กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
เผยผลการสำรวจ “Pan-Asia Lung Cancer Awareness Survey” พบคนเอเชียมากว่า 70% ไม่ได้ตระหนักว่ามะเร็งปอดเป็นสาเหตุสำคัญของการชีวิต และ62%ไม่มีความรู้หรือมีความรู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับโรคที่ร้ายแรงนี้ ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องการผลักดันให้สาธารณชนทราบว่า ยิ่งตรวจพบโรคเร็วเท่าไร ก็จะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในผู้ป่วยได้มากเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม
มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะ “มะเร็งปอด” พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดรองจากมะเร็งตับ โดยสถิติกระทรวงสาธารณสุขปี 2546 ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดสูงถึง 7,607 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2545 มากกว่า 10% ที่มีผู้เสียชีวิต 6,877 ราย และยังพบว่าจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากจะพบมากในผู้ชาย หรือผู้ที่สูบบุหรี่แล้ว ปัจจุบันยังพบมากขึ้นในผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ด้วย
แต่เป็นที่น่าวิตก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักว่า มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการตายในลำดับต้นๆ และยังขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับมะเร็งปอด ดังนั้น มะเร็งปอดจึงถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการนำเสนอผลการสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับมะเร็งปอด (Pan-Asia Lung Cancer Awareness Survey) ในงานประชุม “Valuing Life! Asia-Pacific Media Workshop” เพื่อร่วมถกถึงปัญหาและอุบัติการณ์ผู้ป่วยมะเร็งปอดในภูมิภาคเอเชีย และการนำเสนอความก้าวหน้าใหม่ๆในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอด โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคณะสื่อมวลชนจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค อาทิ ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย เข้าร่วมประชุม ที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน
ดร.จอห์น เบคอน-ชอน ผู้ช่วยคณบดี ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ (The Social Sciences Research Centre) มหาวิทยาลัยฮ่องกง ผู้ดำเนินโครงการสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับมะเร็งปอด (Pan-Asia Lung Cancer Awareness Survey) เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดในเอเชียเพื่อตรวจสอบความเชื่อ ทัศนคติ การรักษา โดยประเมินจากคนไข้และบุคคลทั่วไปกว่า 500 คน จาก 5 ประเทศ คือ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน
ผลการสำรวจ พบว่า คนเอเชียมากกว่าครึ่งยังขาดความรู้ในเรื่องโรคมะเร็งปอด ทั้งอาการ และการรักษาหรือ โดยพบว่า 70% ไม่ได้ตระหนักว่า มะเร็งปอดถือเป็นสาเหตุการตายมากเป็นอันดับหนึ่ง และ 62% ไม่มีความรู้หรือมีความรู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดที่ร้ายแรงนี้ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ถูกสำรวจ (51.8%) ไม่รู้อาการของโรคมะเร็งปอด คือ ไออย่างต่อเนื่อง เสมหะที่มีเลือดปน เจ็บหน้าอก เป็นโรคปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบบ่อยๆ
“นอกจากนี้ ประมาณ 80% ของคนที่ถูกสำรวจ ไม่รู้ถึงผลกระทบของโรคนี้ โดยคิดว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในจำนวนที่ต่ำ และคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่ามะเร็งปอดจะเกิดในผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไป และเกิดเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่นานๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะจริงๆแล้ว มะเร็งปอดเป็นโรคร้ายที่เกิดได้ทั้งในผู้ชาย และผู้หญิง โดยพบว่า คนที่เป็นมะเร็งปอดหลายๆคนเป็นผู้หญิง ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่และอายุไม่มากนัก ประมาณ 50 ปี” ดร.จอห์น เบคอน-ชอน กล่าว
ดังนั้น ความจำเป็นที่คนเอเชียต้องมีความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดนั้นยังต้องมีให้มากกว่านี้ อย่างไรก็ตามการที่ขาดข้อมูลอาจเป็นการยากที่จะเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่แรก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีผลไปถึงการรักษาที่ดีและเหมาะสม
ด้าน ศ.พญ.สุมิตรา ทองประเสริฐ อายุรแพทย์ด้านมะเร็ง มหาวิทยาลัยชียงใหม่ และนายกมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มะเร็งปอดเป็นภาระที่สร้างปัญหาและมีอัตราการตายสูง ส่งผลต่อเศรษฐกิจ เพราะต้องใช้เงินมากในการรักษา ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีวิธีในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปอด การที่เราไม่รู้เรื่องถึงอาการของโรค ยิ่งทำให้เกิดอันตรายต่อชาวเอเชีย การรู้ตั้งแต่แรกๆช่วยให้การตรวจวินิจฉัยโรคนี้ดีขึ้นและสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดเป็นโรคที่ยากต่อการวินิจฉัย เนื่องจากระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการใดๆที่บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นมะเร็งปอด แต่อาจจะพบอาการไอเรื้อรังลักษณะไอแห้งๆ บางครั้งอาจมีเสมหะ หรือมีเลือดออกเป็นเพียงสายๆ ติดปนกับเสมหะออกมา น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ซีด อ่อนเพลีย ปอดอักเสบ มีไข้ และเจ็บหน้าอก ดังนั้น ควรเฝ้าระวังความผิดปกติและตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อที่จะสามารถทราบถึงปัญหาและรีบทำการรักษา ซึ่งวิธีการรักษาในปัจจุบันมีความก้าวหน้ากว่าแต่ก่อนมาก จากเดิมที่รักษาด้วย 3 วิธีหลัก คือ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด ล่าสุดเมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมาวงการแพทย์ทั่วโลกได้มีการพัฒนายากลุ่มใหม่แบบชนิดเม็ดรับประทาน Gefitinib ซึ่งเป็นยาตัวแรกในกลุ่มที่ได้รับการอนุมัติในเอเชีย สำหรับการรักษามะเร็งปอด ชนิดไม่ใช่เซลล์เล็กในระยะรุนแรง ผู้ที่ล้มเหลวต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัด โดยเป็นยาที่สามารถตอบสนองได้ดีที่สุดในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่เป็นชาวเอเชีย มากว่าผู้ป่วยชาวยุโรปหรือที่ไม่ใช่ชาวเอเซีย 2-3 เท่า ช่วยยืดชีวิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งปอดได้มากขึ้น
“ดูเหมือนว่าชาวเอเซีย จะมีโอกาสสูงในการตอบสนองต่อการรักษามากกว่าชาวผิวขาว ซึ่งจากการศึกษาทางคลินิกด้วยยา Gefitinib พบว่ายาสามารถช่วยยืดอายุของผู้ป่วยชาวเอเชียได้ โดยไม่ต้องเผชิญกับผลข้างเคียงที่เคยเกิด เหมือนกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด” ศ.พญ.สุมิตรา กล่าว
ยาเม็ดรับประทาน Gefitinib จึงถือเป็นแนวทางใหม่ในการช่วยบำบัดมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีทีหนึ่ง นอกเหนือจากการรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายรังสี และเคมีบำบัด