กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
เนื่องในงานพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมถวายพระพรชัยมงคล ในงานพระราชพิธี ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กองทัพเรือ โดย หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กำหนดจะทำการยิงสลุตหลวงด้วยปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีราบ ขนาด ๑๓๐ มิลลิเมตร จำนวน ๒๑ นัด ณ บริเวณหนองตะเคียน ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยทำการฝึกซ้อม ในวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ น. ถึงเวลา ๑๑.๐๐ น. และทำการยิงสลุตหลวงในวันศุกร์ที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐ น. ถึงเวลา ๑๒.๐๐ น.
ประเพณีการยิงสลุต จะเป็นมาอย่างไรนั้น ไม่สามารถทราบได้ แต่เชื่อกันว่า ในสมัยโบราณนั้น ปืนใหญ่เป็นปืนบรรจุทางปากกระบอก การจะยิงได้แต่ละครั้งเสียเวลานาน คงจะถือเป็นการปฏิบัติกันว่า ในกรณีเรือรบเข้าสู่ท่าเรือของรัฐอื่น จะมีกระสุนอยู่ในลำกล้องปืนใหญ่เรือไม่ได้ และการจะถอดกระสุน ออกจากลำกล้องก็ไม่ใช่ง่าย การยิงทิ้งก็เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ว่า ไม่ได้บรรจุกระสุนอยู่ในลำกล้อง นานเข้าก็เลยกลายเป็นประเพณีที่เรียกว่า ยิงสลุตคำนับขึ้น ดังนั้น การยิงสลุต คือการยิงเพื่อแสดงความเคารพประมุขของประเทศหรือบุคคลสำคัญ โดยการยิงจากปืนใหญ่ ด้วยดินดำหรือดินไม่มีควัน โดยมีจำนวนนัดที่ยิงเป็นเกณฑ์ ตามควรแก่เกียรติยศของบุคคลหรือสิ่งที่ควรได้รับความเคารพนั้น และการยิงสลุตจะต้องยิง เป็นจำนวนคี่เสมอ สูงสุดไม่เกิน ๒๑ นัด จะมีการยิงมากกว่า จำนวนนี้ก็คือ ยิงถึง ๑๐๑ นัด เรียกว่า สลุตหลวงพิเศษ ซึ่งจะยิงได้เมื่อมีคำสั่งพิเศษเฉพาะคราวเท่านั้น เช่นใน พ.ศ.๒๔๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๓ การยิงสลุตในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ยิง ๑๐๑ นัด ต้องใช้เรือรบยิง ๒ ลำ และแบ่งยิงเป็น ๓ เวลา คือ เช้า เที่ยง และบ่าย แต่ต่อมา การยิงสลุต ๑๐๑ นัด นั้น ได้ยกเลิกในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อเป็นการประหยัดดินปืน จึงไม่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้ยิงสลุตหลวงพิเศษอีก นับตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบันนี้
สำหรับการยิงสลุตในประเทศไทย เท่าที่ปรากฏหลักฐาน ในประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศ ได้มีเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๑๕๑
การยิงสลุตในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รื้อฟื้นประเพณีการยิงสลุตขึ้นใหม่ เริ่มตั้งแต่ รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๓ ได้มีการยิงสลุตรับ มิสเตอร์ โจเซฟ บัลเลสเตีย ทูตอเมริกันที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๓ ดังปรากฏหลักฐานในประชุมพระราชพงศาวดาร ความว่า "ครั้ง ณ วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ เพลากลางคืน พระยาไวยวรนารถ พระยาสุรเสนา พระยาโชฏิราชเศรษฐี พระยาราชวังสรรค์ พระยาวิเศษศักดา จึงจัดให้หลวงยกกระบัตร หลวงอาจณรงค์ หลวงวุฒสรเดช เจ้ากรมทหารปืน หลวงราชฤทธิสรเดช ฝรั่งแม่นปืน ล่ามฝรั่ง ๒ คน ขี่เรือรบ ไล่สลัดที่ส่งลงไปลำ ๑ กับเรือแง่ทรายยาว ๑๑ วา ๒ ลำ คนแจวลำละ ๔๐ คน ๕๐ คนใส่เสื้อหมวกแดง มีธงทวนปัก ออกไปรับทูต ที่กำปั่นโยเสพ บาเลสเตีย ทูต ๑ มิชชันนารี หมอดี ๑ คนใช้ ๑ ลงจากกำปั่นมาลงเรือที่ไปรับเรือออกจากกำปั่นกำมะโดอรหิต ให้ยิงปืนส่งทูต ๒๑ นัด ณ วันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๕ เพลาเช้า ๓ โมง เรือซึ่งไปรับทูตเข้ามาถึงเมืองสมุทรปราการ ให้ยิงปืนฝีเสื้อสมุทรรับทูต ๒๑ นัด"
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ออกพระราชกำหนด ว่าด้วย การยิงสลุต เมื่อวันที่ ๑๔ ธ.ค. ร.ศ.๑๒๔ ตรงกับวันพุธที่ ๑๔ ธ.ค. พ.ศ.๒๔๔๘ เรียกว่า " ข้อบังคับว่าด้วยการยิงสลุต ร.ศ.๑๒๔ " แบ่งการยิงสลุตออกเป็น ๒ ประเภท คือ การยิงสลุตหลวง และการยิงสลุตเป็นเกียรติแก่ราชการ ครั้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนแปลงแก้ไขและยกเลิกการบางอย่างใน "ข้อบังคับว่าด้วยการยิงสลุต ร.ศ.๑๒๔" ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมทหารเรือ ตราขึ้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตรา พระราชกำหนดการยิงสลุตขึ้นใหม่ เรียกว่า "พระราชกำหนดการยิงสลุต ร.ศ.๑๓๑" พระราชกำหนดนี้ ประกาศใช้เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๕ โดยได้แบ่งการยิงสลุต ไว้ ๓ ประเภท คือ สลุตหลวง สลุตข้าราชการ และสลุตนานาประเทศ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ออกพระราชบัญญัติยกเลิก พระราชกำหนด การยิงสลุต ร.ศ.๑๓๑ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ประเพณีการยิงสลุตของไทยก็สิ้นสุดลงเพียงนั้น ครั้นต่อมาเมื่อ มหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงแล้ว ทางราชการได้ฟื้นฟูประเพณีการยิงสลุตขึ้นใหม่ซึ่งเริ่มยิงเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๓ และได้ใช้เป็นประเพณี ติดต่อกันมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยอนุโลม ตามพระราชกำหนดการยิงสลุต ร.ศ.๑๓๑ ถึงแม้ว่าประเพณีการยิงสลุต จะเป็นประเพณีของต่างชาติ แต่ประเทศไทยก็ได้รับเข้ามายึดถือปฏิบัติเป็นแบบแผน โดยแก้ไขได้เหมาะสมและสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นการแสดงออกถึง ความเจริญทางด้านวัฒนธรรมไทย ที่ไทยเรามีเท่าเทียมกับชาติอื่น ๆ
(ที่มา:ข่าวประชาสัมพันธ์ สอ.รฝ. และ www.navy.mi.th/nc/bc/navyinfo/slut.html )