กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--JGSEE
บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)
นักวิจัย กฟผ. จับมือ นักวิจัย JGSEE ร่วมศึกษาหาพื้นที่ที่มีศักยภาพติดตั้งกังหันลม ด้วยวิธีการคำนวณความเร็วลมโดยหลักการด้านฟิสิกส์บรรยากาศที่ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยทำในประเทศไทย เผยพบพื้นที่ที่ความเร็วลมเฉลี่ยสูงสุดของประเทศไทยอยู่ที่ ภาคใต้ด้านฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่บางส่วนของภาคอีสาน ภาคกลาง และพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของประเทศ พร้อมแนะไทยควรออกแบบกังหันลมที่เหมาะกับความเร็วลมในประเทศจึงจะช่วยให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น
ดร.รัดเกล้า พันธุ์อร่าม นักวิจัยจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ทำการศึกษาศักยภาพพลังงานลมในประเทศไทยด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์ด้านอุตุนิยมวิทยา 3 มิติ กล่าวว่า จากนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงาน ประเทศไทยได้มีความพยายามใช้พลังงานทดแทนหลากหลายแบบ ซึ่งพลังงานลมก็เป็นพลังงานทดแทนอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความสนใจ หากแต่การติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้านั้นต้องเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ คือ มีความเร็วลมแรงและมีความสม่ำเสมอของลมมากเพียงพอ แต่หากการหาศักยภาพพลังงานลมของพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยด้วยการสุ่มตั้งเสาตรวจวัดลมโดยไม่ทราบข้อมูลว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพพลังงานลมดี ต้องใช้งบประมาณสูงมาก จึงทำให้เกิดโครงการศึกษาศักยภาพพลังงานของประเทศไทยด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านอุตุนิยมวิทยา 3 มิติ โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
“การประเมินว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพต่อการผลิตพลังงานลมที่ผ่านมาของประเทศไทย ได้เคยมีศึกษาด้วยวิธีการประมาณค่าช่วงจากข้อมูลความเร็วลมของสถานีตรวจวัดต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการประเมินที่ค่อนข้างหยาบ แต่ศึกษาศักยภาพพลังงานลมของประเทศด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านอุตุนิยมวิทยา 3 มิติ ด้วยแบบจำลองที่มีชื่อว่า RAMS (Regional Atmospheric Modeling System) ซึ่งเป็นกระบวนการคำนวณด้วยหลักการทางฟิสิกส์บรรยากาศที่มีความแม่นยำสูง” ดร.รัดเกล้า กล่าว
การศึกษาได้ใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่เรียกว่า Reanalysis Data ของ National Center for Environmental Prediction (NCEP) เป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับการคำนวณความเร็วลมรายชั่วโมงทั่วประเทศ โดยได้ทำการศึกษาข้อมูลลมของปี 2548 — 2550 ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีปกติ หรือ ปีที่สภาพอุตุนิยมวิทยาของไทยไม่ได้รับอิทธิพลสูงจากปรากฎการณ์เอลนิโญ่ และลานิญ่า ผลจากการคำนวณทำให้ได้ข้อมูลความเร็วลมรายชั่วโมงที่มีความละเอียดขนาด 10x10 ตารางกิโลเมตร หรือระบุพื้นที่ได้ถึงระดับอำเภอ ซึ่งเป็นการคำนวณที่ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยทำในประเทศไทย
ด้านผลการประเมินศักยภาพพลังงานลมของประเทศ รศ.ดร.ปรุงจันทร์ วงศ์วิเศษ ผู้ร่วมวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า จากการคำนวณด้วยแบบจำลองดังกล่าว พบว่าศักยภาพด้านพลังงานลมในประเทศไทยขึ้นอยู่กับฤดูมรสุมและระดับความสูงจากพื้นดิน โดยช่วงเวลาที่มีความเร็วลมเฉลี่ยสูงสุดในรอบปี แบ่งออกเป็นสองช่วง คือ ระหว่างเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคม เป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พบพื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานลมสูงสุดของประเทศ ความเร็วลมเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 6-7 เมตรต่อวินาทีที่ระดับความสูง 50 เมตรเหนือพื้นดิน บริเวณพื้นที่ภาคใต้ด้านอ่าวไทย (ตั้งแต่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ไปจนถึงสงขลา) ภาคกลาง (บริเวณรอยต่อจังหวัดลพบุรี สระบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน (จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ) และในระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม ได้รับอิทธิพลสูงจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พบพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสุดในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคใต้บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปจนถึงจังหวัดปัตตานี โดยมีความเร็วลมเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 6-7 เมตรต่อวินาทีที่ระดับความสูง 50 เมตร ทั้งนี้ความเร็วลมจะเพิ่มขึ้นตามความสูงจากระดับพื้นดิน
“จากข้อมูลด้านศักยภาพพลังงานลมนี้ทำให้ทราบพื้นที่ที่พอจะมีศักยภาพของประเทศไทย ที่จะทำการศึกษาโดยละเอียดเพื่อติดตั้งกังหันลมสำหรับผลิตไฟฟ้าต่อไป ซึ่งการติดตั้งกังหันลมนอกจากที่ต้องคำนึงถึงลักษณะของลมในพื้นที่แล้ว ยังควรต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม และความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์มาประกอบกัน เพราะปัจจัยเหล่านี้จะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของราคากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากกระแสลม ซึ่งจะส่งผลต่อราคาค่ากระแสไฟฟ้าของประเทศต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ เนื่องจากความเร็วลมในประเทศไทยไม่ค่อยสูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศแถบซีกโลกเหนือหรือซีกโลกใต้ ดังนั้น กังหันลมที่ใช้ติดตั้งในไทยจึงควรเป็นกังหันลมที่ออกแบบพิเศษให้เหมาะกับความเร็วลมต่ำของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น” รศ.ดร.ปรุงจันทร์ กล่าว