ไขรหัสลับมะเร็งร้าย พันธุกรรมทำนายโรค ยุทธศาสตร์ใหม่ในการพิชิตโรคมะเร็ง

ข่าวทั่วไป Tuesday August 22, 2006 10:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและทำลายชีวิตประชากรจำนวนมหาศาลทุกปี ในประเทศไทยมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งและอุบัติการณ์ของโรคยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี จากการศึกษาพบว่ามะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อนมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง และยังไม่ทราบถึงกลไกการเกิดโรคที่แน่ชัด 5-10% เกิดจากพันธุกรรมโดยตรง และอีก 90-95% อาจเกิดจากผลกระทบร่วมกันของสิ่งแวดล้อม และยังเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมักพบว่าเป็นมะเร็งในระยะเกือบสุดท้ายแล้ว เมื่อรักษาด้วยการผ่าตัด รังสีรักษาและเคมีบำบัด ผู้ป่วยมักเสียชีวิตในระยะเวลาไม่นานนัก แต่ถ้าเริ่มให้การรักษาในขณะที่เป็นมะเร็งระยะเริ่มแรกแพทย์จะสามารถรักษาให้หายขาดได้
ดร.ดนัย ทิวาเวช รองเลขาธิการ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สสวทท.) และผู้ชำนาญการพิเศษด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ หัวหน้างานชีววิทยามะเร็ง กลุ่มงานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พร้อมคณะได้ศึกษาค้นคว้าจนพบยุทธศาสตร์ใหม่ในการพิชิตโรคมะเร็ง เป็นการสู้กับมะเร็งเชิงรุกแทนการตั้งรับ และเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่นักวิทยาศาสตร์สามารถสืบค้นได้ว่า ใครคือผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งในอีก 10 ปีข้างหน้า ในอนาคตอันใกล้ ผู้มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ที่เป็นกลุ่มมีรหัสพันธุกรรมเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง จะสามารถป้องกันตนเอง และได้รับการรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ดร.ดนัย กล่าวว่า วิธีการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคมะเร็งที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป และตามด้วยการตรวจอย่างละเอียดเพื่อค้นหาโรคมะเร็งระยะเริ่มแรกในคนที่มีรหัสพันธุกรรมเสี่ยงเหล่านี้ ให้ความรู้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็วทันเหตุการณ์ นับเป็นกลยุทธ์สำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคร้ายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ทั้งนี้ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่นำความรู้ด้านอณูพันธุกรรมมาประยุกต์ใช้ในการทำนายความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ถือเป็นการใช้วิทยาการสมัยใหม่ในการตรวจหาผู้ที่จะเป็นมะเร็งได้โดยขณะยังไม่มีอาการ และตามด้วยการตรวจด้วยเครื่อง PET/CT Scan พร้อมทั้งตรวจพิสูจน์ชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา แล้วให้การรักษาต่อไป ซึ่งจะทำให้การรักษาโรคมะเร็งหายขาดได้สูงมาก สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ควรรับการตรวจ คือ ผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้อยู่ในครอบครัวที่เคยเป็นมะเร็ง นับว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าได้ถึง 10 ปี
บรรยายภาพ
1. ดร.ดนัย ทิวาเวช รองเลขาธิการสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท.) และผู้ชำนาญการพิเศษด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ หัวหน้างานชีววิทยามะเร็ง กลุ่มงานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
2. ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯกำลังให้เจ้าหน้าที่เจาะเลือด เพื่อตรวจคัดกรอง DNAในเม็ดเลือดขาว หาความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ