สวทช. เปิดตัวศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ศจ.)

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday March 29, 2006 17:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--สวทช.
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology Management Center- TMC) เปิดตัวสู่สาธารณชนด้วยการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ ช่วยเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขัน การขยายตลาดหรือเปิดโอกาสทางการค้า สู่ตลาดใหม่ ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งการสนับสนุนให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านโครงสร้าง 5 สายงาน ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ งานนโยบายและโครงการวิจัย
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวว่า วิวัฒนาการของเทคโนโลยี ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ถึงธุรกิจขนาดย่อย รวมทั้งประเทศไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับกระแสดังกล่าวจึงเปิดตัว ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ศจ.) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ และขยายตลาดสู่ต่างประเทศ เปิดโอกาสทางการค้า โดยการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้
ทั้งนี้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีมีภารกิจในการจัดการเทคโนโลยีอย่างครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมพัฒนาประเทศและอุตสาหกรรมไทย การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และต่อสังคม การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคเอกชน รวมทั้งพัฒนาบุคลากร
“ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่รุนแรงทั่วโลก เราเชื่อมั่นว่า การบริหารจัดการเทคโนโลยีที่ดี จะเป็นคำตอบที่ช่วยให้ประเทศไทยทั้งในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ตลอดจนสังคมและชุมชนได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่มากับโลกาภิวัตน์ และช่วยให้เราพัฒนาภาคเศรษฐกิจให้แข่งขันได้ เติบโตได้ สร้างสังคมชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้” ศ.ดร.ชัชนาถกล่าว
สำหรับโครงสร้างของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี แบ่งออกเป็น 5 สายงานประกอบด้วย
1. การถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของ รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคธุรกิจ โดยเน้นการบริการให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคอุตสาหกรรม ด้วยการให้คำปรึกษาทางเทคนิคเพื่อพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (Industrial Technology Assistance Program: ITAP) การจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและบริการด้านการลงทุน ได้แก่ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร่วมกับธนาคารพาณิชย์ และการร่วมลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชนของประเทศ
2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สายงานในความดูแลรับผิดชอบของ ดร.รอม หิรัญพฤกษ์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและสร้างให้เกิดเครือข่าย (Cluster) ของการวิจัยและพัฒนา มีบริการเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการและชุมชนเข้าถึงแหล่งสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหล่านี้
- อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งกำลังสร้างเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
- ศูนย์บ่มเพาะ เป็นบริการสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ด้านธุรกิจเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนพิเศษด้านอาคารสถานที่ การให้คำปรึกษาทางธุรกิจและสิทธิประโยชน์อื่นๆ
- เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software Park) ส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ใน
อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ
- สวทช.ภาคเหนือ ประสานงานกิจกรรมของ สวทช.ตามความต้องการของพื้นที่ภาคเหนือ
3. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สายงานในการดูแลรับผิดชอบของ ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี เป็นการเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่เป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ ประกอบด้วย โครงการทุนการศึกษา ทุนอุดหนุนการวิจัย ค่ายเด็กอัจฉริยะ ค่ายวิทยาศาสตร์ การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการศึกษาผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น
- โครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) ที่สนับสนุนให้นักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก มาทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยให้กับศูนย์วิจัยแห่งชาติ
- โครงการสมองไหลกลับ (Reverse Brain Drain-RBD) เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนักวิจัยไทยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศให้กับนักวิจัยไทย โดยทำงานวิจัยร่วมกัน
- โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพททางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project — JSTP) เป็นการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ เป็นการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ที่มีเนื้อหาซับซ้อนและมีระดับทางวิชาการสูงขึ้น เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์อวกาศและการบิน ที่มีการยิงจรวดขับเคลื่อน ด้วยเชื้อเพลิงแข็ง เป็นต้น
4. งานนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สายงานในความดูแลรับผิดชอบของ ดร.ญาดา มุกดาพิทักษ์ มีหน้าที่ในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แผนและมาตรการ เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติ คาดการณ์เทคโนโลยีในอนาคต (Technology Foresight) พัฒนาฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศึกษาวิจัยนโยบายประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาคอุดมศึกษาและภาคประชาชนเพื่อผลักดันนโยบายและแผนไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งประสานและผลักดันให้งานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่ชนบทและชุมชน
5. โครงการสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของ ดร.พอพนธ์ สิชฌนุกฤษฏ์ เป็นการบริหารงานวิจัยจากห้องทดลองสู่ตลาดโลก เนื่องจากเศรษฐกิจต้องพึ่งพิงพลังงานเป็นปัจจัยหลักในการผลิต ซึ่งศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เล็งเห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพในประเทศไทย จึงทำการวิจัยและพัฒนาเป็นเทคโนโลยีของตนเองและนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี:
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ศจ.) เป็นหน่วยงาน ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่ในการจัดการเรื่องเทคโนโลยีของประเทศไทย ประกอบด้วยบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้าน กว่า 300 คน แบ่งออกเป็น 5 สายงาน ประกอบด้วย การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ งานนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโครงการสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ รายละเอียดโปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ http://tmc.nstda.or.th
ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่:
สุภาวดี จรุงธรรมโชติ
โทร 0 2633 9950
e-mail: supawadee@siamentis.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ