บสท. เผยผลการดำเนินงาน บสท. 5 ปี

ข่าวทั่วไป Monday September 11, 2006 10:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--บสท.
นับแต่ บสท. เปิดดำเนินงานครบ 5 ปีตั้งแต่ปี 2544-2549 สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ได้รับโอนมาทั้งสิ้น 15,275 ราย มูลค่าทางบัญชี 776,242 ล้านบาท ได้บริหารจัดการจนมีข้อยุติแล้วทั้งหมด และมีรายรับจากการบริหารประมาณ 104,200 ล้านบาท ระยะเวลาที่เหลือเน้นการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผลัก NPA กลับเข้าสู่ระบบ ทั้งหมดเป็นภาระหน้าที่หลักในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของประเทศแบบเบ็ดเสร็จเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง บสท.
รัฐบาลได้จัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เมื่อกลางปี 2545 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บสท. เปิดดำเนินการมาจนครบรอบ 5 ปีได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเป็นองค์กรกลางในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อย คุณภาพของประเทศ โดยการช่วยฟื้นฟูกิจการให้ลูกหนี้สามารถกลับไปประกอบธุรกิจได้ตามปกติเป็นจำนวนมาก นับว่า บสท. ประสบความสำเร็จในพันธกิจหลักการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการ ผู้จัดการ บสท. กล่าวว่า “สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ บสท. รับโอนมาทั้งสิ้น 15,275 ราย มูลค่าทางบัญชี 776,242 ล้านบาท ได้บริหารจัดการจนมีข้อยุติแล้วทั้งหมด เป็นการปรับโครงสร้างหนี้หรือฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลาง (TDR) จำนวน 7,966 ราย มูลค่าทางบัญชี 527,260 ล้านบาท ร้อยละ 68.27 ของมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มี ข้อยุติ ส่วนที่เหลือเป็นลูกหนี้ที่ได้ดำเนินการบังคับหลักประกัน/พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (Non-TDR) จำนวน 7,307 ราย มูลค่าทางบัญชี 245,060 ล้านบาท ร้อยละ 31.73 ของมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีข้อยุติ”
นายสมเจตน์ กล่าวว่า หนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จหรือฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลาง( TDR) มูลค่าทางบัญชี 527,260 ล้านบาทนั้น มีมูลค่าตามแผนการชำระหนี้รวมทั้งสิ้น 318,819 ล้านบาท ประกอบด้วยแผนการผ่อนชำระหนี้มูลค่า 157,557 ล้านบาท แผนการตีโอนทรัพย์หลักประกันเพื่อชำระหนี้มูลค่า 64,998 ล้านบาท แผนการจำหน่ายทรัพย์หลักประกันเพื่อนำเงินมาชำระหนี้มูลค่า 36,942 ล้านบาท แผนการชำระหนี้เงินสดภายใน 6 เดือนหลังลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มูลค่า 26,454 ล้านบาท และแผนการแปลงหนี้เป็นทุนมูลค่า 32,868 ล้านบาท ลูกหนี้ที่มีข้อยุติโดยการปรับโครงสร้างหนี้หรือฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลางมีอัตราที่คาดว่าจะได้รับชำระคืน (Expected Recovery Rate) จากแผนการปรับโครงสร้างหนี้หรือฟื้นฟูกิจการอยู่ที่ประมาณร้อยละ 49.29 ของมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ได้ข้อยุติโดยการปรับโครงสร้างหนี้หรือแผนฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลาง
การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในช่วง 5 ปี บสท. มีรายรับทั้งสิ้นประมาณ 104,200 ล้านบาท เป็นเงินรับจากการชำระหนี้ตามแผนปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 89,006 ล้านบาท การขายทรัพย์สินรอการขาย(NPA) จำนวน 14,407 ล้านบาท และการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนวน 795 ล้านบาท โดย บสท. นำเงินดังกล่าวส่วนหนึ่งไปใช้ในการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินจากการที่ บสท. รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ซึ่งได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 263,977 ล้านบาท อาวัลโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และ บสท. ได้ไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินในส่วนของเงินต้น 87,099 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 32.99 ของตั๋วสัญญาใช้เงินในส่วนของเงินต้น และชำระดอกเบี้ย 12,830 ล้านบาท และตาม พ.ร.ก. บสท. พ.ศ. 2544 กำหนดให้สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหาร สินทรัพย์ผู้โอนสินทรัพย์ด้อย คุณภาพมีความรับผิดชอบร่วมกับ บสท. ในผลกำไรหรือขาดทุนจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการรับรู้และคำนวณกำไรหรือผลขาดทุนของการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Gain/Loss Sharing) เมื่อสิ้นปีที่ 5 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
“จากนโยบายหลักของ บสท. ที่มุ่งช่วยเหลือลูกหนี้สุจริตที่มีศักยภาพสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปฏิบัติตามแผนปรับโครงสร้างหนี้กับ บสท.ได้ โดยที่ผ่านมาลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้สามารถชำระเงินเสร็จสิ้นตามแผนการชำระหนี้และปิดบัญชีและส่งกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วจำนวน 1,527 ราย มูลค่าทางบัญชี 48,874 ล้านบาท นอกจากนี้ บสท. ได้ประสานงานสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนในการช่วยจัดหาสินเชื่อ (Refinance) และแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในกิจการใหม่ ( Working Capital) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจให้กับลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 52 ราย วงเงินประมาณ 12,157 ล้านบาท ในจำนวนลูกหนี้ดังกล่าว 9 ราย ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้วประมาณ 277 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ” นายสมเจตน์ กล่าว
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2549 ทรัพย์สินที่ได้รับจากการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้และบังคับหลักประกันเข้ามาเป็นทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ บสท. มีประมาณ 89,475 ล้านบาท และจำหน่ายทรัพย์สินไปแล้วกว่า 15,200 ล้านบาท จากการดำเนินนโยบายการขายทรัพย์สินออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลัก NPA กลับเข้าสู่ระบบด้วยการเปิดขายทรัพย์สินผ่านเว็บไซต์ www.tamc.or.th ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ การสร้างเครือข่ายเพื่อกระจายทรัพย์สินผ่านตัวแทนขายอสังหาริมทรัพย์สู่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการจัดกลุ่มทรัพย์สินออกขายและจากการสอบถามข้อมูลจากนักลงทุนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไป จำนวน 537 ราย ในเบื้องต้นพบว่าในอนาคต 2-3 ปี ข้างหน้า ผู้ลงทุน 137 ราย มีแผนการลงทุนเพิ่มเพื่อก่อสร้างโครงการต่างๆ คิดเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 12,800 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการจัดสรรเพื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 5,700 ล้านบาท โครงการเพื่ออุตสาหกรรมประมาณ 1,400 ล้านบาท โครงการที่จะพัฒนาเป็นสำนักงานประมาณ 1,300 ล้านบาท และโครงการพาณิชย์ขนาดย่อมประมาณ 4,400 ล้านบาท นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่ทำให้ทรัพย์สินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและได้นำไปใช้ประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจ
นายสมเจตน์ กล่าวในตอนท้ายว่า บสท. ได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากภัยสึนามิในปี 2547 และจากฝนตกหนักรวมทั้งน้ำป่าไหลหลากทางภาคเหนือตอนล่างช่วงต้นปี 49 สำหรับลูกหนี้ที่ประสบภัยและได้รับความเสียหายโดยตรง ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 เป็นระยะเวลา 1 ปี และจะทบทวนความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ปรับลดเงินชำระหนี้ต่องวด หรือพักแขวนการผ่อนชำระดอกเบี้ยไว้ก่อนแล้วแต่กรณี และลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจโดยอ้อม บสท. มีมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 1 ปี และทบทวนความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ปรับลดเงินชำระหนี้ต่องวด หรือพักแขวนการผ่อนชำระดอกเบี้ยไว้ก่อนแล้วแต่กรณี ด้านการช่วยเหลือสังคม บสท. ได้ร่วมบริจาคเงินผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และบริจาคเงินสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล จำนวน 5 ล้านบาท ในวโรกาสการฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชอีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
สำนักงานองค์กรสัมพันธ์ /โทร.0-2357-1503-5

แท็ก รับโอน   บัญชี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ