กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--กรมอนามัย
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ 6 บริษัทผลิตผลิตภัณฑ์อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ลง 25 % พร้อมติดตราสัญลักษณ์อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม 25% บนซองผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภคและแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทย
นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าว “มิติใหม่ : ขนมทางเลือกเพื่อเด็กไทยฉลาดกิน” ณ บริษัท แม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าวกรุงเทพมหานคร ว่า จากผลการสำรวจการบริโภคขนมกรุบกรอบของเด็กและเยาวชนในปี 2549 พบว่า มีการใช้เงินซื้อขนมกรุบกรอบเฉลี่ย 26 บาทต่อคนต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายที่ได้รับต่อวันหรือคนละ 9,800 บาทต่อปี ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพียงคนละ 3,024 บาทต่อปีเท่านั้น และขนมที่เด็กส่วนใหญ่ซื้อมาบริโภคกว่าร้อยละ 90 จะประกอบด้วยแป้ง น้ำตาล โซเดียม เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กได้รับแป้ง น้ำตาล จากขนมมากเกินไป แต่กลับมีการ ออกกำลังกายเคลื่อนไหวร่างกายน้อย จึงได้รับแป้ง น้ำตาลส่วนเกินซึ่งจะเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมอยู่ในร่างกาย และการบริโภคขนมที่มีรสหวาน มัน เค็มทำให้ติดรสชาติ ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนตามมา
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลกองโภชนาการ กรมอนามัย พบว่า เด็กอายุ 6-14 ปี มีพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มรสหวาน ขนมกรุบกรอบ อาหารประเภทไขมันสูง สูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นและมีแนวโน้มการบริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลสำรวจในรอบ 3 ปี จากปี พ.ศ. 2547 — 2550 พบว่า เด็กในกลุ่มอายุดังกล่าวบริโภคขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลมเป็นประจำเพิ่มขึ้น ถึง 1.8 และ 1.5 เท่าตามลำดับ
“กรมอนามัยจึงได้ร่วมกับกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และแกนนำบริษัทผลิตอาหาร 6 บริษัท ประกอบด้วย 1) บริษัท วาไรตี้ ฟูดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 2) บริษัท อุตสาหกรรมอาหาร ส.ขอนแก่น จำกัด (มหาชน) 3) บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) 4) บริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด 5) บริษัท เวิลด์ ฟูดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ 6) บริษัท ซองเดอร์ไทยออร์กานิคฟูด จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ลง 25 % เพื่อแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็ก พร้อมกำหนดตราสัญลักษณ์อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ในขนมที่ผลิตใหม่จำนวน 4 แบบ ตามชนิดของการลด คือ 1) อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม 2) อาหารลดน้ำตาล ไขมัน 3. อาหารลดน้ำตาล โซเดียม และ 4) อาหารลดไขมัน โซเดียม โดยมีข้อความ “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” ติดที่บรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้และมีทางเลือกในการตัดสินใจเลือกซื้อขนมเพื่อสุขภาพ ตลอดจนกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ผลิตและจำหน่ายอาหารที่ดีต่อสุขภาพของประชาชนมากขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยปรับพฤติกรรมให้มีการบริโภคอาหารรสไม่หวานจัด เค็มจัดอีกด้วย” นายแพทย์โสภณ กล่าว
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีตราสัญลักษณ์อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ขณะนี้ได้มีวางจำหน่ายแล้ว ณ แม็คโคร ทุกสาขา ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้เลือกบริโภคขนมที่ลดปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมลง โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ก่อนเลือกซื้อ ทั้งนี้ ใน 1 วัน เด็กควรบริโภคขนมประเภทนี้ไม่เกินวันละ 1 ซอง หรือ 1 หน่วยบริโภค เพราะจะได้รับพลังงานจากขนมโดยเฉลี่ย 124 กิโลแคลลอรี่ อย่างไรก็ตาม เพื่อการมีสุขภาพที่ดีของเด็ก ผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เด็กได้บริโภคผลไม้ตามฤดูกาลเป็นอาหารว่างด้วย อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายผลิตและจำหน่ายอาหารที่ดีต่อสุขภาพประชาชนมากขึ้น