กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--ปภ.
ปภ. แนะนำข้อสังเกตการเกิดพายุฤดูร้อนและการเตรียมรับมือหากต้องเผชิญสถานการณ์ พร้อมเตือนประชาชนในภาคอีสานให้ระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะนี้
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจติดตามสภาพอากาศพบว่า ระหว่างวันที่ 15-21 มีนาคม 2549 ว่าจะมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมทางตอนบนของประเทศ ประกอบกับมีลมตะวันออกพัดปกคลุมประเทศไทย อาจส่งผลให้เกิดพายุฤดูร้อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ สาเหตุดังกล่าวอาจทำให้บางพื้นที่ของภาคต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยในช่วงเช้าจะมีอากาศเย็น และมีฝนฟ้าคะนองเป็นบางแห่ง ข้อสังเกตก่อนการเกิดภาวะดังกล่าวก็คือ จะมีอากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน ลมสงบแม้ใบใม้ก็ไม่ไหว ความชื้นในอากาศสูง จนรู้สึกเหนียวตามร่างกาย ท้องฟ้ามัว ทัศนวิสัยในการมองระยะไกลไม่ชัดเจน มีเมฆมากขึ้น ท้องฟ้ามืดครึ้ม มีลมกระโชกแรงเป็นครั้งคราว มีฝนตกหนัก บางครั้งมีลูกเห็บตก ฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบ หากนับในใจ 1-3 แล้วได้ยินเสียงฟ้าร้อง แสดงว่าพายุอยู่ห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตร และถ้าเห็นฟ้าร้องและฟ้าแลบพร้อม ๆ กัน แสดงว่าพายุอยู่ใกล้มาก ซึ่งภาวะนี้จะกินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากเกิดพายุฤดูร้อนแล้ว จะรู้สึกว่าอากาศเย็นลง รู้สึกสดชื่น ท้องฟ้าแจ่มใส ทันศนวิสัยชัดเจน
ดังนั้น หากพี่น้องประชาชนอยู่ในพื้นที่เสียงต่อการเกิดพายุฤดูร้อน ควรติดตามสภาวะอากาศอย่างใกล้ชิด สำหรับอาคารสูงควรติดตั้งสายล่อฟ้า ปลูกสร้าง ซ่อมแซมอาคาร บ้านเรือนให้แข็งแรง เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยงและพืชผลทางการเกษตร ขณะอยู่กลางแจ้งในช่วงที่ฟ้าคะนอง ไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และไม่สวมใส่เครื่องประดับโลหะ หลีกเลี่ยงการใช้รถใช้ถนน เนื่องจากทัศนิสัยจะไม่ชัดเจน อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หากพี่น้องประชาชนได้รับอันตราย หรือมีทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยง พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อน สามารถแจ้งขอรับความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่ โทร 1784 หรือ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตพื้นที่ของท่าน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ โทร./โทรสาร.0-2243-0674 e-mail : public@disaster.go.th