตกต่างในสถานะการณ์ กฎเกณฑ์ และเสรีภาพที่มาพร้อมกับชีวิตใหม่ในสังคมเมืองหลวงฉาย โดยแนวเรื่องคล้ายนิทานเรื่อง The Prince and the Pauper (เจ้าชายกับยาจก) เมื่อเหมาเหมา เด็กหนุ่มผู้ร่ำรวยจากปักกิ่งที่ใช้เวลาสูญเปล่าไปกับการเล่นเกมออนไลน์ ถูกพ่อส่งกลับไปอยู่ที่มองโกเลียใน ที่ซึ่งเขาเคยใช้ชีวิตในวัยเด็ก เขาต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขที่แตกต่าง และต้องเปลี่ยนมุมมองของชีวิตใหม่ ในขณะที่ปาเท่อเอ่อร์ เด็กหนุ่มบ้านนอกจากมองโกเลียใน ก็ได้สลับเข้ามาใช้ชีวิตคล้ายกับเหมาเหมาในกรุงปักกิ่ง ทำให้เขาก็ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับกฎเกณฑ์ และเสรีภาพที่มาพร้อมกับชีวิตใหม่ในสังคมเมืองหลวง สำหรับการแสดงจากมองโกเลีย ของคณะอูหลานมู่ฉี แห่งอำเภออูเสิ่น (Ulanmuchi of Wushen Banner) เป็นการเปิดการแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ด้วยผู้แสดงบินตรงจากจีนกว่า 40 ชีวิต ซึ่งคณะดังกล่าว เป็นคณะแสดงที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดของเมืองเอ้อเอ่อตัวซือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 เคยเปิดการแสดงที่กรุงปักกิ่งมากกว่าสิบครั้ง ในฐานะตัวแทนสถาบันศิลปะมองโกเลีย ได้รับการชื่นชมอย่างมากจากพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำจีน ไม่ว่าจะเป็น เหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล เจียงเจ๋อหมิน และหูจิ่นเทา คณะอูหลานมู่ฉี เคยได้รับรางวัลเหรียญทองในเทศกาลศิลปะและการประกวดต่าง ๆ ทั้งในประเทศจีน และต่างประเทศ จึงเป็นการแสดงที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก จนได้รับการขนานนามให้เป็นไข่มุกที่สุกสว่างแห่งทุ่งหญ้ามองโกเลียใน ด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ยอดเยี่ยมทุกชุดการแสดง โดยครั้งนี้จะแสดงชุดพบกันที่เอ๋าเปา ซึ่งวัฒนธรรมเอ๋าเปา (Ao Bao Culture) เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมองโกเลียอันลึกลับและชวนหลงใหล มีทั้งหมดสามตอน ได้แก่ ตอนที่หนึ่ง เพลงสรรเสริญเอ๋าเปา ตอนที่สอง ความรักแห่งเอ๋าเปา และตอนที่สาม จิตวิญญาแห่งเอ๋าเปา รวมการแสดงประมาณ 16 ชุด ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งนี้การแสดงจะมี 2 วัน วันละ 1 รอบ ในวันที่ 3 และ 4 ตุลาคม เวลา 19.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่งเข้าชมภาพยนตร์และการแสดง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ได้ที่ ส่วนประชาสัมพันธ์ ธนาคารกสิกรไทย โทร. 0 2470 2653-8

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ