กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--กทช.
กทช. ใช้ขบวนช้าง ๑๐ เชือก บุกป่า ข้ามลำห้วย และเขาสูง ที่ อำเภอสังขละบุรี ชายแดนไทย-พม่า เพื่อนำอุปกรณ์โทรคมนาคมผ่านดาวเทียม ไปติดตั้งให้ หมู่บ้าน ๓ แห่ง ที่ไม่เคยมีโทรศัพท์ใดๆมาก่อนเลย เป็นการเปิดบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ที่ จะนำไปสู่การขยายบริการไปยังหมู่บ้านทุรกันดารทั่วประเทศกว่า ๖,๐๐๐ แห่ง ภายใน ๓ ปี เพื่อลดช่องว่างด้านการสื่อสาร ของชาวชนบทที่อยู่ห่างไกล ซึ่งจะเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาความยากจนของคนไทยในถิ่นกันดาร
ความเป็นมา
เนื่องจากยังมีหมู่บ้านหลายพันแห่งในประเทศไทย อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ต้องเดินทางข้ามเขาสูงชัน ผ่านลำห้วยน้ำลึกโดยไม่มีสะพาน หรืออยู่ในป่าลึกไกลจากถนน ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเดินเท้า เข้าอำเภอหรือจังหวัด โดยเฉพาะในหน้าฝนมักจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เป็นเวลาหลายเดือน โดยไม่สามารถติดต่อทางเครือข่ายโทรศัพท์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์สาธารณะ โทรศัพท์ประจำที่ หรือโทรศัพท์มือถือ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถติคต่อขอความช่วยเหลือในยามป่วยไข้ แจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือใช้ในการติดต่อเพื่อขายผลผลิต เป็นสาเหตุให้เกิดความ ยากจน ลำบากและล้าหลังด้อยพัฒนา
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๗ (๑) แห่ง พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ให้คณะกรรมการ มีหน้าที่จัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และให้มีอำนาจกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีบริการโทรคมนาคมในพื้นที่ชนบท พื้นที่ที่มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำ หรือท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่ยังไม่มีผู้ให้บริการหรือมีแต่ไม่ทั่วถึงหรือไม่เพียงพอแก่ความต้องการของผู้ใช้บริการในท้องที่
เพื่อให้การดำเนินการได้ผลดี มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องมีการทดลอง จัดบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง โดยเน้นในพื้นที่ทุรกันดารมากเป็นลำดับแรก เพื่อค้นหาความต้องการ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนและดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค ตลอดจนแนวทางที่จะพัฒนาข้อกำหนดและเกณฑ์ต่างๆ ให้เกิดผลดีต่อส่วนรวมต่อไป
เมื่อได้ดำเนินการขั้นต้นไปแล้วระยะหนึ่ง ก็จะมีการขยายผล โดยผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม จาก กทช. จะจัดโทรศัพท์สาธารณะ ในหมู่บ้าน ๖,๐๐๐ แห่ง สถานที่ ๔,๐๐๐ แห่ง และบริการอื่นๆ ภายในเวลา ๓ ปี เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในชนบทห่างไกลทั่วประเทศต่อไป
วิธีดำเนินการ
หมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง หมู่บ้านไล่โว่ และหมู่บ้านเวียคะดี้ ในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีใกล้อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ เป็นหมู่บ้านทุรกันดารมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ของประเทศไทย ประชาชาชนมีฐานะยากจน และขาดการศึกษา ทำอาชีพปลูกข้าวไร่และพริก ในฤดูฝนการคมนาคมทางรถยนต์ ถูกตัดขาดเพราะน้ำในลำห้วยขึ้นสูงรถข้ามห้วยไม่ได้ และถนนเป็นโคลนเลน ต้องใช้ช้างหรือคนเดินเท้าเป็นเวลาหลายชั่วโมงเท่านั้น หมู่บ้านเหล่านี้ไม่มีตู้โทรศัพท์สาธารณะ โทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์มือถือชนิดใดเลย ทำให้ไม่สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือ หรือรายงานเหตุฉุกเฉินในกรณีจำเป็น
ในระยะแรก กทช. ได้เชิญชวนผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีศักยภาพ มาร่วมมือกันจัดอุปกรณ์โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม และอุปกรณ์ต่อเชื่อมอื่น มาทดลองใช้ ในสามหมู่บ้านดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ต่อจากนั้นภายในเวลาอีกไม่เกิน ๓ ปี ก็จะมีการติดตั้งโทรศัพท์ตามข้อกำหนดการบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงอย่างถาวร โดยจะส่งคืนอุปกรณ์ที่ทดลองใช้ในระยะแรกให้ผู้ประกอบการต่อไป ผู้ประกอบการที่ร่วมกันดำเนินการครั้งนี้ได้แก่บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน)บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) บริษัท สามารถ เทเลคอม จำกัด(มหาชน) บริษัท เอเชียส รีเยนนัล เซอร์วิส และ บริษัท ควอลคอม
เนื่องจากที่บ้านเกาะสะเดิ่งและบ้านไล่โว่ ยังไม่มีไฟฟ้าทางสายเข้าไปถึง ดังนั้นจึงต้องใช้เซลล์แสงอาทิตย์ หรือ เครื่องปั่นไฟเป็นแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่ออัดเก็บไว้ในแบตเตอรี่
เมื่อการทดลองดำเนินการในระยะแรกลุล่วงไปในระดับหนึ่งก็จะขยายต่อไปยังหมู่บ้านทุรกันดารมากในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก และจังหวัดอื่นๆ ในลำดับต่อไป--จบ--