กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์ไข้หวัดนก สิ้นสุดวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๙ ว่ามีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก และบางรายเสียชีวิตแล้ว และยังมีผู้อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรค ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและจังหวัดอุทัยธานี ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไข้หวัดนกที่อาจจะเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงหรือกำลังพลกองทัพเรือ กองเวชกรรมป้องกัน กรมแพทย์ทหารเรือ ได้ให้ข้อแนะนำการดูแล ป้องกัน และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ดังนี้
๑. ไข้หวัดนกเป็นโรคติดต่อในสัตว์ปีก เช่น นก เป็ด ไก่ สามารถแพร่เชื้อได้จาก น้ำมูก น้ำลาย มูลของสัตว์ที่ป่วย หรือตาย
๒. คนติดโรคนี้ได้จากการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย หรือมูลของสัตว์ปีกที่ป่วย หรือตายด้วยโรคไข้หวัดนก
๓. ผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ หายใจลำบาก ปอดอักเสบ
๔. หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วย หรือตาย หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีโรคไข้หวัดนกระบาดต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
๕. ผู้ที่มีความเสียงต่อการเกิดโรคไข้หวัดนก คือผู้ที่ทำงานในฟาร์ม หรือชำแหละสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายจากโรคไข้หวัดนก
๖. ถ้าพบสัตว์ปีกที่เลี้ยงในบ้าน หรืออยู่นอกบ้านตายเป็นจำนวนมากผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สายแพทย์ในพื้นที่หรืออาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ทันที หากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาจแจ้งได้ที่ กรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๖๕๓ ๔๙๓๐ หรือ ๐ ๒๖๕๓ ๔๔๔๔ ต่อ ๕๐๑๒, ๕๐๑๓ หรือแจ้งที่กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๕๙๐ ๓๓๓๓ หรือแจ้ง กทม. ๐ ๒๔๗๒ ๔๒๘๖ หรือศูนย์ไข้หวัดนกกรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๖๕๓ ๕๕๐๑ - ๔
๗. ในช่วงที่มีการระบาด ไม่ใช้มือเปล่าสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วย หรือตาย ต้องสวมถุงมือ สวมผ้าปิดปาก จมูก และล้างมือด้วยสบู่ และน้ำทุกครั้ง หากไม่มีถุงมือสามารถใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วสวมหลาย ๆ ชั้น ก่อนจับซากสัตว์ปีกที่ตาย หรือป่วยก็จะป้องกันการติดเชื้อได้เช่นกัน
๘. สัตว์ปีกที่ป่วยตาย ให้เผาหรือฝัง โดยขุดหลุมลึกอย่างน้อย ๑ เมตร ก่อนกลบดินให้ราดด้วยน้ำคลอรีน หรือโรยปูนขาว ก่อนทำการฝังกลบดินให้แน่น ห้ามโยนทิ้งตามแม่น้ำลำคลองอย่างเด็ดขาด และห้ามนำไปให้สัตว์อื่นกิน
๙. ผู้มีอาชีพเลี้ยง ฆ่า ขนส่ง ย้ายและขายสัตว์ปีก หรือผู้ที่สัมผัสซากสัตว์ปีก ถ้าป่วยหรือมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอแห้ง ๆ และอาจมีตาแดงด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ แล้วบอกประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก หรือเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยปอดบวมรายอื่น ๆ ในรอบ ๑๐ วันก่อนมีอาการ ให้แพทย์ทราบทันที
๑๐. ในช่วงที่มีโรคระบาดในสัตว์ปีกหรือมีไก่ เป็ดตายมากผิดปกติ ขอให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง เอาใจใส่ระมัดระวังดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เตือนไม่ให้เด็กอุ้มไก่หรือนก หรือจับต้องซากสัตว์ปีกที่ตาย และให้เด็กหมั่นล้างมือบ่อย ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้
๑๑. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๓๐ นาที รับประทานอาหารให้ครบถ้วน รวมทั้งผัก ผลไม้ งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา
๑๒. เป็ด ไก่ และไข่ ที่ไม่ติดเชื้อ สามารถรับประทานได้ แต่ต้องปรุงให้สุกก่อน ห้ามนำไก่ เป็ด หรือสัตว์ปีกทั้งหมดที่ตายผิดปกติ ห้ามนำมาชำแหละกินอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ติดเชื้อโรคไข้หวัดนกได้ ต้องทำลายด้วย วิธีเผา หรือฝังตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ
(ที่มา : ข่าว พร.(กกป.พร.) ที่ ๖/๔๙ มวว.๐๘๐๘๔๐ ส.ค.๔๙ โทร.๕๒๕๐๘)