กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--สหมงคลฟิล์ม
สถาบันที่คุณเคยเรียน มีเรื่องเล่าชวนขนหัวลุกหรือไม่?
หลายสถานที่... มีตำนานให้กล่าวขวัญ
หลายคณะ... มีความเชื่อที่วิทยาศาสตร์ยังคงพิสูจน์ไม่ได้
ในความเงียบสนิท... หากเงี่ยหูฟัง
อาจได้ยินเสียงกรีดร้องโหยหวนแอบซ่อนอยู่
ในความมืดมิด... หากจ้องมองให้ดี
อาจมองเห็นสายตาของบางสิ่งจับจ้องคุณอยู่
ทุกเรื่องที่เล่าขาน...เป็นแค่ “ตำนาน” หรือ “ความจริง” ที่เหนือการพิสูจน์ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ไม่แน่จริงอย่าท้า ไม่กล้าอย่าสัมผัส ลงทะเบียนเตรียมรับความผวา “มหา’ลัยสยองขวัญ” 22 ตุลาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
กำหนดฉาย 22 ตุลาคม 2552
แนวภาพยนตร์ สยองขวัญ
บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทดำเนินงานสร้าง บาแรมยู
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมงานสร้าง ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์, บัณฑิต ทองดี
ดำเนินงานสร้าง ศิตา วอสเบียน
กำกับภาพยนตร์ บรรจง สินธนมงคล, สุทธิพร ทับทิม
เรื่อง/บทภาพยนตร์ บรรจง สินธนมงคล, สุทธิพร ทับทิม
กำกับภาพ ปราเมศร์ ชาญกระแส
กำกับศิล์ป เต้ย จารุวาทีกุล
ลำดับภาพ คงศักดิ์ งามพรชัย
ออกแบบเครื่องแต่งกาย ปัญชลี ปิ่นทอง
ฟิล์มแล็บ บริษัท สยามพัฒนาฟิล์ม
บันทึกเสียง ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา
ดนตรีประกอบ คณิศร พ่วงจีน
นำแสดงโดย ปานวาด เหมมณี
แอนนา รีส
อาชิรญาณ์ ภีระภัทรกุญช์ชญา
ภัณฑิลา ฟูกลิ่น
อธิศ อมรเวช
เกร็ดภาพยนตร์
สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล และ บาแรมยู ขอต้อนรับทุกนักศึกษาใหม่และเก่าทุกท่าน เข้าสู่เรื่องเล่าสุดสยองแห่งสถาบัน ตำนานจริงที่เล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น ไม่มีใครกล้าลองดี ไม่มีใครกล้าท้าทายความหลอน ความเฮี้ยนที่คุณจะจดจำแบบไม่มีวันลืม ผลงานการกำกับของร่วมกันของ “บรรจง สินธนมงคลกุล” และ “สุทธิพร ทับทิม” ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังระดับคุณภาพอย่าง “Goal Club เกมล้มโต๊ะ”, “Fake โกหกทั้งเพ”, “แหยมยโสธร” “ว้อ หมาบ้ามหาสนุก”, “ปอบ หวีด สยอง”, “Sexphone คลื่นเหงา สาวข้างบ้าน“, “มนุษย์เหล็กไหล”, “COLIC เด็กเห็นผี”, “เฮี้ยน” โดยได้เสาะหาเรื่องราวสุดสะพรึงกลัวจากหลากหลายสถาบัน ที่ล้วนแล้วแต่มีตำนานเล่าขานอยู่แทบทุกที่ จนมาเป็นภาพยนตร์สุดเฮี้ยนที่ชวนผวากันข้ามรุ่น หลอมรวมกันจนเป็น “มหา’ลัยสยองขวัญ” หนังผีสุดสยองที่ขอบอกว่านิสิตเก่าและใหม่ทุกคนไม่ควรพลาด ซึ่งงานนี้ได้นักแสดงสาวสุดเซ็กซี่ “เป้ย-ปานวาด เหมมณี” มาประเดิมเล่นหนังกับค่ายใบโพธิ์ในลุคที่ทุกคนต้องยังไม่เคยเห็น ร่วมด้วยสาวน้อยลูกครึ่ง “แอนนา รีส” (ปืนใหญ่จอมสลัด), “หนูจ๋า-อาชิรญาณ์ ภีระภัทร์กุญช์ชญา” (มนุษย์เหล็กไหล, หลวงพี่กับผีขนุน), “แอร์-ภัณฑิลา ฟูกลิ่น” (รับน้องสยองขวัญ, พิธีกรรายการสตรอเบอรี่ชีสเค้ก) และนักแสดงหนุ่มหน้าใหม่ “อธิศ อมรเวช” (มือกีตาร์ The Mousses วงน้องใหม่ของค่ายแกรมมี่) โดยทั้งหมดจะมาร่วมกันท้าให้ทุกคน ลงทะเบียนเตรียมรับความผวา “มหา’ลัยสยองขวัญ” 22 ตุลาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
เรื่องย่อ
หมวย นักศึกษาสาว ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมในการฝึกงานโดยตัดสินใจเลือกที่จะเข้ามากรุงเทพและทำงานกับมูลนิธิกู้ภัย กลับต้องเจอเรื่องผวาสั่นประสาทตั้งแต่คืนแรกในการปฏิบัติงาน เมื่อเธอได้รับแจ้งเหตุให้ไปในมหา’ลัยแห่งหนึ่ง เมื่อหนุ่มสาวสุดซ่าอยากลองดีกับศาลในตำนานที่ไม่มีใครกล้าหือ จนเกิดเรื่องราวไม่คาดฝัน เพราะนั่นคือศาลในห้องน้ำหญิงที่ได้รับการดูแลอย่างดีแต่ไม่มีใครย่างกรายเข้าใกล้ เพราะในห้องน้ำมีศาลตั้งอยู่ บางคนว่าเป็นศาลนางไม้ บางคนว่าเป็นศาลของนักศึกษาหญิงที่ผูกคอตาย...
ในคืนนั้นเองหมวยยังมีโอกาสช่วย นกน้อย นักศึกษาหญิงคนหนึ่งที่ถูกรุ่นพี่เหม็นขี้หน้า ข้อหาไม่ยอมทำตามคำสั่ง เลยถูกกลั่นแกล้งให้ไปติดอยู่ในลิฟท์สุดเฮี้ยนเพียงลำพัง ลิฟท์ที่มีนักศึกษาถูกยิงกราดก็ไม่สามารถล้างคราบเลือดสีแดงออกได้ จึงต้องทาสีทั้งลิฟท์เป็นสีแดงทั้งหมด มักมีคนได้ยินเสียงเคาะจากในลิฟท์ แต่เมื่อลิฟท์เปิดกลับไม่พบใครอยู่ บางครั้งเมื่อเข้าลิฟท์คนเดียวไม่นานก็พบว่ามีคนมากมายมายืนเป็นเพื่อนด้วย….
เพียงวันถัดไปเหตุการณ์ประหลาดก็เกิดขึ้นอีกเมื่อ ทีมกู้ภัยของหมวยจำเป็นต้องส่งศพหญิงสาวนิรนามที่ถูกฆ่าตายแล้วถูกโยนศพลงน้ำ ไปที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด นักศึกษาแพทย์ที่ฝันอยากจะเป็นทันตแพทย์มือหนึ่งที่กลัวผีจนขึ้นสมองถูกอาจารย์มอบหมายให้มาเฝ้าห้องดับจิต และคืนนั้นเขาจะต้องเฝ้าศพหญิงสาวนิรนามที่ถูกฆ่าตายอย่างทารุณเพียงคนเดียว...
เรื่องราวสุดผวายังคงวนเวียนอยู่กับหมวย แต่คราวนี้มันกลับพุ่งเป้ามาที่คนใกล้ตัวของเธอ นั่นคือ สา ซึ่งอยู่ในหอพักที่มีเรื่องเล่าสุดสยอง ทำให้หมวยได้พบกับความจริงบางอย่างที่เกิดขึ้น ความจริง...ที่เธอมิอาจลืม
ได้เวลาเปิดตำนาน...
ว่ากันว่าเรื่องราวสยองขวัญหรือเรื่องเล่าสุดเฮี้ยน ที่กลายเป็นตำนานที่ทุกคนเคยได้ยินได้ฟังกันรุ่นต่อรุ่น มักเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ แม้แต่สถานที่ที่เต็มไปด้วยสีสันและผู้คน...ที่ถูกเรียกว่า “มหาวิทยาลัย” ใครจะรู้ว่าหลังพระอาทิตย์ตกดิน หากคุณลองมองให้ดี ในมุมต่างๆ ของสถาบันเหล่านี้ อาจมีสิ่งสุดสยองซ่อนอยู่ในเงามืดที่คุณไม่เคยรู้ ทั้งความหลอน...ความผวา...ความน่าสะพรึงกลัว พร้อมร่องรอยความสยองที่ไม่เคยลบเลือน กลายเป็นตำนานที่รุ่นพี่รุ่นน้องต่างพากันเล่าขาน และจุดนี้เองจึงเป็นที่มาของภาพยนตร์สยองขวัญที่หยิบเอาตำนานที่ว่ากันว่าฮ็อตและเฮี้ยนที่สุดมาหลอมรวมเป็น “มหา’ลัยสยองขวัญ” ซึ่งถือเป็นการรวมเอาตำนานเฮี้ยนในรั้วมหาลัยที่มีอยู่จริงมาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มครั้งแรก
ซึ่งผู้ที่จะมารับหน้าที่หลอมรวมเอาตำนานสยองมาถ่ายทอดให้คุณผวาในครั้งนี้ ก็ได้สองผู้กำกับที่คลุกคลีอยู่ในวงการภาพยนตร์มานานอย่าง “บรรจง สินธนมงคลกุล” ที่เคยผ่านงานเบื้องหลังมาอย่างโชกโชน และเพิ่งมีงานกำกับเต็มตัวเรื่องแรกคือ “ว้อ...หมาบ้ามหาสนุก” ซึ่งงานนี้เขาแท๊คทีมกับเพื่อนสนิทที่ร่วมหัวจมท้ายกันมานานอย่าง “สุทธิพร ทับทิม” มือตัดต่อแถวหน้าของวงการ โดย จง-บรรจง พูดถึงที่มาของโปรเจ็คต์นี้ว่า
“คือแรกเริ่มเดิมทีผมกับจักรรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ ม.กรุงเทพ ก็มีความคิดร่วมกันว่าอยากจะทำหนังร่วมกัน แล้วสมัยนั้นเราก็มีประเด็นหนึ่งที่เราสนใจ คือมาจากการที่คือ ทุกสถาบันมีเรื่องเล่า ทุกสถาบันมีตำนาน มีทั้งเรื่องตลก เรื่องขำขัน แล้วก็เรื่องผี ซึ่งพวกเราอยากเอาตำนานที่น่ากลัวตำนานที่สยองมาทำเป็นหนัง คือเป็นความตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสได้เป็นผู้กำกับก็อยากเอาเรื่องนี้มาทำเป็นหนัง แต่ด้วยอะไรหลายๆอย่าง กว่าที่เราจะได้มาทำมันจริงๆ ก็นานเหมือนกัน คือมาประจวบเหมาะตอนที่ได้เจอกับพี่ปรัช (ปรัชญา ปิ่นแก้ว) ซึ่งแกมีไอเดียที่จะเอาเรื่องตำนานผีในมหา’ลัยมาทำเป็นหนังเหมือนกัน พี่ปรัชก็เลยไฟเขียวให้ทำ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของมหา’ลัยสยองขวัญ”
เมื่อได้ไฟเขียวในการลงมือกำกับความสยองในครั้งนี้ ก็ถึงขั้นตอนของการเลือกเอาตำนานที่ขึ้นชื่อเรื่องความเฮี้ยน และเป็นที่กล่าวขานกันมากที่สุด ซึ่ง “จักร-สุทธิพร ทับทิม” พูดถึงการคัดสรรเลือกเอาตำนานสยองที่มีกว่าร้อยเรื่องว่า
“เราก็เลือกดูว่าเรื่องไหนคนรู้จักเยอะที่สุด ทั้งถามพี่ๆ น้องๆ หรือทางอินเตอร์เน็ต แล้วก็พยายามหาจุดกลางว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร คือพยายามหาจุดที่ตรงกันมากที่สุด คือถ้าพูดถึงอันนี้นะ คนจะนึกถึงเรื่องนี้ทันที ก็จะพยายามจับจุดที่โดดเด่นตรงนั้นมา คิดจากแกนก่อนเลยว่า เราพยายามจะทำหนังสยองขวัญที่มาจากความน่ากลัว ยิ่งประกอบกับการเอาเรื่องราวของมหา’ลัยดังๆ มาทำซึ่งคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว ตรงนั้นถือเป็นความกดดันกับสิ่งที่คนรู้อยู่แล้วแล้วต้องพยายามให้เขาตื่นเต้นให้ได้ กับอีกสิ่งที่เรากดดันคือการรวมเอาหลายๆ เรื่องมารวมกันแล้วให้มีรสชาติน่าสนใจ แล้วก็ไม่อยากทำให้ตรงตามต้นฉบับเป๊ะ เพราะคนดูคงไม่อยากดูสิ่งที่รู้อยู่แล้ว ก็เลยเอาโครงเรื่องที่เด่นๆ ยืนไว้ แล้วเราก็ใส่เรื่องราวเข้าไปใหม่ ทำเป็นหนังในแบบของเรา โดยที่ไม่ละทิ้งจุดที่เป็นเสน่ห์ ซึ่งเราก็เสริมจุดที่น่าสนใจลงไปด้วย”
ซึ่งตำนานที่ถูกหลอมรวมอยู่ในเรื่องนี้ ได้มีการรีเสิร์ชจากอินเตอร์เน็ตและจากประสบการณ์ของเหล่านิสิตนักศึกษาทั้งศิษย์เก่าและปัจจุบัน จนกลายมาเป็นสี่ตำนานที่ถูกหลอมรวมอยู่ภายใต้เรื่องราวและการดำเนินเรื่องใหม่ที่เพิ่มดีกรีความสยองที่รับรองว่าแตกต่างจากเรื่องเล่าที่คุณได้ยินมาเพียง 5 นาที อย่างแน่นอน
“คือในมหา’ลัยสยองขวัญก็จะมีเรื่องราวตำนานต่างๆ รวมอยู่ในนั้น ทั้งเรื่องของศาลในห้องน้ำหญิง ซึ่งตอนไปรีเสิร์ชสถานที่จริงก็เจอศาลอยู่ในนั้นจริงๆ อย่างเรื่องของศพหายก็เป็นเรื่องราวที่เด็กเรียนแพทย์ต้องเจออยู่แล้ว อย่างเรื่องลิฟท์แดงก็เป็นเรื่องที่มีประวัติศาสตร์ แล้วก็ทำยากที่สุด ค่อนข้างอ่อนไหวหน่อยเรื่องนี้ หรือตำนานป๊อก...ป๊อก...ครืด ซึ่งทุกคนมีจินตนาการในหัวอยู่แล้ว อยู่ที่ว่านึกเอาไว้ยังไง แล้วเราก็ใส่เรื่องราวและสถานการณ์รวมไปถึงตัวละคร คือเราจะเอาตำนานทั้งหมดมาเล่าเรื่องในแบบของเรา
เป็นเรื่องราวของ หมวย ผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งรับบทโดยคุณเป้ย คุณเป้ยคือนักศึกษาฝึกงาน ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ก็เข้ามาฝึกงานทีมูลนิธิกู้ภัย ก็จะต้องตระเวนตามท้องถนนยามค่ำคืน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุและช่วยเหตุการ์ณต่างๆ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในสถาบันต่างๆ ก็เลยทำให้เจอเรื่องราวสยองขวัญมากมายเหมือนเป็นตัวนำพาคนดูเข้าไปพบกับความน่ากลัวทั้งหมด ซึ่งเนื้อในของเรื่องราวความน่ากลัวจะแฝงเอาตำนานที่เราเลือกมาอยู่ในนั้น”
การนำเอาเรื่องเล่าและจินตนาการมาสร้างเป็นภาพในหนัง ถือเป็นโจทย์ที่สองผู้กำกับต้องมีการทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อให้ทุกองค์ประกอบถูกต้องตามสถานที่ที่เกิดเรื่องราวตามตำนานต่างๆ ซึ่ง บรรจง พูดถึงการแก้โจทย์นี้ว่า
“คือนอกจากจะทำให้ภาพในจินตนาการของทุกคน ภาพที่คาดหวังไว้เป็นจริงแล้วนั้น ก็เริ่มจากการหาโลเคชั่นให้มันใกล้เคียง จะเล่ายังไงให้คนดูเชื่อ เราต้องเน้นเรื่องของการรีเสิร์ช คือเราต้องการทำให้เหมือนภาพที่เราวางไว้ ความรู้สึกที่เราได้อ่านบท คือการเซ็ตสถานที่ เซ็ตบรรยากาศ ให้เหมือนของจริงมันมีความยากอยู่แล้ว คือมันยากตั้งแต่การหาโลเคชั่น เพราะสถานที่จริงเขาไม่ให้ไปถ่าย คือเรื่องราวในตำนานของเราจะไปเกี่ยวกับสถาบันที่เก่าแก่ คือมันมีเอกลักษณ์อยู่ เราก็ต้องไปคิดว่าจะหาอะไร จะใส่อะไรเข้าไป จะเติมอะไรเข้าไป เพื่อให้มันดูเด่นตรงนี้คือความยาก”
งานนี้ 2 ผู้กำกับก็ขอการันตีถึงความผวาที่จะท้าทายต่อมประสาทความกลัวของคุณ และชวนให้มาร่วมกันเปิดตำนานความสยองที่คุณเคยได้ยินได้ฟังกันมาว่า
“หลายๆคนเคยรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ ที่พากันถกเถียงว่าเรื่องจริงมันเป็นยังไง วันนี้เราเอาเรื่องเล่าเหล่านี้มาหลอมรวมเป็นภาพยนตร์ อาจจะไม่ตรงกับที่คิด แต่เราหวังว่าอรรถรสที่เพิ่มเติมเข้าไปจะทำให้ทุกท่านพอใจ” (บรรจง)
“อย่าคาดเดาครับ เพราะมันไม่ใช่อย่างที่คุณคิด ต้องไปหาคำตอบและเติมเต็มจินตนาการในภาพยนตร์เรื่องนี้กัน” (สุทธิพร)
เมื่อตำนานมีชีวิต...
ปานวาด เหมมณี รับบทเป็น หมวย
หมวย เป็นนักศึกษาจากภาคเหนือที่เข้ามาฝึกงานอยู่กับมูลนิธิกู้ภัย ที่ดูภายนอกเป็นสาวห้าว มั่นใจในตัวเอง แต่ภายในใจเหมือนมีเรื่องราวอะไรบางอย่างเกาะกินอยู่ภายในตัวของเธอ ซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับความน่าสะพรึงกลัวที่เธอจะต้องเจอในมหา’ลัยสุดสยองนี้ก็เป็นได้
ผลงานภาพยนตร์ที่ผ่านมา หอแต๋วแตก (พ.ศ.2550), บางกอกแดนเจอรัส (พ.ศ.2551), มหา’ลัยสยองขวัญ (พ.ศ.2552)
ใน “มหา’ลัยสยองขวัญ” ที่รวมเอาตำนานเรื่องเล่าสุดเฮี้ยนมาผูกเป็นเรื่องราวสุดผวาที่จะทำให้คุณลืมทุกเรื่องเล่าสุดผวาที่คุณเคยได้ยินมา ซึ่งงานนี้สองผู้กำกับก็ได้ใส่ตัวละครเข้าไปในแต่ละเรื่องราว เพื่อให้มีรสชาติความสยองมากกว่าเรื่องเล่าที่คุณเคยได้ยินมาเพียง 5 นาที ซึ่งงานนี้ก็ได้ทีมนักแสดงที่มีจะเข้ามาเติมเต็มทุกตำนานให้มีความน่าสะพรึงกลัวและน่าติดตามยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในนั้นก็ได้นักแสดงสาวสุดเซ็กซี่ “เป้ย-ปานวาด เหมมณี” มาสวมบทบาทตัวละครสำคัญ ที่จะเป็นผู้นำพาทุกท่านเข้าไปร่วมเปิดตำนานพร้อมกันในหนังเรื่องนี้ ซึ่ง 2 ผู้กำกับพูดถึงตัวละครตัวนี้ว่า
“เป้ยถือเป็นตัวละครสำคัญ คือบทหมวยเนี่ยเหมือนจะง่ายๆสบายๆ แต่พอดูไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับคนดูจะรู้สึกอะไรบางอย่าง ด้วยแววตา ด้วยท่าทาง ก็จะค่อนข้างเปลี่ยนจากทุกคาแรกเตอร์ที่เราเคยเห็นเป้ยมา ก็ต้องปรับและทำความเข้าใจกันพอสมควร แล้ววิธีการเล่นมันจะเป็นอย่างไร เพราะเราไม่อยากให้เป้ยเล่นเป็นเป้ยนะ คือเขามีความตั้งใจมาก คือเขาบอกว่าเรื่องนี้ เขาไม่ได้อยากเล่นเป็นสาวเซ็กซี่ เหมือนกับภาพที่หลายๆ คนคงเคยเห็น คือเรื่องนี้ต้องมาใส่ชุดปอเต๊กตึ๊ง ซึ่งเป้ยก็มีความตั้งใจและทำการบ้านมาเพื่อเล่นบทนี้โดยเฉพาะ” ซึ่ง สุทธิพร เสริมว่า “คือเราเชื่อว่าคนดูจะไม่เห็นเป้ยในแบบที่เห็นในละครหรือสื่อต่างๆ เพราะตอนได้เป้ยมาเล่น เราจะคุยกันตลอดว่าไม่ให้คนดูติดภาพจากละคร คือเหมือนกับว่าจะคุยกับน้องยังไง สุดท้ายเขาก็มีการปรับตัว แล้วก็ทุ่มเทเพื่อบทบาทที่ตัวเองได้รับมาก แล้วน้องเขาจะมาถามว่าพี่ได้มั้ยๆ ทุกครั้งที่คัท คือเขาจะกังวลมาก กลัวจะออกมาไม่ดี คือเขาอยากให้คนเห็นภาพเขาในมุมใหม่ คือเขาจะตั้งใจมาก”
ส่วนทางด้านสาวเป้ยก็พูดถึงบทบาทสำคัญที่ได้รับในเรื่องนี้ ซึ่งถือเป็นผลงานเรื่องแรกที่เธอร่วมงานกับทางสหมงคลฟิล์มว่า “ก็ถือเป็นการร่วมงานกันเป็นครั้งแรกกับทางสหมงคลฟิล์ม พอได้อ่านบทแล้วก็รู้สึกชอบแล้วก็อยากเล่นคือมีพล็อตกับไอเดียที่น่าสนใจ แบบว่าทุกคนก็เคยได้ยินเรื่องเล่า ได้ยินตำนานของมหา’ลัยต่างๆ แล้วเรื่องนี้เขาเอามาโยงเป็นหนังหนึ่งเรื่อง แล้วก็อีกอย่างถือเป็นการพลิกคาแรกเตอร์ของเป้ยให้เป็นอีกลุคหนึ่ง ก็เป็นการที่จะแสดงให้เห็นอีกด้านหนึ่งของเป้ย ก็เป็นเป้ยที่สวมบทเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งอยากให้มาลองดูกัน”
เคยมีคนพูดว่า...
“ปีพ.ศ 2531 นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของมหา’ลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ได้ขอลาออกอย่างกะทันหัน หลังจากถูกพบนอนหมดสติ ในลิฟท์เก่าตัวหนึ่ง...ซึ่งไม่ได้รับการยืนยันว่าเธอเจออะไรในลิฟท์”
อาชิรญาณ์ ภีระภัทร์กุญช์ชญา รับบทเป็น นกน้อย
นกน้อยเป็นคนรุ่นใหม่ เชื่อมั่นในตัวเองไม่เคยดูถูกใครแต่ก็ไม่ยอมให้ใครมาดูถูก เมื่อเธอต้องเข้าไปเรียนที่นั้นจึงถูกรุ่นพี่แอนตี้ ด้วยฐานะและเรื่องราวบางอย่างในตัวเธอ ทำให้โดนพูดจาหาเรื่องตลอดเวลา รวมไปถึงการแกล้งให้เธอต้องไปติดอยู่ในลิฟท์สุดเฮี้ยนของสถาบันแห่งนี้เพียงลำพัง
ผลงานภาพยนตร์ที่ผ่านมา มนุษย์เหล็กไหล (2549), คนไฟลุก (2551), หลวงพี่กับผีขนุน (2552), มหา’ลัยสยองขวัญ (2552)
“ลิฟท์แดง” คือหนึ่งในตำนานเฮี้ยนชื่อดัง ที่นิสิตเก่าและใหม่คงเคยได้ยินกันมาเป็นอย่างดี โดยเป็นตำนานที่ว่าไว้ว่า หลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดปี พ.ศ. 2519 ลิฟท์ที่มีนักศึกษาถูกยิงกราดก็ไม่สามารถล้างคราบเลือดสีแดงออกได้ จึงต้องทาสีทั้งลิฟท์เป็นสีแดงทั้งหมด มักมีคนได้ยินเสียงเคาะจากในลิฟท์ แต่เมื่อลิฟท์เปิดกลับไม่พบใครอยู่ บางครั้งเมื่อเข้าลิฟท์คนเดียวไม่นานก็พบว่ามีคนมากมายยืนอยู่ด้วย จนเป็นที่กล่าวขานกันมารุ่นสู่รุ่นมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งตำนานลิฟท์แดงนี้ก็ได้นักแสดงสาววัยรุ่น “หนูจ๋า-อาชิรญาณ์ ภีระภัทร์กุญช์ชญา” มาสวมบทตัวละครสำคัญในการเปิดตำนานลิฟท์อาถรรพ์สุดเฮี้ยนนี้
“ในเรื่องราวของตำนานลิฟท์แดงคนที่รับบทเป็นนกน้อยก็คือหนูจ๋า ก็ต้องมารับบทเป็นลูกคุณหนู ซึ่งต้องมาแบกภาระแบกความกดดันหลายอย่าง ตอนแรกหนูจ๋าก็ยังกังวลอยู่บ้างว่าจะแสดงได้มั้ย แต่หนูจ๋าเป็นคนถึงไหนถึงกัน” บรรจงพูดถึงหนูจ๋าที่มารับบทนกน้อย ก่อนที่สุทธิพรจะกล่าวเสริมว่า “คือตัวละครนกน้อยจะดีเทลเยอะ คือมันเป็นเรื่องของลูกคุณหนูที่มีอีโก้หน่อยๆ วันนึงโดนรุ่นพี่ทำลายอีโก้ ก็เลยมีการต่อต้านรุ่นพี่ คือคิดมาตลอดว่าตัวเองไม่ผิด แล้วคือจ๋าจะมีซีนดราม่าตลอดเวลา ต้องเจอทั้งความบีบคั้นทางอารมณ์ของผี แล้วก็ของคน คือตัวละครนกน้อยจะต้องเจอทั้งเรื่องราวที่มาที่ไป และอาถรรพ์ความเฮี้ยนของลิฟท์ตัวนี้ ”
ทางด้าน หนูจ๋า-อาชิรญาณ์ ก็พูดถึงตำนานลิฟท์แดงที่เคยได้ยินได้ฟังมากับตัวว่า
“คือเรื่องลิฟท์แดงเนี่ยจะมีหลายเรื่องเล่ามาก อย่างที่เคยได้ยินคือเวลาที่มีนักศึกษาเดินเข้าไปในลิฟท์ แล้วจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ยืนอยู่คนเดียว เหมือนมีคนยืนล้อมรอบและจ้องมองเราอยู่ คือมันเป็นความกดดันที่เราสัมผัสได้ เพราะถ้าเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไร แล้วก็มีนักศึกษาที่อยู่ในลิฟท์แดงเหมือนกัน ด้วยความที่ยืนอยู่คนเดียวระหว่างขึ้นลิฟท์ แล้วระหว่างที่ยืนสางผมตัวเองอยู่ รู้สึกว่ามันยาวๆ ขึ้นเรื่อยๆ แล้วหลุดออกมาเป็นกระจุก แค่คิดตามก็สยองแล้วค่ะ”
ใคร...ใคร...ก็รู้ว่า...
“ไม่มีนักศึกษาหญิงคนใดกล้าใช้ห้องน้ำชั้น 5 ของตึกนี้ ไม่มีใครเคยเห็นห้องน้ำนี้ถูกปิดไฟ และไม่มีใครกล้าตั้งคำถามถึงศาลที่ตั้งอยู่หน้าห้องน้ำด้านในสุด”
ภัณฑิลา ฟูกลิ่น รับบทเป็น ป้อน
ป้อนเป็นสาวมั่นสุดซ่า เธอใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง แต่แล้วคืนหนึ่งเมื่อรู้ความจริงจากแฟนหนุ่มว่าเงินที่เอามาเลี้ยง และซื้อของให้ ได้มาจากการขายยาของพวกมาเฟีย ทำให้ป้อนถูกลากออกมาจากโลกของวัยรุ่นธรรมดาๆ คนหนึ่ง เข้าสู่โลกของอาชญากรและโลกของวิญญาณอย่างเลี่ยงไม่ได้
ผลงานภาพยนตร์ที่ผ่านมา รับน้องสยองขวัญ (พ.ศ.2549)
อธิศ อมรเวช รับบทเป็น จิมมี่
นักศึกษาหนุ่มท่าทางมีอนาคตไกล เพียงแต่ว่าเขาเลือกที่จะทิ้งอนาคตซะตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ด้วยการขายยาและแทงพนันบอลจนวันหนึ่งเมื่อเขาตัดสินใจอมเงินของมาเฟียขายยาและถูกจับได้ เรื่องไม่จบอย่างดราม่าแอ็คชั่น เพราะเขาต้องพานักเลงที่ขึ้นชื่อว่าโหดหินที่สุดไปยังที่ที่ถูกเรียกว่ามีผีดุที่สุด
“ศาลในห้องน้ำหญิง” ตำนานนี้นิสิตนักศึกษาแถบบริเวณชานเมืองคงคุ้นหูกันเป็นอย่างดี ในตำนานว่าชั้น 5 ของตึกวิทยาศาสตร์ในสถาบันแห่งนี้ มีห้องน้ำหญิงที่ได้รับการดูแลอย่างดีแต่ไม่มีใครย่างกรายเข้าใกล้ เพราะในห้องน้ำมีศาลตั้งอยู่ บางคนว่าเป็นศาลนางไม้ บางคนว่าเป็นศาลของนักศึกษาหญิงที่ผูกคอตาย ซึ่งคอยออกมาหลอกหลอนนักศึกษาที่เข้าใกล้บริเวณนั้น จนถึงขนาดไม่มีใครกล้าปิดไฟ เพราะมักจะมีคนเจอดีทุกครั้งที่มีคนปิดไฟ ซึ่งในเวอร์ชั่นมหาลัยสยองขวัญตำนานนี้ก็ได้ถูกดำเนินเรื่องโดย 2 นักแสดงวัยรุ่นอย่าง “ภัณฑิลา ฟูกลิ่น” สาวน้อยที่โด่งดังจากรายการ “สตรอเบอรรี่ชีสเค้ก” และหนุ่มนักดนตรีแห่งค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่โดดมามีผลงานภาพยนตร์ครั้งแรกอย่าง “จ๊ะ-อธิศ อมรเวช” มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดตำนานครั้งนี้
บรรจงอธิบายว่า “ตำนานในศาลห้องน้ำหญิง ก็จะมี แอร์กับจ๊ะ ที่รับบทเป็นป้อนกับจิมมี่ ที่เป็นตัวแทนของนักศึกษาในสมัยนี้ โอเคมีแฟน ก็ต้องมีเที่ยว มีสำมะเลเทเมาบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดในสังคมนะ คือเขาเข้าไปพัวพันกับยาเสพติด กับพวกมิจฉาชีพ ก็เลยทำให้ตัวเองกับแฟนเข้าไปเกี่ยวข้องกับความเฮี้ยนของศาลในห้องน้ำหญิง คืออันนี้จะออกแนวคนลองดีแล้วได้เจอกับผลที่ตัวเองทำ” ก่อนจะถึงสุทธิพรจะพูดถึง 2 นักแสดงในตำนานนี้ว่า “อย่างจ๊ะเนี่ยเป็นนักดนตรี ซึ่งตอนนี้เพลงเค้าน่าจะดังแล้ว (หัวเราะ) แต่ตอนที่ถ่ายทำเนี่ย เขายังไม่เคยเล่นหนัง เป็นคนค่อนข้างเงียบ แต่คาแรกเตอร์ตัวเขาดูน่าสนใจ ก็ทำงานกันสนุก เพราะเขาตั้งใจมาก ส่วนแอร์เนี่ย เห็นน้องเขามาตั้งนานแล้ว ถือว่าเป็นนักแสดงที่ขยันขันแข็ง แล้วเรื่องนี้ถ่ายถึงเช้ากันทุกคิวเลย จริงๆ แอร์เนี่ยเราชอบตั้งแต่เทปแคสแล้วนะ คือบทที่น้องเขาเล่นเขาค่อนข้างเป็นสาวซ่า ซึ่งเราก็กังวลว่าจะได้มั้ย เพราะตัวจริงเขาเป็นน้องเล็กน่ารัก พอจ๊ะกับแอร์มาจับคู่กัน อีกคนจะนิ่งอีกคนจะออกอาการหน่อย ทุกอย่างก็เลยลงตัว”
เขาว่ากันว่า...
“ทุกๆ เทอมนักศึกษาแพทย์ที่อยู่เวรในห้องนี้เพียงลำพัง ต้องเจอเหตุการณ์ ‘ศพหาย’ ซึ่งน่าแปลกที่ไร้ร่องรอยบุคคลอื่น
...เหมือนกับศพหายไปได้เอง”
ปองสิชฌ์ พิศิษฐการ รับบทเป็น เสริฐ
ปริญญา งามวงศ์วาน รับบทเป็น โจ๊ก (โกลคลับ เกมล้มโต๊ะ, อหิงสา จิกโก๋มีกรรม)
ประเสริฐ เป็นนักศึกษาแพทย์ที่กลัวผีเข้ากระดูกดำ เสริฐพยายามปกปิดความกลัวนี้ไม่ให้ใครรู้ แต่ความลับเดียวของเขากลับอยู่ในมือของ โจ๊ก เพื่อนคนสุดท้ายในห้องที่ประเสริฐอยากจะคุยด้วย และความซวยก็มาเยือนเมื่อเขาต้องไเฝ้ายามหน้าห้องดับจิตในคืนที่มีศพที่ถูกลือกันว่าเฮี้ยนสุดๆ
ตำนาน “ห้องดับจิต” หรือ “ศพหาย” คือตำนานที่นักศึกษาแพทย์ทุกคนต้องเคยได้ยินกิตติศัพท์ที่ไม่ว่ารุ่นพี่รุ่นน้องหรือรุ่นไหนต้องมีเรื่องราวสุดสยองนี้อยู่ในหัวกันทุกคน โดยตำนานเล่าว่า ในยามค่ำคืนนอกจากที่นักศึกษาแพทย์จะพบความสยองจากพยาบาลที่ออกมาแหวะอกควักเครื่องในโชว์เพื่อสอนกายวิภาคจนเลือดแดงเปรอะเปื้อนทั้งลิฟท์ยามค่ำคืนแล้ว ยังต้องเสี่ยงกับถูกหลอกหลอนไม่จบสิ้น กับการขยับตัวได้เองของศพในห้องดับจิตที่มีแต่ร่าง...ไร้วิญญาณ ซึ่ง 2 ผู้กำกับพูดถึงเรื่องราวและตัวละครที่อยู่ในตำนานนี้ว่า
บรรจงเล่าว่า “เรื่องราวของห้องดับจิต เรื่องของนักศึกษาแพทย์ที่ต้องไปพัวพันกับศพโดยไม่ได้ตั้งใจ คือเป็นเรื่องของนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งที่เค้ากลัวผีแต่ไม่มีใครรู้ คือโจทย์คือคนที่กลัวผีมากที่สุด ต้องไปอยู่ในห้องดับจิตคนเดียว ต้องเจอกับศพที่เฮี้ยนที่สุด”
ก่อนที่สุทธิพรจะพูดถึง 2 ตัวละครในตำนานนี้ว่า “คือเป็นเรื่องของเพื่อนสองคน คนหนึ่งดูซ่ามาก ส่วนอีกคนหนึ่งเหมือนเด็กเรียน มีปมหน่อยๆ คือปิดความลับที่ตัวเองกลัวผีไว้ แต่ดันมีเพื่อนสนิทเป็นคนแสบๆคนหนึ่ง จะคอยกลั่นแกล้งตลอด แล้วตัวละครสองคนที่เราเลือกมา ก็มีอิคคิว (จากโฆษณา ขนมเวเฟอร์วอยซ์) แล้วก็ อ็อฟ (นักแสดงจากโกลคลับ อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม) คือตอนแรกเขาไม่รู้จักกันเลยนะ แต่มันเหมือนกับเคมีที่มันลงตัวกัน พอมาเล่นด้วยกันก็เลยดูมีเสน่ห์”
รุ่นพี่เคยบอกว่า....
“หอพักนี้ หลังเวลาเที่ยงคืน ห้องพักที่อยู่ใกล้กับบันได จะได้ยินเสียง ป๊อก..ป๊อก..ครืด....ซ้ำไป ซ้ำมา ไม่เคยมีใครกล้าพิสูจน์ที่มาของเสียงนั้น”
แอนนา รีส รับบทเป็น สา
สา เป็นเพื่อนสนิทของหมวย เธอเป็นสาวห้าว ฉลาด ขี้เล่น รักเพื่อน เธอใช้เวลาว่างโดยการแช็ททางอินเตอร์เน็ตเพื่อแก้เหงา แต่เมื่อคู่สนทนาในโลกไซเบอร์ของเธอไม่ใช่หนุ่มในฝันที่วาดไว้ จึงทำให้เธอต้องเจอกับชะตากรรมสุดผวาในหอพักสุดเฮี้ยนที่เธออยู่
ผลงานภาพยนตร์ที่ผ่านมา ฟ้าทะลายโจร (2543), เดอะเลตเตอร์ เขียนเป็นส่งตาย (2551), ปืนใหญ่จอมสลัด (2551)
ตำนาน “หอเจ็ด” หรือ “ป๊อก...ป๊อก...ครืด” คือเรื่องเล่าที่ถือเก่าแก่และได้รับการพูดถึงมากที่สุดของบรรดานิสิตนักศึกษา ตำนานนี้ถูกเล่ากันไปต่างๆ นานา ซึ่งต่างคนก็ต่างเดาที่มาของเรื่องราว “ป๊อก...ป๊อก...ครืด” ซึ่งเขาว่าเป็นวิญญาณของนักศึกษาที่ตายไปและยังคงวนเวียนอยู่ในหอพัก ซึ่งในตำนานนี้ก็ได้นักแสดงสาวลูกครึ่ง “แอนนา รีส” เข้ามาอยู่ในเรื่องราวตำนานสุดฮ็อตและเฮี้ยนที่สุดในเรื่องนี้
“คือแอนนารีสจะรับบทเป็นสาวสมัยใหม่ เป็นสาวน่ารักสดใสเซ็กซี่ ชอบบริหารเสน่ห์อยู่เสมอ ก็จะมีคนๆ นึงซึ่งเหมือนกับวัยรุ่นทั่วไป ก็ชอบแชท ชอบเข้าอินเตอร์เน็ท พบปะเพื่อนใหม่ๆ คืออาจจะมีความสุขกับการพูดคุย พูดหยอกล้อ ชอบโปรยเสน่ห์ คือเป็นเรื่องของคนรักสนุกขี้เล่น แต่สิ่งที่เขาเจอมันไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด ซึ่งจะเข้าไปเกี่ยวกับเรื่องสุดเฮี้ยนของหอพักอย่างไรต้องไปดูกัน” บรรจงอธิบายถึงตัวละครนี้
“ป๊อก...ป๊อก...ครืด ถือเป็นตำนานฮ็อตฮิตสุด คือเป็นเรื่องที่ดังมากของสถาบันภาคเหนือ จุดที่ยากคือเรื่องนี้ทุกคนมีภาพในหัวอยู่ ทุกคนจินตนาการไปต่างๆนานา ซึ่งเราจะโฟกัสถึงที่มาแล้วก็เสน่ห์ของป๊อก...ป๊อก...ครืด คือเราต้องตอบโจทย์ให้ตามกับที่คนดูจินตนาการไว้ด้วย” สุทธิพรเสริมถึงตำนานสุดเฮี้ยน
ส่วนสาวลูกครึ่งแอนนา รีส พูดถึงเรื่องราวที่เคยได้ยินมาเกี่ยวกับ “ตำนานผีหอเจ็ด” หรือ “ป๊อก...ป๊อก...ครืด” ว่า
“เคยค่ะ คือเรื่องป๊อก...ป๊อก...ครืด เนี่ยเป็นเรื่องเล่าที่นานมากแล้ว ที่แอนนาได้ยินมาจะเป็นเรื่องของวิญญาณผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ถูกฆ่าอย่างทรมานในขณะที่เดินทางไปซื้อของกินให้เพื่อนที่ไม่สบาย ด้วยความที่จิตใต้สำนึกยังเป็นห่วงเพื่อน ก็เลยยังอุตส่าห์เอาข้าวมาให้เพื่อนจนได้ แต่ไม่ได้มาด้วยสภาพที่เป็นคนแล้ว คือเป็นศพที่เดินไม่ได้ ต้องเอาคางเดินขึ้นบันได จนเป็นเสียงป๊อก ป๊อก ครืด แค่นึกก็น่าขนลุกแล้ว”
Director’s Note นึกถึงวัยเด็กสมัยที่ยังเรียนหนังสือ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย มีหลายสิ่งที่จดจำได้และไม่ได้ผสมปะปนกันไป ทั้งความสนุก ความเศร้า เรียนดี สอบตก อกหัก รักคุด เรียกได้ว่ามีทุกอารมณ์ เวลาผ่านไปสิ่งเหล่านี้ถูกฉาบด้วยอะไรบางๆ ทำเอาความทรงจำเราเล่นแง่ จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมนึกถึง ไม่ใช่ภาพแต่เป็นความรู้สึก เป็นจินตนาการที่ตื่นเต้น น่ากลัว แต่ก็น่าหลงไหลเมื่อพูดถึง เช่น ห้องน้ำทุกโรงเรียนต้องมีมุมที่น่ากลัว ต้องมีเรื่องเล่าว่ามีเด็กตาย มีเด็กโดนขังในนั้น มีครูตายที่ห้องนี้ มีรุ่นพี่ผู้หญิงผูกคอตาย มีคนถูกข่มขืนแล้วซ่อนศพไว้ใต้บันได สิ่งเหล่านี้ผูกพันติดอยู่กับเรามาตลอด โดยเล่าได้ไม่รู้จบ เรื่องราวเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น ทุกคน เติบโต มีหน้าที่การงาน หลายคนมีครอบครัว มีลูกมีหลาน เวลาผ่านไปนานจนเรามองเห็นว่ามันเป็นเพียงนิทานหลอกเด็ก หรือเรื่องเล่าของรุ่นพี่ที่พยายามหลอกให้รุ่นน้องกลัว แต่ความจริงแล้วเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่นั่งเก้าอี้ที่เราเคยนั่ง เคยวิ่งเล่นตรงจุดที่เราเคยวิ่ง เคยนั่งคุยเรื่องลี้ลับหลังเลิกเรียนช่วงที่แดดใกล้จะลับตา ทุกวันนี้ก็ยังคงมีอยู่ ผมเรียกเรื่องเล่าเหล่านี้ว่า “ตำนาน” คือมันมีรสชาติความจริงผสมเข้าไป ทำให้หนักแน่นมากกว่าแค่เรื่องเล่าธรรมดา แต่เรื่องที่จะกลายเป็นตำนาน คงไม่ใช่ทุกเรื่องเล่าจะเป็นกันได้ คือมันต้องถึงจริงๆ ถึงในที่นี้หมายถึงเรื่องที่น่ากลัวอย่างเหลือเชื่อ แต่ฟังดูแล้วก็ไม่กล้าฟันธงว่าเป็นเรื่องที่กุขึ้นมา ต้องมีมูลเหตุ มีหลักฐานบางอย่าง และแน่นอนว่ามันต้องผ่านกาลเวลามานานพอสมควร หรือจะเรียกว่าบ่มจนได้ที่ก็คงไม่ผิดนัก โปรเจ็คต์มหาลัยสยองขวัญที่พี่ปรัช (ปรัชญา ปิ่นแก้ว) ให้ไอเดียมาทำ ทำให้เราได้ย้อนกลับไปเอาความรู้สึกเก่าๆ ความมีเสน่ห์ในตำนานแต่ละเรื่อง หลายต่อหลายเรื่องหลายต่อหลายสถาบันถูกยกขึ้นมา เอาเฉพาะที่เป็นตำนานระดับคลาสสิคก็นับว่ามีอยู่ไม่ถ้วน แต่สุดท้ายก็มาจบที่ 4 เรื่องหลักที่ตกลงใจเอามาทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง “มหา’ลัยสยองขวัญ” ตำนานสยองเหล่านี้ไม่ได้อิงแค่เรื่องราว แต่มันยังอิงถึงสถานที่ที่มีอยู่จริง คือนอกจากเรื่องราวที่เราเอาโครงสร้างมาจากตำนานสยองขวัญในวัยเรียนแล้ว อีกจุดหนึ่งที่ถือว่าไม่ให้ความสำคัญไม่ได้ นั่นก็คือสถานที่ที่จะถ่ายทำ ซึ่งแน่นอนด้วยเหตุผลบางประการ เราไม่สามารถเข้าไปถ่ายทำที่จริงได้ เราต้องเซ็ตมันขึ้นมาจากสถานที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกัน ซึ่งโลเกชั่นที่ได้มาแต่ละที่มีอายุไม่ได้น้อยเลย เช่น โรงพยาบาลร้างย่านพระรามหก อายุอานามปาเข้าไปห้าสิบหกสิบปี หลายต่อหลายคนรู้ถึงกิตติศัพท์ความเฮี้ยนกันดี หรือจะเป็น โรงเรียนร้างใกล้ๆ กับถนนสุโขทัยซึ่งความเก่าไม่ได้น้อยหน้ากันเลย แถมบางคืนคนที่พักอาศัยละแวกโรงเรียนแห่งนี้ก็มักจะได้ยินเสียงเด็กเล็กร้องออกมาจากห้องเรียนที่ถูกปิดตายอีกด้วย รวมถึงสถานที่ราชการที่ปัจจุบันถูกปิดตายซึ่งเป็นตึกเก่าแก่ที่เหลืออยู่ไม่มากนักในกรุงเทพฯ และแน่นอนบรรยากาศแต่ละที่มันเอื้อให้ถ่ายหนังผีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่แต่ละแห่งที่เราเข้าไปถ่ายทำล้วนไม่มีไฟฟ้าใช้ทั้งสิ้น ราวตีสองกว่าของคิวถ่ายทำเซ็ทห้องดับจิตที่โรงพยาบาลร้าง ทีมงานร่อยหรอลงจากช่วงกลางวันอย่างเห็นได้ชัด ช่วงที่ทีมงานเซ็ทและวางมุมกล้องสำหรับช็อตต่อไปกำลังดำเนินอยู่ ในหัวที่เริ่มว่าง (จากการรอ) เริ่มคิดว่าบรรยากาศที่นี่ตอนนี้หลอนมาก ยังดีที่รอบๆ มอนิเตอร์ยังรายล้อมไปด้วยทีมงาน ผมโล่งใจ... แต่ไม่นาน ผมก็รู้สึกว่า ปวดฉี่...! ทางเดียวที่สะดวกคือเดินขึ้นไปอีกสามชั้นและจะถึงดาดฟ้าโล่งของโรงพยาบาล เม็ดเหงื่อผุดขึ้นมาเล็กน้อย ก่อนจะเก็บอาการและพูดลอยๆ ว่า ใครปวดฉี่บ้าง โชคดีที่จักร (สุทธิพร ทับทิม) ก็ปวดอยู่เหมือนกัน บางทีมันอาจจะกำลังคิดเหมือนผมอยู่ ปกติเราสองคนไม่ได้กลัวในสิ่งที่เรียกว่า “ผี” เพราะ 1) ไม่เคยเจอ 2) เรื่องที่รับรู้มาจากคนอื่นส่วนใหญ่ไม่น่าเชื่อถือ 3) ทฤษฎีของผีบางข้อรับไม่ได้เช่น ผีสัมผัสได้ ผีสามารถเปิดประตู บีบคอ ลากคนได้ หมายความว่า ผีก็สามารถฝ่าระบบป้องกันระดับสุดยอดเข้าไปกดปุ่มระเบิดปรมาณูได้ อะไรประมาณนั้น แต่ช่างมันเถอะ ผมไม่ได้อยากเจอ ไม่ได้อยากท้าทาย ประมาณว่าไม่เชื่อ แต่ก็ไม่กล้าลบหลู่ สองคนย่อมอุ่นใจกว่าคนเดียว พวกเราเดินขึ้นบันไดที่มืดและเงียบผิดปกติไปยังดาดฟ้า รีบจัดการธุระให้เสร็จให้เร็วเท่าที่จะเร็วได้ แล้วก็เดินลงบันไดไป ยิ่งใกล้ถึงแสงสว่างเมื่อไหร่ ฝีเท้าก็รีบเร่งขึ้นเหมือนอยากให้มันถึงไวไว วนบันไดลงไปอีกสองรอบก็จะถึงชั้นสามที่เป็นเซ็ทถ่ายทำแล้ว แต่แล้ว...ในมุมมืดที่ผมเพิ่งผ่านมา ซึ่งก็ไม่ได้สนใจว่ามันจะมีอะไร เพราะใจกำลังจดจ่ออยู่กับแสงสว่างที่กำลังจะเจอ เบื้องล่าง ร่างใครคนหนึ่งในชุดนักศึกษาก็พุ่งเข้าหาผมพร้อมกับกรีดร้องดังลั่น และบีบที่ไหล่ผมอย่างแรง ผมร้องลั่น จักรร้องตามในขณะที่ผีนักศึกษาตนนั้นก็ยังคงร้องอยู่ ไม่นานเสียงร้องเริ่มเปลี่ยนเป็นเสียงหัวเราะ สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นผีกลับกลายเป็นนักแสดงหลักในเรื่องศพหายในห้องดับจิต เจ้าอิคคิวนั่นเอง เขาตั้งใจที่จะแกล้งพวกผม ซึ่งก็ทำสำเร็จซะด้วย ผมตกใจมาก แต่ไม่นานก็เริ่มหัวเราะตามไปด้วย มันเป็นอารมณ์ที่หักมุมมาก ถึงแม้เนื้อเรื่องและบรรยากาศจะพาให้สยองขวัญอยู่ตลอด แต่สุดท้ายการถ่ายทำก็สำเร็จบรรลุตามเป้าที่วางไว้ ท้ายนี้คงฝากถึงวัยรุ่นและคนที่เป็นอดีตวัยรุ่น “มหา’ลัยสยองขวัญ” อาจจะไม่ได้นำเสนอเรื่องราวที่เหมือนกับเรื่องที่เล่ากันมาอย่างทุกกระเบียดนิ้ว เพราะเราได้เพิ่มสีสัน เนื้อหาและแง่มุมใหม่ๆ เข้าไป ปรับให้เป็นงานของเราอย่างชัดเจนขึ้น ลองเข้าไปสัมผัสรสชาติใหม่ของตำนานสยองเวอร์ชั่น “มหา’ลัยสยองขวัญ” ได้เลยครับ 22 ต.ค. นี้
Director’s profile
“บรรจง สินธนมงคลกุล” และ “สุทธิพร ทับทิม” สองเพื่อนสนิทจากรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เคยมีแนวทางร่วมกันว่าจะกำกับหนังร่วมกัน หลังจากที่ทั้งคู่ได้มีโอกาสฟังเรื่องเล่าตำนานสยองต่างๆ ในรั้วมหา’ลัยจากเพื่อนฝูงหรือรุ่นพี่รุ่นน้อง ทำให้ทั้งคู่เกิดไอเดียที่จะหยิบเอาตำนานที่มีอยู่จริงตามสถาบันต่างๆ มาสร้างเป็นภาพยนตร์ หลังจากที่ทั้งคู่เรียนจบ บรรจงแยกไปทำงานทางด้านผู้ช่วยผู้กำกับ ส่วนสุทธิพรเริ่มต้นด้วยการเขียนบทสารคดี ก่อนที่ทั้งคู่จะโคจรมาพบกันครั้งแรกในหนังวัยรุ่นคุณภาพของยุคนั้นอย่าง GOAL CLUB เกมล้มโต๊ะ ซึ่งบรรจงมีบทบาทเป็นผู้ช่วยของ เรียว กิตติกร ส่วนสิทธิพรทำหน้าที่ตัดต่อซึ่งเขาได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ในปีนั้นด้วย
หลังจากนั้นสุทธิพรยังคงเอาดีทางด้านงานตัดต่อ ส่วนบรรจงก็ลุยงานผู้ช่วยผู้กำกับต่อไป จนมีผลงานกำกับเต็มตัวเรื่องแรกคือ “ว้อ...หมาบ้ามหาสนุก” ซึ่งหลังจาก 10 ปีแห่งการเดินทางในงานเบื้องหลังของทั้งคู่ ทั้งคู่ได้มาผนึกกำลังกันอีกครั้ง จนกลายมาเป็น “มหา’ลัยสยองขวัญ” ผลงานภาพยนตร์ที่กลั่นมาจากประสบการณ์การทำงานที่ข้นคลั่กของทั้งคู่ ซึ่งขอท้านิสิตเก่าและใหม่ทุกท่านมาร่วมเปิดตำนานครั้งสำคัญนี้ด้วยกัน
ผลงานที่ผ่านมาของ “บรรจง สินธนมงคลกุล”
พ.ศ.2542 - เริ่มจับงานผู้ช่วยผู้กำกับละคร พ.ศ.2543 - เข้าสู่งานทางด้านภาพยนตร์ด้วยการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในเรื่อง โคลนนิ่ง พ.ศ.2544 - เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์วัยรุ่นคุณภาพในยุคนั้น
โดยรับหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับให้กับ “เรียว กิตติกร” ในเรื่อง “GOAL CLUB เกมล้มโต๊ะ”
พ.ศ.2546 - เป็นมือขวาของเรียวกิตติกรอีกครั้งใน “พรางชมพู กะเทยประจัญบาน”
พ.ศ.2546 - เป็นผู้ช่วยผู้กำกับในหนังเรื่อง “FAKE โกหกทั้งเพ”
พ.ศ.2548 - อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเกินร้อยล้านของ “แหยมยโสธร” ในฐานะผู้ช่วยของ “หม่ำ จ๊กม๊ก”
พ.ศ.2551 - ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับอย่างเต็มตัวใน “ว้อ...หมาบ้ามหาสนุก”
พ.ศ.2552 - ผลงานการกำกับร่วมกับเพื่อนซี้ในภาพยนตร์รวมตำนานสุดเฮี้ยน “มหา’ลัยสยองขวัญ”
ผลงานที่ผ่านมาของ “สุทธิพร ทับทิม”
พ.ศ. 2540 - เขียนบทสารคดีกึ่งละคร พ.ศ.2541-2542 - ผู้ช่วยกล้องภาพยนตร์ พ.ศ.2543 - ผู้ช่วยผู้กำกับละคร พ.ศ.2544 - ลำดับภาพภาพยนตร์เรื่อง “GOAL CLUB เกมล้มโต๊ะ”
- POST SUPERVISOR ภาพยนตร์ “เก้าพระคุ้มครอง”
- ลำดับภาพและ POST SUPERVISOR ภาพยนตร์ “ปอบ หวีด สยอง”
พ.ศ.2545 - ได้รับรางวัลพระสุรัสวดีและสุพรรณหงส์ ลำดับภาพยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์
เรื่อง “GOAL CLUB เกมล้มโต๊ะ”
ผู้ช่วยผู้กำกับและลำดับภาพ ภาพยนตร์เรื่อง “พรางชมพู กะเทยประจัญบาน”
พ.ศ.2546 - ลำดับภาพภาพยนตร์เรื่อง “เฮี้ยน”
ลำดับภาพและPOST SUPERVISOR ภาพยนตร์เรื่อง “Sexphone คลื่นเหงา สาวข้างบ้าน”
พ.ศ.2547 - ลำดับภาพภาพยนตร์เรื่อง “เดอะ เมีย”
ลำดับภาพยนตร์เรื่อง “อาข่าผู้น่ารัก”
POST SUPERVISOR ภาพยนตร์เรื่อง “ก็เคยสัญญา”
พ.ศ. 2549 - ลำดับภาพภาพยนตร์เรื่อง “มนุษยเหล็กไหล”
ลำดับภาพภาพยนตร์เรื่อง “COLIC เด็กเห็นผี”
พ.ศ. 2550 - Co-Director ภาพยนตร์เรื่อง “สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตา”
พ.ศ. 2551 - เขียนบทภาพยนตร์ “ดรีมทีม” พ.ศ. 2552 - ร่วมกำกับภาพยนตร์ “มหา’ลัยสยองขวัญ”