กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--แบรนด์คอม คอนซัลแทนส์
บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ผู้นำในด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม รายงานผลการดำเนินงานของปี 2548 มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2547 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมโดยรวมและเป็นฐานที่มั่นคงที่ทำให้บริษัทฯคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปี 2549
มร. เดวิด นาร์โดน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานในปี 2548 เป็นจำนวนเงิน 583.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปี 2547 กำไรสุทธิจำนวน 637 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เป็นจำนวน 2,930.4 ล้านบาท และมีรายได้รวมเป็นจำนวน 3,009.9 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นสำหรับปี 2548 คิดเป็นร้อยละ 41 ขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน เท่ากับร้อยละ 29 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
มร. นาร์โดน กล่าวว่า “ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของปี 2548 มาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และปิโตรเคมี กลยุทธ์ในการขยายฐานรายได้ของบริษัทฯได้เพิ่มขีดความสามารถในการคาดการณ์รายได้ให้แก่บริษัทฯ ขณะที่บริษัทฯยังคงรักษาสถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง โครงการคอนโดมิเนียมหรู เดอะพาร์ค ชิดลม มีผลประกอบการที่ดีและมีส่วนสำคัญในการเพิ่มผลกำไรให้บริษัทฯ ทั้งนี้บริษัทฯคาดการณ์ว่าจะสามารถทำรายได้ในปี 2549 เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2548 เป็นจำนวน 6 พันล้านบาท ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในกลยุทธ์การขยายฐานรายได้
ในปี 2548 บริษัทฯมียอดขายที่ดินอุตสาหกรรมคิดเป็นพื้นที่รวม 716 ไร่ จากการลงนามในสัญญาจำนวนรวม 51 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นลูกค้าใหม่ 23 ราย และเป็นการขยายกิจการของลูกค้าเดิม 28 ราย ทำให้ลูกค้าในนิคมฯของเหมราชขณะนี้มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 312 ราย โดยเป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 103 ราย ขณะเดียวกันพื้นที่จากการให้เช่าหรือขายโรงงานสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 คิดเป็นพื้นที่ 24,000 ตารางเมตร โดยในปี 2548 บริษัทฯได้ลงนามในสัญญาการขายหรือให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปรวมทั้งสิ้น 20 สัญญา ในจำนวนนี้เป็นสัญญาให้เช่าจำนวน 13 สัญญาและสัญญาซื้อขาย 7 สัญญา ในส่วนของบริการสาธารณูปโภคมียอดขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และ ณ สิ้นสุดปี 2548 บริษัทฯ ขายห้องชุดในโครงการเดอะพาร์ค ชิดลมไปแล้ว 158 ยูนิต หรือ ร้อยละ 72 ของจำนวนห้องชุดทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าการขายมากกว่า 4 พันล้านบาท
ในส่วนของการขยายธุรกิจในปี 2548 บริษัทได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับบริษัท ซีเมนต์ไทยพร็อพเพอร์ตี้ (2201) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในบริษัท เอส ไอ แอล ที่ดินอุตสาหกรรม จำกัด (เอสไอแอล) และสัญญาร่วมทุนกับบริษัทในเครือ สุเอซ เอเนอจี เพื่อจัดตั้งบริษัท โกลว์ เหมราช จำกัด เพื่อเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้า ไอพีพี ในอนาคตอันใกล้สำหรับปี 2549 บริษัทฯ กำลังพัฒนาที่ดิน 1,700 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด ระยะที่ 1 ขณะเดียวกันก็จะทำการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) และเปิดเขตปลอดภาษีในเขตประกอบการอุตสาหกรรม เอส ไอ แอล (สระบุรี) สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอื่นๆ พร้อมทั้งเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการ เดอะพาร์ค ชิดลม ให้แก่ลูกค้า ขณะที่ยังคงขยายธุรกิจการให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงาน”
มร.นาร์โดน ย้ำว่า “รายได้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2549 จะมาจากธุรกิจหลักของเหมราชฯ โดยบริษัทฯตั้งเป้าการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมรวม 1,000 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปี 2548 ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทฯคาดการณ์ว่าพื้นที่จากการขายหรือให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปจะเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 30 และการให้บริการด้านสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 อันเป็นผลมาจากการที่ลูกค้าในอุตสาหกรรมเคมีหลายรายจะเริ่มเปิดดำเนินการในปีนี้
สำหรับโครงการ เดอะพาร์ค ชิดลม การก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2549 และสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ลูกค้าได้ตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2549 บริษัทฯ มียอดขายห้องชุดคิดเป็นร้อยละ 78 มูลค่ารวมกว่า 4,350 ล้านบาท
เกี่ยวกับบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน
บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531 และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2535 ปัจจุบันบริษัทฯ มีทรัพย์สินมูลค่ารวมประมาณ 9,000 ล้านบาท (225 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับสากล ธุรกิจหลักในเครือเหมราช คือ การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม การให้เช่าและขายโรงงานสำเร็จรูป รวมไปถึงการบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ธุรกิจด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของบริษัท ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมรวม 6 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) นิคมอุตสาหกรรม เหมราช อีสเทิร์น ซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) นิคมอุตสาหกรรม เหมราชชลบุรี เขตประกอบการอุตสาหกรรม ระยอง อินดัสเตรียลแลนด์ และเขตประกอบการอุตสาหกรรม เอส ไอ แอล (สระบุรี) โดยมีที่ดินประมาณ 32,000 ไร่ ซึ่งได้พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 320 รายซึ่งเป็นผู้ประกอบการทางด้านยานยนต์กว่า 100 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานในนิคมฯต่างๆของเหมราชพัฒนาที่ดินราว 50,000 คน มีเงินลงทุนรวมของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯเป็นมูลค่าประมาณ10,500 ล้านเหรียญสหรัฐ--จบ--