บีโอไอร่วมวงกู้วิกฤติน้ำมันแพงให้ส่งเสริมกิจการพลังงานทดแทน 39 โครงการ

ข่าวทั่วไป Friday May 19, 2006 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเผยวิกฤตการณ์น้ำมันส่งผลให้มีกิจการด้านพลังงานทดแทนมาขอรับส่งเสริมจำนวนมาก โดยตั้งแต่ปี 2548-เดือนเมษายน 2549มีกิจการได้รับส่งเสริมจำนวน 39 โครงการและบีโอไอยังขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ประหยัดพลังงานไปถึงสิ้นปี 2552 เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมปรับปรุงเครื่องจักรให้สามารถลดการใช้พลังงาน
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ท่ามกลางวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลได้กำหนดมาตรการด้านพลังงานเป็นมาตรการเร่งด่วน อาทิ การสนับสนุนการใช้ก๊าซ NGV การใช้พลังงานทดแทน ซึ่งในส่วนของ บีโอไอก็ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งจัดให้เป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์สูงสุด ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีไม่กำหนดสัดส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งขณะนี้ บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงเดือนเมษายน 2549 รวมทั้งสิ้น 39 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 9,373 ล้านบาท
ทั้งนี้ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม — เมษายน 2549 ได้มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมาอีกจำนวน 11 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 3,310 ล้านบาท โดยกิจการที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน ประกอบด้วย กิจการผลิตอุปกรณ์ประหยัดพลังงานหรือใช้พลังงานทดแทน กิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ กิจการผลิตพลังงานทดแทน (ผลิตแอลกอฮอล์ หรือเชื้อเพลิงจากผลิตผลทางการเกษตร ก๊าซชีวมวล เซลล์เชื้อเพลิง) กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำเฉพาะกรณีใช้พลังงานทดแทน และกิจการบริการด้านจัดการพลังงาน (Energy Service Company :ESCO)
นอกจากนี้ บีโอไอยังให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตเครื่องยนต์ NGV และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับ NGV โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร 8 ปี ส่วนกิจการประกอบรถยนต์ NGV และสถานีบริการ NGV ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขตที่ตั้ง ซึ่งนโยบายส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว สอดรับกับมาตรการประหยัดพลังงานของรัฐที่ปรับลดภาษีนำเข้าให้กับเครื่องยนต์เอ็นจีวี สำเร็จรูปที่นำเข้าจากประเทศต่างๆ เหลือ 0% จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ในอัตราไม่เกิน 10% ทั้งเครื่องยนต์เก่าและเครื่องยนต์ใหม่ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนมาตรการประหยัดพลังงานของรัฐบาล บีโอไอได้ขยายระยะเวลาของมาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ประหยัดพลังงานไปถึงสิ้นปี 2552 เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมปรับปรุงเครื่องจักรให้สามารถลดการใช้พลังงาน
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร 0 2537- 8111 , 0 2537 - 8155

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ