วิศวะจุฬา เปิดภาควิชานิวเคลียร์ ระดับปริญญาตรี

ข่าวทั่วไป Monday September 28, 2009 08:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--Triple J Communication ภาควิชานิวเคลียร์ วิศวะจุฬาฯ ชี้ภาครัฐต้องจริงจังกับการพิจารณาใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยันปี 53 พร้อมเปิดสาขานิวเคลียร์ระดับปริญญาตรี มั่นใจเยาวชนระดับ ม.ปลาย และบัณฑิตวิศวะ เลือกภาควิชานิวเคลียร์ เชื่ออนาคตมีงานรองรับแน่ รศ.ดร.สัญชัย นิลสุวรรณโฆษิต ภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า แนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ซึ่งบรรจุการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ เชื่อมั่นว่าเป็นเป้าหมายที่ดีเพื่อพัฒนาและสร้างความมั่นคงด้านกิจการไฟฟ้าของประเทศ ดังนั้น อยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญและเร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการสร้างสรรค์บุคลากรเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในหลายหลากสาขามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความพร้อมในการพัฒนาบุคคลากรภาควิชานิวเคลียร์ โดยในปัจจุบันสามารถผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้ประมาณปีละ 20 คน ทั้งนี้หากภาครัฐมีเป้าหมายชัดเจน ในปี 2553 ซึ่งจะมีการตัดสินใจว่าจะเดินหน้ากับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่นั้น ทางภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี จุฬาฯ ก็ได้เตรียมความพร้อมขยายหลักสูตรในการพัฒนาบุคลากร โดยในปี 2553 นี้ ภาควิชาฯ มีเป้าหมายจะเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมนิวเคลียร์ เพื่อคู่ขนานไปกับการตัดสินใจของรัฐบาล และเพื่อเตรียมสร้างสรรค์บุคลากรให้เหมาะสมกับงานต่อไป เมื่อพิจารณาลักษณะการใช้งานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคอาเซียนรวมถึงเอเชียแปซิฟิค ภาควิชานิวเคลียร์ จึงขอเชิญชวนให้นักเรียนผู้สนใจเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ตลอดจนวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตและบัณฑิตในสายวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ผู้มีความสนใจสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตในสาขาวิศวกรรมนิวเคลียร์และสาขานิวเคลียร์เทคโนโลยี ทั้งนี้เชื่อว่าบัณฑิตจากหลักสูตรที่กล่าวมานี้จะเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งทั้งจากแผนพัฒนาพลังงานของประเทศและจากการใช้งานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของหลายประเทศในภูมิภาค ด้านนายปรีชา การสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์(สพน.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำเป็นต้องใช้บุคลากรซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่เทคนิค และวิศวกรประจำโรงไฟฟ้า ประมาณ 1,000 คน ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม จึงมีความจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์โดยตรง ซึ่งขณะนี้ สพน. ได้เตรียมโครงการพัฒนา และเสริมความรู้แก่บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยจะเร่งส่งเสริมการอบรมให้ความรู้ และศึกษาดูงานในต่างประเทศ เพื่อเป็นการเพิ่มประสบการณ์ และเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรในอนาคตต่อไป Parichart Vichahong Public Relations Officer Triple J Communication., Ltd 02-221-2296

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ