เยาวชนพม่ารุ่นนำร่องโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีไทย - พม่าเดินทางถึงไทยแล้ว

ข่าวทั่วไป Friday July 28, 2006 11:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--สอศ.
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการปฐมนิเทศให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตระหว่างเป็นนักศึกษาในประเทศไทยแก่เยาวชนพม่า จำนวน 25 คน ซึ่งเป็นนักศึกษารุ่นแรกที่เดินทางถึงประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมโครงการอาชีวศึกษาทวิภาคี ระดับ ปวช. ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และศูนย์ฝึกอบรมนวัตกรรมอุตสาหกรรม (Innovative Industrial Training Center) ภายใต้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพและยกระดับคุณวุฒิการศึกษาให้เยาวชนพม่า โดยการสนับสนุนของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา
นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้สหภาพพม่า เปิดประเทศรับนักธุรกิจจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมด้านการประมง การเกษตรและการท่องเที่ยว จำนวนมาก ศูนย์ฝึกอบรมนวัตกรรม อุตสาหกรรม ของสหภาพพม่าเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาศักยภาพของบุคลากรพม่าให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมภายในประเทศ หากศูนย์ ฯ สามารถนำเยาวชนพม่าเข้ามาอย่างเป็นระบบ โดยจัดโปรแกรมการเรียนร่วมกับการปฏิบัติจริงในสถานประกอบการภายใต้โครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีที่จะทำให้เยาวชนพม่าได้รับการพัฒนาทั้งด้านการศึกษาและ เพิ่มประสบการณ์อาชีพเพื่อยกระดับฝีมือให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันยังได้รับค่าตอบแทนการฝึกปฏิบัติงานระหว่างเรียนด้วย ซึ่งเมื่อสิ้นสุดโครงการและกลับไปก็จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสหภาพพม่า และเอื้อประโยชน์แก่นักธุรกิจไทยที่จะเข้าไปลงทุนในสหภาพพม่าด้วย
โครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีไทย - พม่า ครั้งนี้ตั้งเป้าหมายจะรับนักศึกษาพม่าที่จบการศึกษาเกรด 10 หรือเทียบเท่าในปีแรกไม่ต่ำกว่า 200 คน เพื่อมาเข้าเรียนระดับ ปวช. ระบบทวิภาคี โดยจะทยอยเดินทางถึงประเทศไทยภายในเดือนกันยายนนี้ และจะลงทะเบียนเป็นนักศึกษาสาขาอุตสาหกรรมการประมง ในวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ และสาขาเทคนิคการยาง ในวิทยาลัยเทคนิคจะนะ จังหวัดสงขลา ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาจะร่วมมือคัดเลือกสถานประกอบการที่มีมาตรฐานเพื่อรับนักเรียนพม่าเข้าฝึกปฏิบัติงานในโรงงานตลอดระยะเวลา 3 ปี ตามเงื่อนไขของหลักสูตรระดับ ปวช. และยินดีที่จะจ่ายค่าตอบแทนการฝึกงาน เพื่อให้นักเรียนพม่ามีรายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนและการดำรงชีวิตขณะพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ครูวิทยาลัยจะเข้าไปสอนวิชาทฤษฏี นิเทศการสอน และติดตามประเมินผลการเรียน และการฝึกทักษะวิชาชีพ เพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน การอาชีวศึกษาให้นักเรียนพม่ามีความรู้ครบตามหลักสูตร เพื่อจะได้รับคุณวุฒิการศึกษาในระดับ ปวช. เช่นเดียวกับนักศึกษาคนไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ