สภาหอการค้าฯ สนับสนุนแนวคิดปฏิรูปกรมศุลกากร เสนอแก้ไขกฎหมายศุลกากรและสรรพสามิต เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 29, 2009 11:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--สภาหอการค้าฯ สภาหอการค้าฯ ประสานเสียงภาคเอกชน 3 สถาบัน ระบุปัญหากฎหมายศุลกากรและกฎหมายสรรพสามิตไม่ส่งเสริมการค้า การลงทุน และขัดกับหลักการและข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ เสนอรัฐแก้กฎหมายเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ขจัดอุปสรรคทางการค้า สร้างความเป็นธรรม โปร่งใส ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้จัดการสัมมนาเรื่อง "แก้ไขกฎหมายศุลกากร และสรรพสามิต เพื่อใคร?" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2552 เวลา 08.30 -12.30 น. ณ ห้อง Lotus Suite 5-7 ชั้น 22 โรงแรม Centara Grand (Central World) เพื่อระดมความเห็นจากภาคเอกชนในการปรับปรุงกฎหมายศุลกากรและกฎหมายสรรพสามิต ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมทั้งหาแนวทางในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขจัดประเด็นที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและสร้างความโปร่งใส ลดความซ้ำซ้อน ลดการใช้ดุลยพินิจ และการปรับตัวให้สอดคล้องกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ นั้น นายชัยนันท์ อุโฆษกุล ประธานคณะกรรมการด้านศุลกากร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนยังคงมีความกังวลต่อการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายศุลกากร และกฎหมายสรรพสามิต ทั้ง 4 ฉบับ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน แต่ประเด็นข้อเสนอส่วนใหญ่ที่มีความสำคัญกลับไม่ได้รับการบรรจุในร่างกฎหมาย คงมีเพียงประเด็นที่เสนอแก้ไขจากทางภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการด้านศุลกากร สภาหอการค้าฯ เห็นว่ายังมีบทบัญญัติมาตราอื่นๆ ที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงอีกหลายมาตรา และสมควรให้มีการหารือในรายละเอียดเพื่อให้มีความทันสมัย โปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงเห็นควรชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายศุลกากรและสรรพสามิตทั้ง 4 ฉบับ และนำความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนไปประกอบการพิจารณา โดยตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายที่ภาคเอกชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สำหรับประเด็นสำคัญในการเสนอแก้ไขกฎหมายศุลกากร ได้แก่ 1. เสนอให้ทบทวนระบบสินบนและเงินรางวัลของกรมศุลกากรที่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเงินสินบนและเงินรางวัล ซึ่งเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนาน และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนในหลายธุรกิจเป็นจำนวนมาก และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศ 2. การแก้ไขคำนิยามของคำว่า “ราคาศุลกากร” ที่ไม่สอดคล้องกับแนวปฎิบัติของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินราคาศุลกากรไว้ในกฎหมายหลัก แต่ร่างกฎหมายใหม่ ไม่มีการระบุดังกล่าว 3. เรื่องฐานความผิดและการลงโทษ ที่ไม่มีการแยกฐานความผิดที่ชัดเจน และไม่เปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการพิจาณากำหนดโทษตามความหนักเบาของแต่ละกรณี รวมทั้งการเพิ่มโทษค่าปรับจากสี่เท่าเป็นห้าเท่า 4. ประเด็นเรื่อง “เจตนา” ซึ่งร่างกฎหมายเสนอให้การกระทำผิดในบางมาตราเป็นการกระทำผิดโดยไม่ต้องคำนึงถึงเจตนา ซึ่งไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง 5. ประเด็นเรื่องระบบการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีการกำหนดเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ที่ชัดเจนทำให้มีกรณีค้างพิจารณาจำนวนมากและผู้ประกอบการต้องมีภาระทางการเงินจำนวนมาก ณ วันนี้ ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นจากกรมศุลกากร โดยกรมศุลกากร รับที่จะกลับไปปรับปรุงประเด็นสำคัญ ๆ ที่เป็นข้อกังวลของภาคเอกชน ซึ่งนี่เป็นภารกิจแรกที่สภาหอการค้าฯ จะได้หารือกับอธิบดีกรมศุลกากรท่านใหม่ หลังจากเข้ารับตำแหน่ง สำหรับการแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตมีประเด็นที่ภาคเอกชนมีความกังวลอย่างมาก ได้แก่ 1. การประกาศมูลค่าสินค้าเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี โดยให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพสามิตมีอำนาจประกาศราคาเพื่อใช้ในการคำนวณภาษี ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนกับอำนาจของกรมศุลกากรและทำให้ธุรกิจขาดความแน่นอน ขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) และให้อำนาจดุลยพินิจกับบุคคลเพียงคนเดียว 2. การนำอากรขาเข้าซึ่งได้รับยกเว้นหรือลดอัตรามารวมในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ. ซึ่งจะมีผลทำให้ภาระภาษีกลับสูงขึ้นมากกว่าที่ได้รับการลดอัตราหรือยกเว้นตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ อันจะส่งผลให้ภาระภาษีสูงขึ้นอย่างมากจนต้องผลักภาระไปให้ผู้บริโภค และอาจทำให้ประเทศถูกมองว่าจงใจตั้งมาตรการเพื่อเป็นอุปสรรคทางการค้า และเป็นอุปสรรคต่อการลดภาษีเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะในกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งประเทศไทยดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ 3. การยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ไม่จำเป็นและเป็นภาระแก่ทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบและจัดทำรายงาน การยกเว้นหรือการขอคืนภาษีสินค้าบางรายการ เช่น น้ำพืช ผักผลไม้ แบตเตอรี่ ฯลฯ การสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากกฎหมายศุลกากรและกฎหมายสรรพสามิต ที่มีต่อภาคธุรกิจเอกชนอย่างมาก ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ทั้งจากภายในและต่างประเทศ หลังจากนี้ สภาหอการค้าฯจะนำประเด็นต่างๆ และข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนาเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมายศุลกากร และกฎหมายสรรพสามิตทั้ง 4 ฉบับ และจะติดตามการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวต่อไปอย่างใกล้ชิด ประชาสัมพันธ์ โทร. 02-6221860-76 ต่อ 402-7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ