กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--กทม.
เมื่อวันที่ 25-26 ก.ย. ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครจัดพิธีบวงสรวงเสาชิงช้าและรับพระราชทานกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 2 แห่งการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า โดยมี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับพระราชทานพันธุ์กล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อส่งมอบต่อยังกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัด 75 จังหวัดนำไปปลูกในจังหวัดเพื่อความเป็นสิริมงคล และร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ไม้มงคลคู่บ้านคู่เมือง พร้อมทั้งจัดให้มีพิธีเฉลิมฉลอง 2 วันต่อเนื่องบอกเล่าประวัติเสาชิงช้า และเชิดชูการแสดงศิลปวัฒนธรรมโบราณที่หาชมได้ยาก
ประชาชนและหลายหน่วยงานร่วมทำบุญเสาชิงช้า
(25 ก.ย. 52) เวลา 06.45 น. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 83 รูป และถวายภัตตาหารเช้าแด่พระราชาคณะ 16 รูป ในพิธีบวงสรวงเสาชิงช้าและรับพระราชทานกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และประชาชน ร่วมในพิธีตักบาตร
ประกอบพิธีพราหมณ์และบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์รอบเสาชิงช้า
ในเวลา 16.00 น.เป็นต้นไป จัดให้มีการประกอบพิธีพราหมณ์ สักการะสถานที่สำคัญบริเวณรอบเสาชิงช้า ประกอบด้วย พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร และสักการะเทพเจ้าพระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ และพระพิฆเนศ ภายในเทวสถาน อีกทั้งพิธีบูชาฤกษ์ บูชาเทพ เทวดา ครูอาจารย์ และบวงสรวงเสาชิงช้า เพื่อขออนุญาตนำกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าไปปลูกทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณหญิงดร.กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร กรมป่าไม้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และผู้ว่าราชการจังหวัด 75 จังหวัด
ผู้ว่าราชการจังหวัดรับกล้าสักพระราชทาน
จากนั้นเวลาประมาณ 17.40 น. พิธีมอบกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า โดยรองนายกรัฐมนตรีเปิดกรวยเครื่องราชสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายสักการะพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งรับพระราชทานกล้าสักมงคลสายพันธุเสาชิงช้าหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมอบกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า แก่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด 75 จังหวัด ก่อนจะชมการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ ศาลายา ซึ่งจะเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ในชุดเรื่องเล่าเสาชิงช้า ตอน “จากไม้สู่เมือง เรืองรองวัฒนธรรม สืบสานตำนาน เรื่องเล่าของเสาชิงช้า”
25 ก.ย. 52 ร่วมเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากหลากเรื่องเล่าเสาชิงช้า และศิลปะการแสดงชั้นสูงในอดีต
กรุงเทพมหานครจัดให้มีการแสดง การละเล่น และการแสดงศิลปะพื้นบ้านเพื่อเฉลิมฉลองในพิธีอันเป็นมงคล ตลอดทั้ง 2 วัน ระหว่างวันที่ 25-26 ก.ย. ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) โดยเวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ร่วมฟังการเสวนา เรื่องเล่าเสาชิงช้า โดย ส.พลายน้อย ศาสตราจารย์พิเศษ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา นายพิชัย ไชยพจน์พานิช นายสุรพล วัฒนวิจารณ์ ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับประวัติศาสตร์และเกร็ดความรู้ รวมถึงศิลปะ ตำนาน การแสดง มหรสพโบราณ และความรู้เกี่ยวกับไม้สักทองมงคลที่กลายมาเป็นเสาชิงช้าในปัจจุบัน จากนั้นจะเป็นการขับขานบทกวี ยอยศเสาชิงช้า โดย ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งจะโชว์ลีลา และน้ำเสียงงอันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมทั้งเนื้อร้องที่แต่งเป็นพิเศษให้เห็นถึงคุณค่าของเสาชิงช้า เพื่อฉลองเสาชิงช้าในปีนี้โดยเฉพาะ
อีกทั้งยังมีการแสดงเพลงพื้นบ้าน ลำตัด เพลงเรือ จากศิลปินพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้าน และร่วมย้อนรำลึกถึงการพากย์หนังโบราณ โดย รอง เค้ามูลคดี และทีมงาน ซึ่งจะมาร่วมกันสาธิตและถ่ายทอดการพากย์หนังไทยในอดีตให้ผู้ร่วมงานได้ชมถึงความสนุกสนาน และความสามารถเฉพาะตัวของผู้พากษ์แต่ละคน นอกจากนี้ยังมี การแสดงละครใน ตอน อิเหนาบวงสรวง ศิลปะของการรำอันอ่อนช้อยสวยงาม อีกทั้งความสุภาพของบทร้องและการเจรจา ซึ่งในต้นกรุงรัตนโกสินทร์จะใช้ผู้แสดงเป็นผู้หญิงเท่านั้น และการแสดงดนตรีไทย โดย ขุนอิน โตสง่า และวงออฟบีท กับลีลาการตีระนาดที่ไม่เหมือนใคร รวมทั้งยังมีบทเพลงพิเศษมาแสดงในโอกาสนี้ด้วย
26 ก.ย. 52 สุดยิ่งใหญ่กับการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม กับสุดยอดการแสดงของไทยที่มากคุณค่า
เริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป การแสดงละครชาตรี จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ เรื่อง “ระเด่นลันได” โขนนั่งราว หนึ่งในโขนโบราณที่หาชมได้ยากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นที่นิยมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะใช้ราวไม้กระบอกที่อยู่หน้าฉากเป็นที่สำหรับนั่ง ผู้แสดงจะเอาเท้าพับนั่งบนราว อีกเท้าหนึ่งห้อยลงเหยียบพื้นโรง ในอดีตจะเล่นกันมากในงานของชาวบ้าน เนื่องจากเล่นกันง่าย ไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน
โขนรามเกียรติ์ นาฏกรรมล้ำค่ากับวิวัฒนาการของยุคสมัย
การแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุดพิเศษ โดยครูมืด (ประสาท ทองอร่าม) ร่วมด้วยศิลปินจากกรมศิลปากรกว่า 100 ชีวิต ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการแสดงโขนที่มีวิวัฒนาการเหมาะกับสมัยของผู้ชม ทั้งบทสำหรับแสดงโขนเพื่อให้เรื่องดำเนินไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เสียความเป็นศิลปะชั้นสูง อีกทั้งความรู้เกี่ยวกับตัวละคร และแทรกความบันเทิงควบคู่กันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้คนไทยหันมาอนุรักษ์และสนับสนุนการแสดงโขนให้มากยิ่งขึ้นด้วย
โชว์การแสดงพื้นบ้าน และย้อนรำลึกการละเล่นเด็กไทย
ตลอดเวลา 2 วันของพิธีบวงสรวงเสาชิงช้า ยังมีการแสดงอื่นๆ เช่น การแสดงละครนอก การแสดงหุ่นกระบอก การขับเสภา ลิเกเด็ก การแสดงศิลปะแม่ไม้มวยไทย มวยคาดเชือก การแสดงกลองยาวโบราณ การแสดงพื้นบ้าน เพลงฉ่อย เพลงอีแซว และการแสดงนารายณ์ทรงสุบรรณ โดยศิลปินชั้นครูจากกรมศิลปากร วิทยาลัยนาฏศิลป์ และคณะแสดงอีกจำนวนมาก สลับบรรยากาศด้วยการแสดงดนตรีลูกกรุง จากศิลปินชั้นครู อาทิ ชรินทร์ นันทนาคร โฉมฉาย ฉัตรวิไล เป็นต้น และการแสดงดนตรี สุนทราภรณ์วงใหญ่
ไม่เพียงเท่านี้ กรุงเทพมหานครยังได้จัดลานกิจกรรม เพื่อสาธิต และชวนประชาชนร่วมสนุกกับการละเล่นของเด็กไทย อาทิ โพงพาง เดินกะลา รีๆ ข้าวสาร มอญซ่อนผ้า และการเล่นสะบ้า ซึ่งกรุงเทพมหานครได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ภายในศูนย์เยาวชนต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร อีกด้วย
นิทรรศการภาพถ่ายประวัติศาสตร์ บันทึกหน้าสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้จัดนิทรรศการภาพแห่งประวัติศาสตร์ของการเสด็จพระราชดำเนินในการฉลองเสาชิงช้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์กล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าจากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่สกัดดีเอ็นเอจากเปลือกไม้สักทองที่นำมาทำเสาชิงช้า เพื่อให้เห็นถึงความตั้งใจของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันอนุรักษ์ไม้สักทอง และขยายพันธุ์ให้ได้ 1 ล้านต้น แจกจ่ายให้กับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์สักมงคล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษาในปีพุทธศักราช 2554
จองกล้าสักมงคลพร้อมระบุสถานที่รับกล้าไม้ทางเว็บไซต์ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ไม้มงคล
สำหรับผู้ที่สนใจจะนำกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าไปปลูกเพื่อร่วมอนุรักษ์และเป็นสิริมงคล สามารถจองได้ทางเว็บไซต์ www.klasakmongkol.org หรือ เว็บไซต์กรุงเทพมหานคร www.bangkok.go.th หรือเว็บไซต์ของกรมป่าไม้ และไบโอเทค โดยประชาชนทั่วไปจองได้คนละ 1 ต้น และหน่วยงานรัฐ วัด โรงเรียน องค์กรเอกชน จองได้ 9 ต้น ทั้งนี้ในเว็บไซต์จะมีคู่มือในการจองกล้าสักมงคลทางเว็บไซต์ เพียงใช้หมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเป็นตัวกำหนดในการเข้าสู่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้จองและสถานที่ที่จะนำไปปลูกกล้าไม้สัก เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้แก่กรมป่าไม้ในการติดตามและให้คำแนะนำในการดูแลรักษาต้นสักทอง นอกจากนี้ภายในเว็บไซต์ยังมีคู่มือการปลูกและการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เนื่องจากกล้าสักมงคลเป็นกล้าไม้ที่ใช้วิธีการเพาะพันธุ์เนื้อเยื่อ จึงต้องมีการเตรียมดินและการดูแลพิเศษเพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน
จองกล้าสักมงคลเพื่อร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ไม้มงคลทางเว็บไซต์
ประชาชนสามารถจองกล้าสักมงคลได้ทางเว็บไซต์ www.klasakmongkol.org หรือเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร www.bangkok.go.th และเว็บไซต์ของกรมป่าไม้ และไบโอเทค โดยผู้จองกล้าสักมงคล สามารถเลือกระบุสถานที่รับกล้าไม้ที่สะดวกที่สุด โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถเลือกรับได้ที่สวนสาธารณะ 7 แห่ง ได้แก่ สวนลุมพินี สวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนหลวง ร.9 อุทยานเบญจสิริ สวนธนบุรีรมย์ และฝ่ายขยายพันธุ์ไม้ (อ่อนนุช) นอกจากนี้ยังสามารถรับได้ที่อาคารไบโอเทค (สวทช.)อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ส่วนต่างจังหวัดสามารถรับได้ที่ ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ หรือสถานีเพาะชำกล้าไม้ของกรมป่าไม้ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยพิมพ์ใบจอง พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงเพื่อนำไปรับกล้าสักมงคลตามสถานที่ที่ระบุไว้
ผู้ที่จอง 20,000 ต้นแรก รับกล้าไม้ ได้ตั้งแต่ 26 กันยายนนี้ตามสถานที่ที่ระบุไว้
ขณะนี้ ยอดจองกล้าสักมงคลในพื้นกรุงเทพมหานคร มีจำนวน 11,717 ต้น และยอดจองกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 57,865 ต้น ซึ่งเกินจำนวนกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าที่เพาะพันธุ์ได้ในปี 2552 ซึ่งมีจำนวนเพียง 20,000 ต้นเท่านั้น ทั้งนี้ผู้ที่มีลำดับจอง 20,000 ต้นแรก สามารถขอรับกล้าไม้ได้ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2552 เป็นต้นไป ลำดับถัดจากนั้นจะขอรับได้ในปี 2553 โดยปี 2553 ไบโอเทคจะสามารถแจกจ่ายจำนวนกล้าสักมงคลที่เพาะพันธุ์ได้อีก 280,000 ต้น และปี 2554 จำนวน 700,000 ต้น ทั้งนี้ขอให้ผู้จองต้นสักมงคลตรวจสอบกำหนดวันรับต้นสักทองทางเว็บไซต์ โดยพิมพ์หมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของผู้สั่งจอง ซึ่งระบบจะแจ้งกำหนดวันรับให้ทราบ อย่างไรก็ตามประชาชนและหน่วยงานยังสามารถจองกล้าสักมงคลได้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะครบ 1 ล้านต้น
โอกาสนี้ ภายในงานได้ตั้งโต๊ะเพื่อเปิดให้จองกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า ช่วงเวลา 16.00—19.00 น. ของวันที่ 25-26 ก.ย. 52 บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม. อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาร่วมงาน เพื่อร่วมกันนำกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าไปปลูกเป็นสิริมงคล และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษาในปีพุทธศักราช 2554