กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--กฟผ.
นายสามารถ ภู่ไพบูลย์ หัวหน้าโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงแผนงานโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯว่า ในปี 2548 กฟผ.จะเน้นในการฟื้นฟูและปลูกป่าในพื้นที่ป่าชายเลนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการคัดเลือกพื้นที่ปลูกป่าชายเลนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ จ.กระบี่ จ.สตูล จ.พังงา และจ.สงขลา รวมพื้นที่ดำเนินการทั้งสิ้น 3,000 ไร่
“ที่ผ่านมาในการปลูกป่าของกฟผ.จะเน้นการปลูกป่าบกที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดำเนินงานโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ กฟผ. ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา โดยเน้นการปลูกป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสำคัญ คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของพื้นที่ปลูกป่าที่ดำเนินการทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 334,000 ไร่ โดยยังเหลือพื้นที่ป่าที่ต้องดำเนินการปลูกในช่วง 4 ปีต่อจากนี้ คือ ตั้งแต่ปี 2548-2551 อีกจำนวน 50,000 ไร่ จากพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 384,0000 ไร่ ในขณะที่การปลูกป่าชายเลนยังมีจำนวนน้อย และมีการดำเนินงานเพียง 3,000-4,000 ไร่เท่านั้น
ทั้งนี้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ป่าชายเลนที่กรมป่าไม้ระบุว่าเป็นพื้นป่าเสื่อมโทรมกว่า 100,000 ไร่ ถูกชาวบ้านจับจองเป็นพื้นที่ทำกินเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันหลักของการปลูกป่าที่ทางโครงการฯดำเนินการอยู่นั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและการยินยอมจากชุมชนเป็นประการสำคัญ แต่ที่ผ่านมาประชาชนยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของป่าชายเลนเท่าที่ควรซึ่งจะต่างกับช่วงเวลานี้” นายสามารถกล่าว
หัวหน้าโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ กฟผ. กล่าวต่ออีกว่า จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์
สึนามิที่พัดถล่มพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการป้องกันอุบัติภัยที่เกิดขึ้น จึงเชื่อว่าการดำเนินการส่งเสริมการปลูกป่าชายเลนของกฟผ.จะได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชุมชน
รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ มากขึ้น
สำหรับการปลูกป่าชายเลนที่กฟผ. ได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงต้นปี 2548 คือ การปลูกป่าชายเลนบริเวณสองฝั่งคลองนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จำนวน 100 ไร่ และจะมีการปลูกป่าชายเลนในบริเวณริมทะเลสาบสงขลาเขตพื้นที่อำเภอสะทิงพระ จังหวัดสงขลา เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในบริเวณดังกล่าวด้วย
“ประโยชน์ของป่าชายเลนที่เห็นได้ชัดเจน คือนอกจากจะเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำหลายชนิด ชุมชนสามารถใช้เป็นแหล่งจับสัตว์น้ำสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ยังช่วยป้องกันการพังทะลายของหน้าดินบริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งจะเห็นได้จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของป่าชายเลนและร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนของไทยให้กับมามีความอุดมสมบูรณ์เหมือนเช่นเดิม”หัวหน้าโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ กฟผ. กล่าวในตอนท้าย--จบ--