ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้เดิม พร้อมจัดอันดับหุ้นกู้ใหม่ “บ. เซ็นทรัลพัฒนา” ที่ “A/Stable”

ข่าวทั่วไป Friday May 26, 2006 09:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันในปัจจุบัน (CPN066A, CPN093A, CPN10DA) ของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งประกาศอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ของบริษัทในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนความแข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจพัฒนาศูนย์การค้าในประเทศไทย ความสำเร็จและผลงานในการบริหารพื้นที่ค้าปลีก ตลอดจนความสม่ำเสมอของกระแสเงินสดจากรายได้ค่าเช่าและค่าบริการจากการมีศูนย์การค้าที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังได้พิจารณาถึงแผนการขยายงานของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งต้องการใช้เงินลงทุนจำนวนมากและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ลดลงเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความสามารถในการรักษาสถานภาพทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจบริหารพื้นที่ค้าปลีกอันเนื่องมาจากความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการขยายสาขาใหม่ รวมทั้งจากการพัฒนาศูนย์การค้าเก่าที่มีอยู่เดิม ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีแผนการลงทุนที่สูงในระหว่างปี 2549-2552 แต่ก็คาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังโดยการรักษาอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับไม่เกิน 1 เท่า
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้พัฒนาศูนย์การค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ปัจจุบันบริษัทพัฒนาและบริหารศูนย์การค้า 10 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดสำคัญๆ พื้นที่ค้าปลีกรวม 617,300 ตารางเมตร (ตร.ม.) จัดว่ามากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ บริษัทมีตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 35% รองลงมาคือ บริษัท เซ็นทรัล โฮลดิ้ง จำกัด 27% การเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัลทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการมีห้างเซ็นทรัลเป็นผู้เช่าพื้นที่ศูนย์การค้ารายสำคัญของบริษัท
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาเป็นผลมาจากอัตราการเช่าพื้นที่ที่สูงและการเติบโตจากยอดขายของศูนย์การค้าสาขาเดิม ณ เดือนธันวาคม 2548 บริษัทมีอัตราการเช่าโดยเฉลี่ยของศูนย์การค้าทั้ง 10 แห่งที่ระดับ 93.1% ซึ่งเป็นผลมาจากการมีทำเลที่ตั้งที่ดีของศูนย์การค้าแต่ละแห่งที่อยู่ในบริเวณที่มีการเติบโตของประชากรค่อนข้างสูง แผนการพัฒนาศูนย์การค้าเดิมและการสร้างศูนย์การค้าแห่งใหม่ทำให้บริษัทมีความต้องการเงินลงทุนจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม แผนการขยายงานนี้จะทำให้บริษัทสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ บริษัทได้แสดงถึงความคล่องตัวทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงจากความสำเร็จในการขายศูนย์การค้า 2 แห่งให้แก่กองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 โดยบริษัทได้นำเงินที่ได้รับจากการขายศูนย์การค้าจำนวน 10,915 ล้านบาทไปใช้ในการชำระเงินกู้และลงทุนในโครงการศูนย์การค้าแห่งใหม่ อัตราส่วนเงินกู้รวม (รวมมูลค่าปัจจุบันของค่าเช่าที่ดินตลอดอายุสัญญาเช่า) ต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 60.2% ในปี 2547 เป็น 55.7% ในปี 2548 ความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซาลดลงบางส่วนจากการมีทำเลที่ตั้งอยู่บนถนนการค้าที่เป็นที่นิยมและผลงานที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการศูนย์การค้าของบริษัท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ