ซอฟต์แวร์พาร์ค หนุนเครือข่าย Thailand SPIN สร้างเครือข่ายความรู้ กระตุ้นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday April 25, 2006 11:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--เล็ทซ์ เซเรเบรท
ซอฟต์แวร์พาร์ค จับมือ องค์กรผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ภาครัฐ - เอกชน เปิดตัวเครือข่ายการปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ร่วมระดมสมอง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย พร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์
ดร. รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และประธาน Thailand SPIN เปิดเผยว่า เครือข่ายการปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศไทย หรือ Thailand SPIN (Software Process Improvement Network) จัดตั้งขึ้นจากการรวมกลุ่มของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานด้านการศึกษา ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศไทย โดยมีเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ Software Park Thailand เป็นผู้สนับสนุนหลัก ซึ่งการจัดตั้ง Thailand SPIN ขึ้นนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนา และ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศไทย โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยีของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ระหว่างกลุ่มสมาชิก และผู้สนใจทั่วไป เพื่อยกระดับให้เข้าสู่มาตรฐานคุณภาพในระดับสากล รวมทั้งส่งเสริม และสนับสนุนแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพระหว่างภาคอุตสาหกรรมการผลิต สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ
ประธาน Thailand SPIN กล่าวต่อไปว่าสำหรับการดำเนินการของเครือข่าย Thailand SPIN นั้น จะได้จัดให้มีกิจกรรมการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ระหว่างสมาชิก ในรูปแบบ การสัมมนา การอบรม การอภิปราย และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในทุกๆ เดือน โดยวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้สมาชิกได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีความรู้ ในด้านกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ เพื่อจะได้นำไปพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ขององค์กรให้มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ชมรม Thailand SPIN ยังมีชื่อยู่ใน International Actives SPINs ของ Software Engineering Institute (SEI), Carnegie Mellon ซึ่งเป็นช่องทางให้ Thailand SPIN มีโอกาสร่วมจัดกิจกรรมต่าง ๆ กับ SPIN อื่นจากทั่วโลก เพื่อเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในอนาคต
“ผมมั่นใจว่า Thailand SPIN จะมีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ของไทยได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการผลิตซอฟต์แวร์ของไทยให้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก Thailand SPIN เป็นเครือข่ายที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิต และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้มีโอกาสรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ในกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ อีกทั้งยังเป็นเวทีในการรับฟังความคิดเห็น และคำแนะนำ รวมทั้งได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับโลกจากประเทศต่างๆ ซึ่งทาง Thailand SPIN จะได้เชิญมาร่วมบรรยาย และให้ความรู้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ” ดร.รอมกล่าว
สำหรับในปัจจุบันเครือข่ายการปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณ และองค์ความรู้ จากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อาทิ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) บริษัทรอยเตอร์ ซอฟต์แวร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท สยามกูรู จำกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ
เกี่ยวกับ เครือข่ายการปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย หรือ Thailand SPIN
เครือข่ายการปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย หรือ Thailand SPIN ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2542 โดยเป็นหน่วยงานอิสระซึ่งสนับสนุนการดำเนินงานโดย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand)
Thailand SPIN จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ และคุณภาพของซอฟต์แวร์ โดยการจัดให้มีเวทีในการแลกเปลี่ยน และแบ่งปันแนวความคิด และประสบการณ์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับมวลหมู่สมาชิก นอกจากนี้ที่ประชุมยังเปิดกว้างให้แก่บุคคลทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถและมีความสนใจกระบวนการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพซอฟต์แวร์ให้ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายด้วย
สำหรับเป้าหมายหลักของเครือข่าย คือ การส่งเสริมให้สมาชิกมีความตระหนักถึงกระบวนการในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ รวมทั้งสนับสนุนเทคโนโลยีต่างๆ ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ผ่านกิจกรรมของเครือข่าย ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การให้ความรู้ผ่านเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ การส่งเสริมให้สมาชิกในเครือข่ายมีการสนับสนุนและให้คำปรึกษาซึ่งกันและกัน เป็นต้น
ข้อมูลข่าวประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม โปรดติดต่อ
จรินธร ธนาศิลปกุล (ริน) , ดนุพล อุ่นจินดามณี (โจ)
โทร. 0-2413-0645, 0-2804-3380, 0-1803-3757, 0-1485-5771
Email: rin@letsc.net , joey@letsc.net
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ