กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กระทรวงศึกษาธิการ และมูลนิธิสยามกัมมาจล เปิดตัวโครงการประกวดเรื่องเล่า “บทเรียนความสำเร็จในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้” มุ่งจุดประกาย และสร้างความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา พร้อมเปิดรับเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของผู้บริหารและครู ที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้สำเร็จและนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
วันนี้ (24 ก.ย. 52) ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่ริเริ่มโครงการ “บทเรียนความสำเร็จในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้” ว่า ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, มูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้บริหารและครูในโรงเรียนนำร่องเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง 139 แห่ง ได้ดำเนินการขับเคลื่อนและประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษามาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเกิดผลดีแก่เด็กนักเรียน ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาพรวม
โครงการนี้จึงเปิดโอกาสให้ผู้บริหารและครูได้ทบทวนวิธีการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงจนประสบความสำเร็จ แล้วถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีคุณค่าผ่านการเขียนเรื่องเล่า เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกมาเป็นตัวอย่างความสำเร็จ และเป็นแนวทางสำหรับโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป
นายศัจธร วัฒนะมงคล ผู้อำนวยการสำนักกิจการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหนึ่งที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในสถานศึกษา โดยจะค่อยๆ กำหนดไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน พร้อมจัดทำตัวอย่างหน่วยการเรียนรู้ ฝึกอบรมวิทยากรสถานศึกษา เพื่อเป็นแบบอย่างให้สถานศึกษาอื่นได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสามารถถอดบทเรียนความสำเร็จของตนเองได้
ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. เชื่อว่า ตัวบ่งชี้ความสำเร็จอยู่ที่นักเรียน ครู และประสิทธิภาพของการบริหารจัดการศึกษาที่ยั่งยืน ดังนั้น โครงการนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้ใหญ่ในสังคมให้มีมาตรฐานชีวิตบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ด้าน นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรขับเคลื่อนการทำงาน กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมเยาวชน ให้เป็นผู้มีสติปัญญา รู้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัฒน์ จึงได้มอบหมายมูลนิธิสยามกัมมาจล ดำเนินการร่วมมือกับโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง และกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มดำเนิน “โครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา” มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อสนับสนุนผู้บริหาร ครู และนักเรียนของสถานศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาอย่างถูกต้องและชัดเจนจากการลงมือปฏิบัติ พร้อมพัฒนาตนเองเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา และเป็นกำลังสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนขยายผลตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป
อนึ่งโครงการจะเปิดรับผลงานของผู้บริหารและครูจากสถานศึกษาพอเพียงปี 2550 และโรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิสยามกัมมาจล โดยรางวัลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ผู้บริหารสถานศึกษา และครู โดยผู้ชนะการประกวดจะได้รับเข็มทองผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง และเกียรติบัตรผลงานที่เป็นแบบปฏิบัติที่ดีเลิศ ส่วนสถานศึกษาจะได้รับโล่รางวัลในนามของโรงเรียน สำหรับเรื่องราวที่ชนะการประกวดจะได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไป เปิดรับผลงานถึงวันที่ 15 ตุลาคม นี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.scbfoundation.com , www.okkid.net
ในงานนี้มีผู้บริหารและครูจากโรงเรียนทั้งในและนอกเครือข่ายสนใจเข้าร่วมประมาณ 100 คนจาก 15 โรงเรียน และแสดงความสนใจส่งผลงานเรื่องเล่าเข้าประกวด อาทิเช่น
นายแสน แหวนวงศ์ ผอ.รร.ศรีขรภูมิพิสัย จ.สุรินทร์ หนึ่งในโรงเรียนที่ร่วมโครงการสถานศึกษาพอเพียง กล่าวว่า ร.ร.ศรีขรภูมิพิสัยเดินหน้าบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา มาตั้งแต่ปี 2549 โครงการนี้จึงถือเป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถกระตุ้นและสร้างความต่อเนื่องให้คนทำงานได้ตกผลึกความคิดว่าการทำงานที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคอะไร มีสิ่งที่ดีงามเกิดขึ้นอย่างไรบ้างจากการปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในเรื่องการเรียนการสอนและการดำรงชีวิตของตนเอง สะท้อนให้ผู้ทำงานเห็นด้วยตนเองว่า นักเรียน ครู โรงเรียน หรือแม้แต่ครอบครัวและชุมชนได้รับคุณประโยชน์จากความพอเพียงอย่างไร แล้วมีส่วนช่วยส่งเสริมประเทศชาติให้พัฒนาขึ้นได้อย่างไร
สำหรับ ดร. ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ ผู้จัดการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า แม้โรงเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมในโครงการสถานศึกษาพอเพียง ปี 2550 แต่มีหลักสูตรการเรียน การสอนที่เน้นด้านคุณธรรม จริยธรรม และความพอเพียง เพื่อพัฒนานักเรียนที่ดี มีคุณภาพ พร้อมที่จะพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า ตามปรัชญาของโรงเรียน โดยโรงเรียนมีความตั้งใจเข้าร่วมสร้างเครือข่ายพอเพียง ร่วมกับโรงเรียนในโครงการสถานศึกษาพอเพียง และโรงเรียนอื่นๆ ที่กำลังจะเข้าร่วมโครงการต่อไป
ทั้งนี้ หัวใจของการจัดการประกวดเรื่องเล่าในครั้งนี้อยู่ที่ผู้เขียนเรื่องเล่ามีโอกาสทบทวนตัวเองก่อนเขียนเล่าเรื่องราวดีๆ ที่สามารถจุดประกายให้ผู้อื่น ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากแบบปฏิบัติที่ดีอื่นๆซึ่งจะนำสู่การพัฒนางาน เกิดเครือข่ายขยายผลการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวทางให้ประชาชนชาวไทยใช้ในการดำเนินชีวิตด้วยสติและปัญญา อันนำสู่ความรู้เท่าทันและสามารถปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน