สวทช. เร่งผลักดันผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ตื่นตัวรับมือ มาตรฐานใหม่ ‘ASEAN GMP’

ข่าวทั่วไป Wednesday September 27, 2006 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--สวทช.
สวทช. เตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทยให้เข้าสู่มาตรฐาน ‘ASEAN GMP’ หลัง อย.เตรียมออกข้อบังคับใช้แทนระบบ GMP ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างอาเซียน ที่กำหนดใช้หลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดีสำหรับเครื่องสำอางให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2551 ทั่วอาเซียน พร้อมจี้ ผู้ประกอบการเร่งตื่นตัวรับมือ ก่อนเสียประโยชน์ให้ประเทศคู่แข่ง
เมื่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายในตลาดอาเซียน จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของบทบัญญัติเครื่องสำอางแห่งอาเซียน (ASEAN Cosmetic Directive : ACD ) ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2551 ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา พม่า ลาว เวียตนาม ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน จะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การผลิตเครื่องสำอางให้เป็นมาตรฐานเดียวกันภายในประเทศสมาชิกอาเซียน หรือ “หลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติที่ดีในการผลิตเครื่องสำอางของอาเซียน” (ASEAN GMP) ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการของไทยตื่นตัวและเร่งปรับตัวกับระบบดังกล่าว
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเครื่องสำอางเพื่อมุ่งสู่มาตรฐาน ASEAN GMP ” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ถึงข้อกำหนดวิธีการที่ดีในการผลิตเครื่องสำอาง ให้สามารถปรับปรุงพัฒนาคุณภาพ กระบวนการผลิต และการควบคุมคุณภาพให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน ASEAN GMP ขึ้น เมื่อวันอังคารที่ 5-21 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
นางสาวสนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการฯ ที่จัดขึ้นนี้ เป็นโครงการที่สนับสนุนศักยภาพและจะช่วยให้ผู้ประกอบการเครื่องสำอาง ที่มีความมุ่งมั่นไปสู่การรับรองมาตรฐาน ASEAN GMP ภายในปี 2551 และถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดอบรมเกี่ยวกับมาตรฐานดังกล่าว โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้าร่วมอบรมถึง 23 บริษัท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้เพียง 15 บริษัท จึงนับเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการเครื่องสำอางของไทยเริ่มหันมาตื่นตัวกันมากขึ้น
“ การจัดทำระบบมาตรฐาน ASEAN GMP ต่อไปจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ผลิตเครื่องสำอางทุกรายต้องได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว เนื่องจากไม่ว่าผู้ผลิตเครื่องสำอางจะมีแหล่งผลิตอยู่ในประเทศใดในประเทศสมาชิกของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ หากได้รับการรับรองมาตรฐาน ASEAN GMP แล้ว จะสามารถส่งสินค้าออกไปจำหน่ายได้ทั่วอาเซียน โดยไม่ต้องขอการรับรองจากหน่วยงานในประเทศนั้นๆ อีก ดังนั้น หากผู้ผลิตเครื่องสำอางของประเทศสมาชิกฯใดไม่พร้อมก็จะเสียเปรียบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ผลิตเครื่องสำอางของไทยที่จะต้องรับทราบและเร่งปรับตัว เพื่อรองรับกับแนวทางการปฏิบัติการผลิตที่ดีเพิ่มเติมจากระบบ THAI GMP เดิมที่ใช้อยู่ ขณะเดียวกันทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เอง ได้เตรียมออกข้อบังคับใช้ ในปี 2551 ด้วย” นางสาว สนธวรรณ กล่าว
สำหรับประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ นั้น ผอ.โครงการ iTAP กล่าวว่า “ iTAP จะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพทางด้าน GMP เครื่องสำอาง ที่มีประสบการณ์จริงเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำถึงโรงงาน นอกจากการฝึกอบรมที่จัดขึ้น 6 วันแล้ว ซึ่งการที่มีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำปรึกษาจะช่วยในการตัดสินใจได้เร็วขึ้น และทำให้การจัดทำระบบฯ เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาในการลองผิดลองถูก ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในโครงการฯ จะลดความเสี่ยง รวมทั้งยังลดค่าใช้จ่ายลงอีกด้วย โดยทางโครงการ iTAP จะช่วยออกค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้กับผู้ประกอบการครึ่งหนึ่ง หรือ ร้อยละ 50 ของงบประมาณโครงการ นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนในการติดตามการประเมินผลการดำเนินงานให้ด้วยระหว่างทำโครงการฯ”
ด้าน ภก.มนตรี ถนอมเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาอิสระด้าน GMP เครื่องสำอาง กล่าวว่า “ สาเหตุที่ต้องทำมาตรฐาน ASEAN GMP ก็เพราะในปี 2551 ทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนจะมีการปรับกฎระเบียบเครื่องสำอางที่จะต้องดำเนินการภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยแผนการปรับกฎระเบียบเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันแห่งอาเซียน หรือ ASEAN Harmonized Cosmetic Regulatory Scheme ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยได้รับการรับรองหรือผ่านการรับรอง GMP ก็ให้ใช้มาตรฐาน ASEAN GMP ได้เลย ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศในอาเซียนเริ่มยุบระบบ GMP ของตัวเองแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ขณะที่ประเทศในกลุ่มสมาชิกฯ ต่างก็เริ่มตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าวกันมากขึ้น ผู้ประกอบการเครื่องสำอางของไทยจึงต้องเร่งปรับตัวโดยเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมายังมีผู้ประกอบการของไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่เคยผ่านการรับรอง GMP เลย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และโรงงานขนาดเล็ก อันเป็นปัญหาเรื่องของบุคลากร ทำให้การทำงานเพื่อให้ได้ตามข้อกำหนดของ GMP ค่อนข้างล่าช้า ซึ่งการจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ความมุ่งมั่นของผู้บริหาร และทีมงานผู้ปฏิบัติ ”
สำหรับหลักเกณฑ์การผลิตเครื่องสำอางทีดีของอาเซียน ASEAN GMP นั้น มีการนำหลักการบริหารจัดการของระบบ ISO : 9000 เข้ามาใช้ผสมผสานอยู่ด้วย ส่วนความแตกต่างจากมาตรฐาน THAI GMP มีเพิ่มเติม 3 เรื่อง คือ การจัดทำเอกสารคู่มือคุณภาพ (Quality manual) , การกำหนดคู่สัญญาการผลิตและการวิเคราะห์ และ การทดสอบความคงสภาพของเครื่องสำอาง ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากลที่กลุ่มประเทศยุโรปใช้อยู่
นพ. สมชัย วุฒิณรงค์ตระกูล กรรมการ บริษัท สหัษศาน จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือ สกินแคร์ ภายใต้แบรนด์ โซชา และคอสซิน่า กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทฯ ต้องการเข้าสู่ระบบมาตรฐาน ASEAN GMP เพราะทำให้บริษัทฯจะได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของสถานที่ และการจัดวางระบบที่ดีขึ้น รวมถึงเรื่องของบุคลากร เชื่อว่าหลังเข้ารับการการฝึกอบรมแล้ว บริษัทฯจะเข้าสู่มาตรฐานได้เร็วขึ้น และในแง่ของการตลาดแล้ว มาตรฐานดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเติมเต็มและทำให้ผู้บริโภครู้จักผลิตภัณฑ์และเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของเรามากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ต้องยอมรับว่า ไม่เคยให้ความสนใจกับเรื่องของระบบ GMP เพราะเรามั่นใจในคุณภาพการผลิตของเราอยู่แล้ว จนกระทั่งเมื่อได้รู้จักกับโครงการ iTAP (สวทช.) ทำให้เราเข้าใจถึงเรื่องดังกล่าวมากขึ้น บริษัทฯ จึงตัดสินใจเข้าสู่ระบบ ASEAN GMP โดยจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารองรับโครงการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะเน้นผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มาจากงานวิจัยเป็นหลัก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ โครงการiTAP (สวทช.)ได้มีการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เพื่อให้คำปรึกษาด้าน GMP มาตั้งแต่ปี 2538 โดยมีผลงานที่ผ่านมา ได้เข้าเยี่ยมโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง วัตถุอันตราย ยาเวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์แล้วไม่ต่ำกว่า 140 บริษัท , ดำเนินการวิเคราะห์ปัญหาและจัดทำโครงการให้คำปรึกษาทางด้าน GMP แล้วไม่ต่ำกว่า 51 บริษัท และมีบริษัทที่ผ่านมาการรับรอง GMPไป แล้ว จำนวน 28 บริษัท เมื่อปีที่ผ่านมา คาดว่า การจัดฝึกอบรมครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเครื่องสำอางที่เข้าร่วมโครงการฯทั้ง 23 บริษัท สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการเข้าสู่มาตรฐาน ASEAN GMP ได้ในเร็วๆ นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ