กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--ตลท.
กลต. และ ตลท. รับกระแส CSR หนุน 27 องค์กรชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์จัดตั้ง CSR Club เพื่อเป็นแกนประสานขยายฐานรูปธรรมการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตั้งเป้าผนึกกำลังตามแนวคิด 3G-CSR (CSR 3rd Generation) หวังสร้างผลกระทบเชิงบวกในการรับมือปัญหาสังคม
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายวสันต์ เทียนหอม ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) นายวัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ ประธาน CSR Club พร้อมรองประธาน CSR Club ร่วมกันเปิดตัว CSR Club อย่างเป็นทางการ ที่หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายวัฒนา โอภานนท์อมตะ ในฐานะประธาน CSR Club เปิดเผยว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของ 27 องค์กรชั้นนำ โดยมีสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยเป็นแกนประสานงานและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการ กลต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จุดประสงค์ของการมารวมตัวเพื่อช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคมให้กับบริษัทจดทะเบียน โดยการทำงาน จะใช้หลักของ “การมีส่วนร่วม การแบ่งปัน” ซึ่ง CSR Club ได้กำหนดขึ้นเป็นวิสัยทัศน์ว่า “Connect for Sharing” โดยจะเน้นการเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกในด้านการส่งเสริมการให้ความรู้ เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถทำ CSR ตามแนวปรัชญาความเชื่อขององค์กรที่สอดคล้องกับแนวทางของเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคมและมาตรฐานสากล เป็นการทำ CSR ในระดับที่ 2 หรือ 2nd Generation CSR ซึ่งยกระดับจากการมองว่าการทำ CSR คือ การบริจาค จากนั้นจะขยายสร้างความร่วมมือไปสู่การทำงานเป็นเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมโดยนำ CSR มาเป็นกลยุทธ์ในการทำงานร่วมกัน ที่ไม่เพียงได้ประโยชน์กับองค์กร/ธุรกิจ แต่ยังสามารถส่งผลกระทบเชิงบวกกับความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นระดับที่ 3 ของการทำ CSR ( 3rd generation CSR) แทนที่การทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำเช่นที่ผ่านมา
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้ร่วมริเริ่มและสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้ง CSR Club ขึ้น เพื่อให้มีองค์กรในการเป็นศูนย์กลาง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ด้าน CSR และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวปฎิบัติด้าน CSR ที่ดีของบริษัทจดทะเบียน เนื่องจาก CSR ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในการดำเนินธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนซึ่งแนวทางการสร้างความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน จะส่งผลดีต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย รวมถึงส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยต่อไป”
ด้าน นายวสันต์ เทียนหอม ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กล่าวว่า “ปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง สภาพการแข่งขันทางธุรกิจทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันของธุรกิจระหว่างประเทศ ส่งผลให้กระบวนการบริหารจัดการทางธุรกิจจะเน้นเฉพาะผลประกอบการทางการเงินอย่างเดียวไม่ได้ องค์กรธุรกิจจะต้องพัฒนาการดำเนินงานให้มีคุณภาพและมีคุณธรรมในการบริหารจัดการด้วย ซึ่งการจะดำเนินการเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยการยกระดับจิตสำนึก และการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในการบริหารจัดการธุรกิจเพิ่มเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง การเกิดขึ้นของ CSR Club ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นชุมทางความคิดและพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ในการดำเนินการด้าน CSR ระหว่างกันอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับบริษัทจดทะเบียนในการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งท้ายที่สุดจะนำพาไปสู่ความยั่งยืนในภาคธุรกิจและสังคมอย่างแท้จริงต่อไป
นายวัฒนากล่าวด้วยว่า จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีพัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ โดยจากผลสำรวจความคิดเห็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุด ทาง CSR Club ได้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา พบว่า การดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ของบริษัทจดทะเบียนนั้น ได้พัฒนาไปมากกว่าการบริจาคและการทำกิจกรรมเพื่อสังคมโดยปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถามกว่า 81% ได้บรรจุ CSR ให้อยู่ในระดับนโยบาย
นอกจากนี้มีถึง 90% ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาทางสังคม ผ่านการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมุ่งเน้นที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือสังคมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การศึกษา ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการให้ความสำคัญในประเด็นใดนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มสถาบันการเงินจะให้ความสำคัญในการช่วยเหลือด้านการศึกษามากที่สุด กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตจะมุ่งเน้นความรับผิดชอบที่มีต่อชุมชนบริเวณโรงงาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานด้าน CSR ขององค์กรส่วนใหญ่ ใน 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1. งบประมาณไม่เพียงพอ 2. ขาดประสบการณ์ 3.ไม่มีหน่วยงานด้าน CSR ที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งเชื่อว่าการก่อตั้ง CSR Club ในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเหลือองค์กรธุรกิจที่เป็นสมาชิก ให้ดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ติดต่อ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย คุณชัญญณัส ตันติชนะกุล โทร. 0-2229-2526
หรือ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229 — 2048 วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797