จากวันวานถึงวันนี้..36 ปีของ APPC แหล่งเรียนรู้ของคนไปรษณีย์เอเชียและแปซิฟิก

ข่าวทั่วไป Wednesday September 6, 2006 13:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--ไปรษณีย์ไทย
วิทยาลัยการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก APPC (Asian Pacific Postal College) ได้จัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมใหญ่ (Congress) ครั้งแรกของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและโอเชียนิก (Asian and Oceanic Postal Union) ที่กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในเดือนธันวาคม 2508 ประเทศสมาชิกได้ร่างเค้าโครงการจัดตั้งโรงเรียนฝึกอบรมการไปรษณีย์ของภูมิภาคแห่งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมวิทยาการทางด้านไปรษณีย์ให้แก่พนักงานระดับกลางซึ่งในเวลานั้นพนักงานเหล่านี้จะถูกส่งไปอบรมยังประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นหลัก ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่สูงมาก
กอปรกับเวลานั้น สหภาพไปรษณีย์สากล (Universal Postal Union) และโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP (United Nations Development Program) ได้ร่วมกันทดลองเปิดหลักสูตรด้านการไปรษณีย์อบรมให้แก่พนักงานระดับกลางของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ในปี 2511 เป็นหลักสูตรด้านการบริหารการไปรษณีย์ซึ่งใช้เวลา 4 เดือนในประเทศไทย สอนโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านไปรษณีย์จากออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง UNDP จึงได้ตกลงให้การสนับสนุนด้านการเงินในการจัดตั้งโรงเรียนในประเทศไทย ภายใต้ความช่วยเหลือของรัฐบาลไทยในเรื่องของสถานที่ตั้ง ซึ่งเป็นอาคารสองชั้นอยู่ติดกับอาคารที่ทำการไปรษณีย์กลาง บางรัก
ในช่วงแรกมีการเปิดหลักสูตรอบรมระยะยาวแบบ 10 และ 20 เดือน โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมชุดแรกจาก ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน จากนั้นได้มีการนำเสนอร่างแผนปฏิบัติการด้านการบริหารงานของโรงเรียนให้ผู้แทนของ UNDP ในประเทศไทยได้พิจารณา ทั้งนี้ นายศรีภูมิ ศุขเนตร รองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขในขณะนั้น นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่
และในฐานะประเทศเจ้าภาพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจึงได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของโรงเรียนและผู้อำนวยการคนแรก ได้แก่ นายสะอ้าน ดิษยบุตร ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านงานไปรษณีย์มากว่า 30 ปี โดยได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2513 มีหน้าที่รับผิดชอบในการประสานงานกับรัฐบาลไทย ดูแลเรื่องการขนส่งและที่พักของผู้เข้ารับการอบรม รวมทั้งการควบคุมดูแลพนักงานฝ่ายไทย
ในเวลานั้น กรมไปรษณีย์โทรเลขได้อนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ของตึกใหม่ 2 ชั้น ติดกับที่ทำการไปรษณีย์กลาง เป็นที่ตั้งของโรงเรียน โดยใช้พื้นที่ชั้นล่างเป็นห้องทำงาน ห้องพิมพ์และจัดทำเอกสาร และพื้นที่ชั้นสอง เป็นห้องเรียน ห้องสมุด และห้องปฏิบัติการด้านภาษา
โครงสร้างด้านการบริหารงานของโรงเรียนขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหาร (Governing Board) ซึ่งในระยะแรกประกอบด้วยตัวแทนของประเทศสมาชิก ผู้อำนวยการสหภาพการไปรษณีย์แห่งเอเชียและโอเชียนิก ผู้แทนของ UNDP ในประเทศไทย ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้จัดการโครงการ (Project Manager) ทั้งนี้ Governing Board จัดประชุมปีละครั้งที่กรุงเทพฯ เพื่อกำหนดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับงบประมาณ นโยบายทั่วไป และตรวจสอบรายงานประจำปี ซึ่งจัดทำโดยผู้อำนวยการของโรงเรียน โดยความเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมาธิการบริหารท้องถิ่น (Local Executive Committee)
Local Executive Committee ประกอบด้วย ตัวแทนของหน่วยงานด้านไปรษณีย์ของรัฐบาลไทย ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้จัดการโครงการ และผู้แทนของ UNDP ในประเทศไทย โดยจะมีการประชุมตามวาระที่จำเป็นเพื่อให้การบริหารงานของโรงเรียนเป็นไปอย่างราบรื่น ในระหว่างช่วงที่ไม่มีการประชุมประจำปีของ Governing Board
การประชุม Governing Board ครั้งแรก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 — 9 กันยายน 2513 ถัดมาอีกหนึ่งวันคือ 10 กันยายน จึงได้มีพิธีเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการใช้ชื่อว่า The Asian-Oceanic Postal Training School (โรงเรียนฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและโอเชียนิก) โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น พลเรือตรีชาลี สินธุโสภณ เป็นประธาน พร้อมกับการเปิดสอนหลักสูตรบริหารด้านการไปรษณีย์หลักสูตรแรก (The First Postal Management Course) เป็นวันแรกเช่นกัน
ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่อีกสองครั้งเป็น ศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asian-Pacific Postal Training Centre: APPTC) ก่อนจะมาเป็น วิทยาลัยการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asian-Pacific Postal College: APPC) ตามลำดับ ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ APPC ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานกว่า 3 ทศวรรษ ซึ่งวันที่ 10 กันยายน 2549 จะเป็นวันครบรอบการจัดตั้ง 36 ปี ของ APPC สถาบันที่ได้อบรมพนักงานการไปรษณีย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาแล้วเป็นจำนวนกว่า 5,000 คน โดยระยะแรกหลักสูตรได้ออกแบบมาให้ใช้เวลาการฝึกอบรมนานถึง 10 — 20 เดือน แต่หลังจากปี 2524 เป็นต้นมา มีการร่นระยะเวลาของหลักสูตรให้น้อยลงเพื่อความคล่องตัวของทั้งผู้เรียนและผู้สอน อีกทั้งเนื้อหาของหลักสูตรได้ขยายครอบคลุมการบริหารงานการไปรษณีย์ที่หลากหลายมากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน
นอกจากการฝึกอบรมให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้แล้ว ยังมีกลุ่มประเทศในภูมิภาคอื่น เช่น แซมเบีย ในทวีปแอฟริกา หรือประเทศในตะวันออกกลาง เช่น คูเวต และกาตาร์ ก็ได้ขอเข้าร่วมรับการอบรม ณ สถาบันแห่งนี้เช่นกัน
วิทยาลัยการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกไม่เพียงแต่จะให้ความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานแก่พนักงานไปรษณีย์เท่านั้น ผู้เข้ารับการอบรมจะมีโอกาสได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ตอบสนองต่อโลกแห่งการแข่งขันทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พวกเขาซึ่งเป็นเสาหลักในอนาคตให้แก่การไปรษณีย์ประเทศของตนหลังจากผ่านหลักสูตร APPC แล้ว ก็เชื่อได้ว่าจะมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นสำหรับการแข่งขันในตลาดที่มีการเปิดเสรีไปรษณีย์ในวันข้างหน้า
APPC ในวันนี้ภายใต้การนำของนายสมชัย เรี่ยวพานิชกุล อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กำลังขับเคลื่อนกิจกรรมด้านการเรียนการสอนให้พัฒนารุดหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกไปรษณีย์ ตลอดจนขยายและพัฒนาบทบาทของการเป็นแหล่งเรียนรู้และเสริมสร้างทักษะที่เข้มแข็งให้แก่บุคลากรด้านไปรษณีย์ในภูมิภาคนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ