กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--siamentis
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ชูบทบาทอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นศูนย์กลางการทำวิจัยและพัฒนา พร้อมเป็นพันธมิตรกับภาคเอกชน ในการพัฒนาพื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตรโดยรอบ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง จากนั้นนำผู้บริหารระดับสูงจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรม ชมความพร้อมด้านการวิจัยและพัฒนา สนับสนุนจุดขายใหม่ ประเทศไทยมีกำลังสมองราคาถูก ไม่ใช่แรงงานราคาถูก
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ ความพร้อมรองรับงานวิจัย : โอกาสใหม่ของธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ (R&D Readiness: New Opportunity for Real Estate Developers) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ว่า “ประเทศเราจะก้าวสู่ธุรกิจฐานความรู้ หรือ Knowledge-based Industry ได้ด้วยการมีงานวิจัยและพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นโครงสร้างสำคัญที่จะช่วยให้มีงานวิจัยและพัฒนา (Research & Development) เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงของประเทศไทย”
“อุทยานวิทยาศาสตร์ คือ นิคมวิจัย เป็นที่ทำงานของนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีหลายๆสาขา มีบทบาทในการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในอุตสาหกรรมฐานความรู้ และผลักดันให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างธุรกิจใหม่อีกด้วย”
“อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เปิดดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ด้วยกรอบงบลงทุน 7,000 ล้านบาท ภายใต้การบริหารจัดการเทคโนโลยี ปัจจุบันมีเอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาอยู่ในนี้เกือบ 50 รายและได้รับประโยชน์จากการทำงานร่วมกับนักวิจัย ในศูนย์วิจัยแห่งชาติทั้ง 4 ศูนย์ (BIOTEC, NECTEC, MTEC, NANOTEC) รวมทั้งกับเครือข่ายนักวิจัยและความเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ใกล้เคียง”
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรกับภาคเอกชนในการพัฒนาพื้นที่ใกล้เคียงรองรับอุตสาหกรรมฐานความรู้ที่ต้องอาศัยศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาเป็นจุดดึงดูด ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและพื้นที่โดยรอบมีความพร้อมอยู่แล้ว
“นอกจากจะสนับสนุนให้เอกชนไทยทำวิจัยและพัฒนาแล้ว เรายังอยากให้ต่างชาติมาลงทุนทำวิจัยและพัฒนาในบ้านเรามากขึ้น โดยมีจุดดึงดูดที่กำลังสมองราคาดี ไม่ใช่แรงงานราคาถูก”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net