กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสาน ๔๑ จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และที่ราบลุ่มริมน้ำระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน — ๒ ตุลาคม ๒๕๕๒ รวมถึงกำชับมิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยแจ้งข้อมูลสถานการณ์ภัยแก่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯในพื้นที่เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที พร้อมสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า พายุกิสนาจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณแนวจังหวัดมุกดาหารในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๒ ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและฝนตกหนักในระยะ ๓-๔ วันนี้ (วันที่ ๒๙ กันยายน - ๒ ตุลาคม ๒๕๕๒) โดยเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย ๔๑ จังหวัด ได้แก่ หนองคาย อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุกิสนา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน ๔๑ จังหวัดดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งที่ลาดเชิงเขาทางน้ำไหลผ่าน และที่ราบลุ่มริมน้ำ เตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุกิสนาที่อาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ รวมทั้งสั่งการให้มิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ แจ้งเตือนประชาชน และรายงานสถานการณ์ภัยแก่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น และกำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง พร้อมเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที และหากเกิดสถานการณ์รุนแรงในจังหวัดใด ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดที่ประสบภัยจัดกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งเครื่องมือ เครื่องจักรเข้าสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที
นายอนุชา กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง ๔๑ จังวัดให้ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด และระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดจากพายุกิสนา หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในพื้นที่และสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีสีขุ่นข้น สัตว์ป่ามีอาการแตกตื่น มีเสียงดังมาจากป่าต้นน้ำให้รีบอพยพและขนย้ายสิ่งของไปยังที่ปลอดภัย เพราะอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมฉับพลันขึ้นได้ ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ สุดท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป