กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--กทช.
กทช.ยืนยันพร้อมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด หากผู้ให้บริการโทรคมนาคม ลดมาตรฐานการให้บริการลง หรือมีพฤติกรรมผูกขาดตลาด หลังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่มีมาตรฐานอย่างเพียงพอ และเป็นธรรม ตลอดจนรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศชาติเป็นสำคัญ
พลเอกชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เปิดเผยว่า ปัจจุบันตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2549 เปิดโอกาสให้คนต่างด้าว เข้ามาถือหุ้นและลงทุนในกิจการโทรคมนาคมของประเทศได้กว้างขวางมากขึ้นกว่าข้อกฎหมายเดิม ทำให้มีการเข้ามาถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมของไทยโดยต่างด้าว ทั้งในด้านบริการโทรศัพท์ และดาวเทียมสื่อสาร จนก่อให้เกิดความหวั่นวิตกเรื่องการครอบงำกิจการสื่อสารและมั่นคงทางด้านการสื่อสารของไทยโดยคนต่างด้าวนั้น กทช.ขอยืนยันว่า กทช.พร้อมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่มีมาตรฐานอย่างเพียงพอและเป็นธรรม ตลอดจนรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ทั้งนี้หากพบว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ลดมาตรฐานการให้บริการลง หรือมีพฤติกรรมผูกขาดตลาด หรือทำให้กิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นบริการสาธารณะของประเทศชาติเสียหาย หลังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นของคนต่างด้าว กทช.มีอำนาจของ พรบ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดมาตรการแก้ปัญหา สั่งผ่านทางผู้รับใบอนุญาต ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสม ตั้งแต่ขึ้นตักเตือนให้แก้ไข ขั้นการสั่งเปรียบเทียบปรับ และขั้นใบอนุญาต ห้ามดำเนินกิจการโทรคมนาคมอีก
“หากมีการทำความเสียหายแก่กิจการโทรคมนาคมของประเทศ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้รับใบอนุญาต หรือไม่ก็ตาม กทช.จะใช้อำนาจจัดการอย่างเด็ดขาด” ประธานกทช.กล่าวย้ำ
ส่วนกรณีข้อเรียกร้อง 7 ข้อ จากกลุ่มองค์กรเอกชนให้ กทช.ดำเนินการกรณีการขายหุ้นของตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ ในบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ให้ต่างด้าวนั้น กทช.มีได้ประชุมเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 มีมติว่า โดยที่ข้อเรียกร้องหลายประเด็นอยู่ในอำนาจหน้าที่หลายหน่วยงาน ซึ่งกทช.จำเป็นต้องได้ข้อมูลประกอบในการพิจารณาจึงได้ สั่งการให้สำนักงานกทช.สอบถามข้อมูลอย่างเป็นทางการเช่น
กระทรวงการคลัง ในส่วนสัญญาร่วมการงานระหว่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 การยกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐดังกล่าวเป็นสิทธิ และหน้าที่ระหว่างคู่สัญญาภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯดังกล่าว ส่วนการยกเลิกสัมปทานดาวเทียมนั้น กทช.ยังรอรายละเอียดที่สอบถามไปยัง กระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสาร
ขณะเดียวกัน กทช.สอบถามไปยังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอความเห็นว่า การขายหุ้นดังกล่าวทำให้ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ตกเป็น “คนต่างด้าว” ตามพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และพรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมฯหรือไม่อย่างไรและสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขอทราบว่ามีการดำเนินการใดที่ฝ่าฝืนกฎหมายในส่วนการถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ โดยจะนำข้อมูลมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สำหรับประเด็นการให้ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ รายงานเรื่องค่าตอบแทนสัญญาร่วมการงาน, สัมปทาน ตลอดจนรายละเอียดสัญญาซื้อขายหุ้นแก่ต่างด้าวเป็นหน้าที่ของ บมจ.ทีโอที ต้องรายงานกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว ขณะที่การรายงานข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
ในส่วนของกทช.เอง ถ้าพบว่า บริษัทผู้รับสัมปทาน หรือคู่สัญญาร่วมการงาน ดำเนินการฝ่าฝืนพรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 จะใช้มาตรา 61(2) ของพรบ.ดังกล่าว เรียกผู้รับผิดชอบมาชี้แจง และส่งเอกสารมาให้ตรวจสอบว่า ดำเนินการก่อผลกระทบต่อการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของประเทศ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป--จบ--