กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--ปตท.
นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลจากสถานการณ์ในต่างประเทศ อาทิ การทดสอบพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ความไม่สงบในไนจีเรีย รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกทำให้ปรับตัวสูงขึ้นมาตลอดนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (แม้ว่าในช่วงวันนี้ราคาได้อ่อนตัวลงมาบ้าง) แต่ปัจจัยดังกล่าวยังทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลนั้น ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.37 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 72.49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (ในขณะที่ก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องถึง 3.94 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากต้นทุนเนื้อน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น (ประมาณ 5.31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) อย่างต่อเนื่องเช่นกัน จนทำให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลติดลดต่ำลงเหลือ 30 สตางค์/ลิตร เท่านั้น (ค่าการตลาดเฉลี่ยของน้ำมันดีเซลที่เหมาะสมเป็นธรรมและผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ไม่ควรต่ำกว่า 1 บาท/ลิตร) ด้วยสาเหตุดังกล่าว ปตท. จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาปรับราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลขึ้น 40 สตางค์/ลิตร ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วัน
พรุ่งนี้ (9 มี.ค.49) เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป ทำให้ราคาน้ำมันในเขต กทม. และปริมณฑลเป็นดังนี้
หน่วย : บาท/ลิตร
น้ำมันเบนซิน พีทีที อัลฟา เอ็กซ์ 95 26.74
น้ำมันเบนซิน พีทีที แก๊สโซฮอล์ 95 พลัส 25.24
น้ำมันเบนซิน พีทีที อัลฟา เอ็กซ์ 91 25.94
น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว พีทีที เดลต้า เอ็กซ์ ยูโร ทรี 25.49
น้ำมันพีทีทีไบโอดีเซล / น้ำมันดีเซล-ปาล์มบริสุทธิ์ 24.99
ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลยังคงปรับตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับการจัดหาเพราะโรงกลั่นได้หันไปผลิตน้ำมันสำหรับอากาศยานแทนน้ำมันดีเซล ประกอบกับมีการส่งออกน้ำมันจากเอเชียจำนวนหนึ่งไปยังแอฟริกา ประมาณ 300,000 ตัน ในเดือนนี้ จึงทำให้ปริมาณน้ำมันเหลือจำหน่ายในตลาดเอเชียลดน้อยลง
อนึ่ง ในวันนี้ (8 มี.ค.49) ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 58.41 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนน้ำมันเบนซิน95 อยู่ที่ระดับ 68.50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวถึงแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกว่า ยังคงแกว่งตัวขึ้นลงตามข่าวรายวัน แต่โดยรวมปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างอ่อนตัว จากปริมาณสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สูงกว่าปีก่อนถึง 27.4 ล้านบาร์เรล หรือประมาณ 9% และตลาดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะลดลง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงการปิดซ่อมบำรุงประจำปี (สหรัฐฯ เป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก) นอกจากนี้ IEA ออกมายืนยันว่าจะนำปริมาณสำรองน้ำมันดิบออกมาใช้โดยจะสามารถชดเชยกับปริมาณน้ำมันดิบที่ขาดหายไปจากตลาดได้นานประมาณ 18 เดือน หากอิหร่านหยุดการส่งออกน้ำมันดิบ ซึ่งคงต้องติดสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างใกล้ชิดต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ส่วนประชาสัมพันธ์ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน ปตท.
โทรศัพท์ 0 2537 2532, 2538