2 หน่วยงานรัฐ ผนึกกำลังติดสปริง ขนมไทย โกอินเตอร์

ข่าวเทคโนโลยี Thursday May 25, 2006 10:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--สวทช.
โครงการ ITAP (สวทช.) ร่วมกับ บ.อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด (สสว.) จัดสัมมนา “ยกระดับขนมไทย ก้าวไกลสู่ตลาดสากล” รวมกลุ่มคลัสเตอร์ขนมไทยด้านเทคโนโลยีครั้งแรก เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และบรรจุภัณฑ์ หวังติดสปริงผู้ประกอบการขนมไทยให้มีศักยภาพออกไปแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น หลังถูกขนมต่างชาติราคาแพงเข้ามาชิงส่วนแบ่งทางตลาดในประเทศไปกว่า 40 % ตั้งเป้า ดำเนินการพัฒนาการผลิตแก่ผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 20 ราย ภายในระยะเวลา 2 ปี
ขนมไทย เป็นอาหารที่มาคู่กับชนชาติไทยตั้งแต่โบราณ ถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีของไทยอย่างหนึ่ง ที่คนไทยนิยมทำขนมเฉพาะในงานเลี้ยง อาทิ งานทำบุญเลี้ยงพระ งานขึ้นบ้านใหม่และเป็นของฝากในเทศกาลต่างๆ ปัจจุบันนอกจากจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทยแล้ว ยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติที่หันมาบริโภคขนมไทยเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขนมไทยแบบโบราณ , ขนมขบเคี้ยว หรือ ผลไม้ไทยแปรรูป ทำให้ขนมไทยมีศักยภาพมากพอที่จะก้าวสู่ตลาดสากลได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการขนมไทย โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกับ บริษัทอุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดสัมมนา “ ยกระดับขนมไทย ก้าวไกลสู่ตลาดโลก ” ขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในการจัดสัมมนาฯ ครั้งนี้ เป็นการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ขนมไทยทางด้านเทคโนโลยีครั้งแรกของไทย จากเดิมที่เป็นเพียงการรวมกลุ่มคลัสเตอร์เฉพาะด้านการตลาด แต่จากความไม่พร้อมของผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตและรักษาคุณภาพสินค้าได้ตามการเติบโตที่สูงขึ้น ดังนั้น ทางโครงการ ITAP และ บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ร่วมกันจัดสัมมนาคลัสเตอร์ขนมไทยขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาการผลิตที่ผู้ประกอบการขนมไทยส่วนใหญ่ประสบอยู่ อาทิ เรื่องการปนเปื้อน การยืดอายุอาหาร เรื่องมาตรฐานการผลิต และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์หรือแพคเกจจิ้ง รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วยด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อย่างไร ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไทยไปยังตลาดต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น
ขนมไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มทางตลาดที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นขนมพื้นบ้าน หรือ ขนมขบเคี้ยวที่เรารู้จักคุ้นเคย แต่ด้วยความที่ขนมไทยมีกระบวนการผลิตที่พิถีพิถันผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมาจึงมีปริมาณน้อยและยังใช้แรงงานฝีมือเป็นหลัก ดังนั้นในการที่จะทำให้ขนมไทยผลิตออกมาในปริมาณมากๆ นั้น จำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิต และพัฒนาคุณภาพขนมไทยให้ดีขึ้น มีรสชาติที่หลากหลายและเหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ รวมทั้งการพัฒนาแพคเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ขนมไทยสามารถขยายตลาดส่งออกไปแข่งขันในต่างประเทศได้ทั้งในเอเชีย , ยุโรป หรือ ตะวันออกกลาง” รศ.ดร.สมชาย กล่าว
สำหรับบริการที่โครงการ ITAP (สวทช.) จะเข้าให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการขนมไทย อาทิ การจัดผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำแนะนำปรึกษา เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม และการสนับสนุนด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งการนำผู้ประกอบการออกไปเสาะหาเทคโนโลยีในต่างประเทศ โดยตั้งเป้าภายใน 2 ปีจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ไม่ต่ำกว่า 20 ราย
นายพีรวงศ์ จาตุรงคกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทอุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาขนมไทย รวมทั้งผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการแข่งขันได้โดยเฉพาะในระดับสากล ซึ่งจากการศึกษาและสำรวจข้อมูลตลาดทั้งในและต่างประเทศ พบว่า การพัฒนาด้านกระบวนการผลิต และการวิจัย พัฒนา ถือเป็น 2 ปัจจัยหลักที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มศักยภาพของกลุ่มคลัสเตอร์ขนมไทย
“ แนวโน้มของขนมไทยต่อไปไม่เพียงแข่งขันกับตัวเองหรือตลาดในประเทศเท่านั้น วันนี้ เราจะต้องมองไปข้างนอก มิเช่นนั้นแล้วเราจะไม่สามารถแข่งขันกับขนมจากต่างประเทศที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดขนมในบ้านเรา ที่วันนี้จะพบว่ามีขนมนำเข้าวางจำหน่ายอยู่ถึง 40 % ทั้งในห้างสรรพสินค้าและมินิมาร์คต่างๆ จึงถึงเวลาแล้วที่ขนมไทยควรจะต้องพัฒนาตนเองเพื่อเข้าไปแข่งขัน ที่สำคัญคือ ขนมไทยเป็นอาหารที่มีผู้บริโภครอคอยอยู่อีกมาก แต่เราจำเป็นต้องพัฒนาเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วย ” นายพีรวงศ์ กล่าว และว่า
จึงเป็นที่มาของการเข้าร่วมโครงการ ITAP ( สวทช.) ที่มีบุคลากรและองค์ความรู้ที่จะช่วยแก้ปัญหาตอบโจทย์ของผู้ประกอบการได้ และยังเป็นทางลัดให้กับผู้ประกอบการเกิดผลสัมฤทธิ์ได้เร็วที่สุด เช่นกรณี หจก.ข้าวแต๋นแม่บัวจันทร์ จังหวัดลำปาง และ บ. ขนมไทยสุพัตรา จำกัด ผู้ผลิตลูกชุบ จากวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ หลังเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการฯ ได้พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์จนกลายมาเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม เป็นที่ยอมรับของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นอาหารไทยที่ใช้โปรโมทในงานเลี้ยงรับรองระดับชาติ และสามารถยกระดับตนเองจากร้านค้าเล็กๆ ขึ้นเป็นนิติบุคคล เป็นการก้าวกระโดดภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยและถือการนำร่องให้กับเป็นผู้ประกอบการขนมไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขนมไทย สู่ตลาดสากล
นายพีรวงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ ขนมไทย หรือ ผลไม้ไทย จะยกระดับให้ก้าวไกลได้ จะต้องทำทั้งด้านการตลาดควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูด เพราะตลาดต่างประเทศให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและมาตรฐานอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้ขนมไทยอยู่รอดเราต้องพัฒนา และเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP และ HACCP ต่อไป เชื่อว่า นอกจากจะได้พัฒนากระบวนการผลิตแล้ว ยังทำให้ผู้ประกอบการขนมไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย และสะดวกขึ้น ซึ่งจะช่วยต่อยอดให้กับเอสเอ็มอีไทยได้เห็นฝันที่เป็นจริง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนกว่าหมื่นรายทั่วประเทศได้รับโอกาสดังกล่าว และหวังว่าจากการริเริ่มครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเองจนในที่สุดสามารถพัฒนาได้ทั้งระบบ ”
ด้าน นางสาว กรกรม ลีลาธีรภัทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขนมไทยเก้าพี่น้อง จำกัด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม“แฟนพันธุ์แท้ขนมไทย” ได้แสดงความคิดเห็นต่อการเข้าร่วมโครงการฯ ว่า “ บริษัทฯ เตรียมขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงมีความสนใจเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ ITAP ประกอบกับบริษัทกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนา ทั้งด้านสถานประกอบการ บุคลากร และผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของระบบ GMP แต่ยังขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาให้ความรู้ ดังนั้นจึงเห็นว่า โครงการ ITAP จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ก้าวไปสู่คุณภาพและมาตรฐานการส่งออกตามที่ตั้งเป้าหมายไว้”
ขณะที่ นายสุธาณี เยาวพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ หจก.ข้าวแต๋นแม่บัวจันทร์ ในฐานะต้นแบบของอุตสาหกรรมขนมไทยที่กล้าพัฒนาผลิตภัณฑ์จนสามารถก้าวจากผลิตภัณฑ์ชุมชน ไปสู่ตลาดสากล เปิดเผยว่า ปัจจุบันแม้บริษัทฯ จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จนเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฯลฯ แต่ก็ยังไม่คิดหยุดที่จะพัฒนาตนเอง ล่าสุดบริษัทฯ เตรียมเข้ารับการสนับสนุนด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จาก สวทช. เพื่อจัดซื้อเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เข้ามาพัฒนาการยืดอายุอาหารจาก 6 เดือน เป็น 12 — 18 เดือน ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทสามารถขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และอังกฤษได้เพิ่มมากขึ้น
“ ทั้งนี้ ยอมรับว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องใช้เวลาในการเสาะหาพันธมิตรจากหน่วยงานของรัฐเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุน จากจุดเริ่มต้นเพียงวิสาหกิจชุมชนเล็กๆในจังหวัดลำปาง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 และได้เข้าร่วมกับ บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด เมื่อปี 2546 จนกระทั้งถึงปี 2549 สามารถสปีคตัวเองขึ้นมาภายในเวลา 4 ปี ปัจจุบันได้ขยายโรงงานจาก เงินลงทุน 3 แสนบาท มาเป็น 6 ล้านบาท และคาดว่า จะสามารถขยายตัวได้ถึง 200% ภายในปี 2550 ซึ่งต้องยอมรับว่า เป็น หจก.ที่เติบโตเร็วพอสมควร เพราะการได้รับโอกาสจากโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เช่น สสว. และ โครงการ ITAP ของ สวทช. ” นายสุธาณี กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2564-8000 หรือ www.nstda.or.th/itap
( สื่อมวลชนที่สนใจข้อมูล-ภาพ เพิ่มเติม ติดต่อได้ที่คุณนก,คุณเกด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ ITAP โทร.0-2619-6187, 88 )

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ