กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนกันยายน 2552 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี โดยแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีแรก แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังและกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้ายเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการใช้จ่ายของภาครัฐโดยเฉพาะรายจ่ายเพื่อการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง และการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ยังฟื้นตัวช้า สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2552 จะหดตัวมาอยู่ที่ร้อยละ -0.8 ต่อปี ตามราคาน้ำมันที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ของกำลังแรงงาน เนื่องจากการจ้างงานที่กลับมาเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2552 คาดว่าจะเกินดุลมากที่ร้อยละ 8.0 ของ GDP เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงเร็วกว่าการส่งออกมาก
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2553 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 — 4.1 ต่อปี) โดยมีแรงส่งเชิงนโยบายต่อเนื่องจากปลายปี 2552 จากการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง และการใช้จ่ายภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2552 ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 - 3.0 ต่อปี) ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2552 ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2553 จะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7 — 4.6 ของ GDP) เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้ามีทิศทางเร่งตัวขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออก โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. เศรษฐกิจไทยในปี 2552
1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกที่หดตัวมากจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการหดตัวลงมาก โดยแม้ว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าและบริการในครึ่งปีหลัง แต่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการของทั้งปี 2552 คาดว่าจะยังหดตัวที่เฉลี่ยร้อยละ -14.8 ต่อปี สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะหดตัวลงมากที่ร้อยละ -22.2 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าเพื่อส่งออกสินค้าที่ลดลงและการหดตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -13.7 ต่อปี ตามการตัดสินใจที่จะชะลอการลงทุนของภาคเอกชน ในช่วงที่ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและในประเทศลดลง ส่วนการบริโภคภาคเอกชนแม้ว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังอันเป็นผลมาจากรายได้เอกชนที่ดีขึ้นตามการจ้างงานที่กลับมาเพิ่มขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ของรัฐบาลที่ช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้แก่ภาคครัวเรือน แต่การใช้จ่ายภาคเอกชนที่หดตัวมากในครึ่งปีแรกจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนเฉลี่ยในปี 2552 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี
บทบาทสำคัญในการชะลอการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จะขึ้นอยู่กับการเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งที่จะต้องเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการบริโภคภาครัฐในปี 2552 จะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี ขณะที่การลงทุนภาครัฐในปี 2552 จะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ต่อปี
12 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวจากปีก่อนที่ร้อยละ -0.8 ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับลดลงมากจากปี 2551 และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาน้ำมันและราคาอาหารสด จะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ส่วนอัตราการว่างงานมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ของกำลังแรงงาน เนื่องจากการจ้างงานที่กลับมาเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2552 จะเกินดุลสูงมากถึงร้อยละ 8.0 ของ GDP เนื่องจากการเกินดุลการค้าที่สูงถึง 20.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นผลจากมูลค่าสินค้านำเข้าที่หดตัวลงมากกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่าสินค้านำเข้าในปี 2552 จะหดตัวมากจากฐานสูงในปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ -28.8 ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -17.2 ต่อปี
2. เศรษฐกิจไทยในปี 2553
2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 — 4.1 ต่อปี) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐภายใต้กรอบงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 ของ GDP และรายจ่ายลงทุนของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ทำให้คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 8.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.2 — 11.3 ต่อปี) ขณะที่การบริโภคภาครัฐในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.7 ต่อปี) นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำมากในปี 2552 โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7 — 4.7 ต่อปี) เนื่องจากคาดว่ารายได้ของภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ประกอบกับจำนวนการจ้างงานและจำนวนชั่วโมงการทำงานน่าจะกลับเข้าสู่ระดับปกติ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในปี 2553 คาดว่ากลับมาขยายตัวจากฐานที่ต่ำเช่นกัน มาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.7 — 9.0 ต่อปี) โดยการใช้จ่ายในโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งคาดว่าจะช่วยดึงให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย (Crowding-in Effect) และอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่ายังอยู่ในระดับต่ำจะเอื้อให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น สำหรับการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.8 — 6.7 ต่อปี) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักและฐานที่ต่ำในปีก่อน ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นที่ร้อยละ 12.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 10.6 — 14.2 ต่อปี) ซึ่งเป็นผลจากทั้งการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศและการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น
2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 — 3.0 ต่อปี) จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงาน (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.0 — 1.5 ของกำลังแรงงาน) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7 — 4.6 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลงลงมาอยู่ที่ 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ช่วงคาดการณ์ที่ 8.7 — 11.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เนื่องจากมูลค่าสินค้านำเข้าขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่าสินค้าส่งออกในปี 2553 จะขยายตัวที่ร้อยละ 10.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.0 — 11.4 ต่อปี) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 19.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 17.0 — 21.9 ต่อปี) ตามการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศและการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่นำมาผลิตเพื่อส่งออก
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3255
ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2552 และ 2553 (ณ เดือนกันยายน)
2551 2552 f 2553f
เฉลี่ย ช่วง
สมมติฐานหลัก
สมมติฐานภายนอก
1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 14 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี) 2.7 -1.5 2.8 1.8 — 3.8
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) 95.0 61.2 80.0 75.0 — 85.0
สมมติฐานด้านนโยบาย
3) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) 33.2 34.5 34.0 33.5 — 34.5
4) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี) 2.75 1.25 1.50 1.25 — 1.75
5) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท) 2.17 2.41 2.47 2.40-2.53
ผลการประมาณการ
1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี) 2.6 -3.0 3.3 2.5 — 4.1
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภครวม (ร้อยละต่อปี) 2.2 -0.2 4.3 3.7 — 4.9
- การบริโภคภาคเอกชน ( ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 2.5 -1.3 4.2 3.7 — 4.7
- การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 0.4 6.4 4.8 4.0 — 5.7
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวม (ร้อยละต่อปี) 1.1 -9.1 7.0 3.4 — 9.6
- การลงทุนภาคเอกชน ( ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 3.2 -13.7 6.6 2.7 — 9.0
- การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) -4.8 5.3 8.2 5.2 — 11.3
4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี) 5.4 -14.8 5.6 4.8 — 6.7
5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี) 7.5 -22.2 12.4 10.6 — 14.2
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) 0.2 20.5 9.7 8.7 — 11.1
- สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี) 16.8 -17.2 10.0 9.0 — 11.4
- สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี) 26.4 -28.8 19.5 17.0 — 21.9
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) -0.2 22.7 11.5 10.5 — 13.0
- ร้อยละของGDP -0.1 8.7 4.0 3.7 — 4.6
8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี) 5.5 -0.8 2.5 2.0 — 3.0
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละต่อปี) 2.3 0.4 1.5 1.0 — 2.0
9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม) 1.4 1.8 1.3 1.0 — 1.5
หมายเหตุ: ประมาณการเศรษฐกิจปี 2552 และ 2553 ณ เดือนกันยายน 2552 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)