กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--รี้ด เทรดเด็กซ์
นายอุทัย นพคุณวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเกษตรหลวงจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ภายในงานราชพฤกษ์ ไฮไลท์อีกส่วนหนึ่งของงานคือ Tropical Dome อาคารแสดงพรรณไม้เขตร้อนชื้น ที่รวบรวมมาจากประเทศที่อยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรจากทั่วโลก มากกว่า 50 สายพันธุ์ บนเนื้อที่ 543 ตารางเมตร ภายในโดมปรับอุณหภูมิไว้ที่ 28-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัตสร 88-90 เปอร์เซ็นต์ เป็นอุณหภูมิที่พรรณไม้เจริญเติบโตได้เร็ว แต่ถ้าอากาศภายนอกร้อนมากภายในโดมจะสเปรย์น้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้ ขณะนี้พร้อมแล้ว กว่า 90%ในการเตรียมงาน
เนื่องจากพรรณไม้ที่อยู่ในโดมส่วนใหญ่จึงเป็นพรรณไม้หายากต้องอยู่ในอุณหภูมิที่จำกัด ได้แก่ ปาล์มราหู ที่พบได้เฉพาะบริเวณภูเขาหินปูนหรือหน้าผาสูงชัน ลักษณะใบพัดเป็นแฉก ส่วนบริเวณลำต้นเป็นหนามแหลม ปาล์มศรีสยาม ปาล์มที่ได้ชื่อว่าสวยงามในระดับโลก มีขนาดลำต้นเท่ากับนิ้วก้อย สูงประมาณ 2 เมตร ใบมีทั้งที่เป็นใบเดี่ยวใหญ่ ใบประกอบ และใบขนนก ลำต้นแตกกอ ซึ่งนับว่าเป็นรูปทรงที่สวยแปลกตามาก ปาล์มช้างร้องไห้ นอกจากมีลำต้นสูงและใบที่มีขนาดใหญ่แล้ว ยังมีความคมที่ขอบใบเป็นจุดเด่น แม้แต่ช้างตัวใหญ่ๆ หากงวงหรือลำตัวพลาดไปโดนใบปาล์มนี้บาดเข้า ยังต้องร้องไห้เพราะความเจ็บปวด ปาล์มเม็ง หรือ ปาล์มมะเร็ง ซึ่งเป็นปาล์มในตระกูลอีกานูล่า ถือว่าเป็นสุดยอดของนักสะสมปาล์มอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากใบมีรูปทรงสวยงาม คือมีทั้งใบเดี่ยวและใบประกอบ อีกทั้งหาพบได้ยากจึงเป็นที่ต้องการในตลาดต้นไม้มาก และที่เพิ่งค้นพบใหม่ล่าสุดคือ ปาล์มกระพ้อพูนศักดิ์ นอกจากจะมีลำต้นเล็กเรียวแล้ว ลักษณะเด่นที่ทำให้ดูงดงามกว่ากระพ้อชนิดอื่นๆ คือ ความอ่อนช้อยของใบ
นอกจากนี้ ต้นไม้แปลกอื่นๆ ก็นำมาปลูกแสดงไว้หลายต้น อาทิ ต้นตีนแรด หรือ กีบแรด จัดอยู่ในจำพวกเฟิน มีความแปลกตรงที่หัวเฟินขนาดใหญ่มากคือประมาณ 50 ซม. และที่เรียกชื่อว่าแรดก็เนื่องมาจากบริเวณส่วนที่เป็นหัวหรือโคนใบจะมีลักษณะเป็นกีบเหมือนกับกีบเท้าของแรด นอกจากนี้ก็มีต้นค้างคาว ต้นไม้ที่มีดอกหน้าตาเหมือนค้างคาว กลีบดอกจะตั้งขึ้นเหมือนหูของค้างคาว ซึ่งมีหลายชนิดด้วยกัน คือ ค้างคาวดำ กลีบดอกสีดำอมน้ำตาล มีเกสรหรือหนวดยาวมาก ค้างคาวขาว(มีดอกสีขาวขนาดใหญ่มาก ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) ค้างคาวแดง (ชนิดนี้มีดอกให้เห็นตลอดปี) ส่วนค้างคาวอีกชนิดหนึ่งที่นำมาแสดงคือ ค้างคาวแคระ ซึ่งมีลำต้นและดอกที่เล็กมาก
“และที่เป็นสุดยอดของพรรณไม้ที่อยู่ในโดมแห่งนี้ต้องยกให้ ต้นสนดึกดำบรรพ์ ยุคไดโนเสาร์ อายุประมาณ 250 ล้านปี สนชนิดนี้ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศจีน โดยพบอยู่ในซากฟอสซิล เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2544 เมื่อนักพฤกษศาสตร์นำมาศึกษาวิจัยต่อที่ประเทศออสเตรเลียก็พบว่าเป็นสนพันธุ์ใหม่ ที่ยังไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน และคาดว่าต้นสนชนิดนี้เมื่อโตเต็มที่จะสูง 20-80 เมตร ซึ่งทางสวนพฤกษศาตร์ประเทศออสเตรเลียได้จัดส่งต้นสนชนิดนี้ไปให้สวนพฤกษศาตร์ทั่วโลกแล้วกว่า 20 ต้น และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในจำนวนประเทศดังกล่าวนั้นด้วย
นอกจากนี้ ยังมีพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งที่น่ามหัศจรรย์ชวนให้เข้าไปค้นหาดู นั่นคือ เฟินแคระ เฟินต้นเล็กๆ ที่มีอายุกว่า 50ปี มีลำต้นสูงเพียง3 นิ้วเท่านั้น ซึ่งเป็นเฟินที่พบได้ในประเทศไทย ชอบขึ้นตามป่าเขาที่มีความชื้นในอากาศสูง ซึ่งจะเป็นไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวจะได้ตื่นตาตื่นใจ” นายอุทัย กล่าว
ความงามและความมหัศจรรย์ของพรรณไม้แปลกตาและหายากเหล่านี้กำลังรอให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศจากทั่วทุกมุมโลกได้ไปชื่นชมและสัมผัสด้วยตาที่งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549- 31 มกราคม 2550 รวม 92 วัน ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ งานมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกครั้งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(จบ)
สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ งานมหกรรมพืชสวนโลกฯ สำนักงานผู้บริหารงานปฏิบัติการ กิจกรรม และ ประชาสัมพันธ์
เกศินี พันธุ์ธีรานุรักษ์ โทร.0-2686-7306 หรือ 01-9893416 email:kaesinee@royalfloraexpo.com
ภัทรา ขวัญเทียนทอง โทร.0-2686-7316 หรือ 01-7331919 email:pathara@royalfloraexpo.com
นวพร โรจน์อารยานนท์ โทร.0-2686-7252 หรือ 05-9079490 email:nawaporn@royalfloraexpo.com
สุวรรณา จารุธนกิจพานิช โทร.0-2686-7329 หรือ 01-6152558 email:suwanna@royalfloraexpo.com