โครงการ ‘เอาชนะมะเร็ง’ เป็นโครงการเพื่อมนุษยธรรมล่าสุด ที่ได้รับเลือกให้ใช้พลังประมวลผลในโครงการ World Community Grid เพื่อช่วยให้งานวิจัยทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday August 2, 2006 10:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
บุคคลทั่วไปสามารถช่วยพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งได้โดยการบริจาคพลังประมวลผลเหลือใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ว่างจากการใช้งาน
ไอบีเอ็มร่วมงานกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยทางการแพทย์และทันต-กรรมแห่งนิวเจอร์ซีย์ (University of Medicine and Dentistry of New Jersey : UMDNJ) — คณะแพทยศาสตร์โรเบิร์ต วู้ด จอห์นสัน (Robert Wood Johnson Medical School) และสถาบันมะเร็งแห่งนิวเจอร์ซีย์ (Cancer Institute of New Jersey) ริเริ่มโครงการนำพลังประมวลผลของเทคโนโลยีซูเปอร์คอมพิวเตอร์มาใช้ในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง
โครงการเอาชนะมะเร็ง (Help Defeat Cancer) เป็นโครงการที่สามที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการของ World Community Grid ให้ได้เข้าใช้ประโยชน์จากพลังประมวลผลที่มีอยู่มากมายของคอมพิวเตอร์บนเครือข่าย World Community Grid ซึ่งเป็นระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์เสมือนจริง (virtual supercomputer) บนเทคโนโลยีกริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โครงการนี้จะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานที่แฝงอยู่ของมะเร็ง เพื่อนำไปปรับปรุงวิธีรักษาและการวางแผนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งนี้ ระบบประมวลผลมหาศาลบนเครือข่ายของ World Community Grid จะช่วยให้โครงการเอาชนะมะเร็งสามารถลดเวลาในการวิจัยเหลือเพียงอย่างน้อย 3 เดือนในการดำเนินงาน นักวิจัยจะสามารถวิเคราะห์เนื้อเยื่อมะเร็งบนแผ่นตรวจวิเคราะห์ที่มีการจัดเรียงเนื้อเยื่อเป็นแถว (Tissue Microarray - TMA)เป็นจำนวนมากพร้อมกัน ซึ่งทำให้ดำเนินการทดสอบได้หลายรูปแบบในช่วงเวลาสั้นๆ และทำให้สามารถวิเคราะห์ตัวอย่างจำนวนมากเสร็จได้ในหนึ่งวัน ซึ่งหากใช้พลังประมวลผลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ปกติ อาจต้องใช้เวลานานถึง 130 ปีจึงจะทำการศึกษานี้สำเร็จ
นักวิจัยเชื่อว่า ด้วยความเร็วและความสามารถชั้นสูงของพลังประมวลผลที่ได้จากโครงการ World Community Grid จะทำให้คณะวิจัยตรวจพบและติดตามการเปลี่ยนแปลงแม้จะมีเพียงเล็กน้อยได้ เมื่ออยู่ในสภาวะที่วัดค่าตัวแปรได้ ซึ่งจะช่วยให้การพยากรณ์โรคทำได้ง่ายขึ้น หากใช้การวิเคราะห์แบบดั้งเดิมหรือการวินิจฉัยจากตัวบุคคลเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถระบุโรคได้ชัดเจนนัก นักวิจัยมีการสร้างระบบต้นแบบที่ทำงานบนเว็บ เพื่อใช้วาดภาพ วิเคราะห์ ดึงข้อมูล และแบ่งปันไมโครอาร์เรย์เนื้อเยื่อโดยอัตโนมัติ โดยโครงการนี้จะเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ TMA ของมะเร็งเต้านม ตามด้วยการวิเคราะห์เกี่ยวกับมะเร็งสมองและคอ
ด้วย World Community Grid ทุกคนสามารถบริจาคพลังประมวลผลเหลือใช้ของคอมพิวเตอร์ที่ว่างจากการใช้งาน โดยดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ของ World Community Grid และลงทะเบียนได้ฟรีที่ www.worldcommunitygrid.org วิธีการนี้รวดเร็ว ง่ายดาย และปลอดภัย ปัจจุบันมีอาสาสมัครจากทั่วโลกแล้วมากกกว่า 200,000 ราย ร่วมอุทิศพลังประมวลผลของเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่า 360,000 เครื่องเพื่อช่วยพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งผ่านทาง World Community Grid โดยไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows, Linux หรือ Mac ต่างเข้ามามีส่วนร่วมใน World Community Grid นี้ได้
นายมิทช์ สตอลเลอร์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของมูลนิธิแลนซ์ อาร์มสตรอง (Lance Armstrong Foundation) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ให้ความร่วมมือกับโครงการใน World Community Grid นี้ กล่าวว่า “เทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้งมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่เพราะว่าแสดงถึงการพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่ของงานวิจัยมะเร็ง แต่ยังเป็นเพราะโครงการเอาชนะมะเร็งนี้เปิดโอกาสให้แต่ละคนเข้ามามีส่วนร่วมกับการต่อสู้ในครั้งนี้ได้อย่างกว้างขวาง เรามองว่า World Community Grid เป็นโครงการที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับมูลนิธิแลนซ์ อาร์มสตรอง และเราเชื่อว่าความร่วมมือกันจะนำมาซึ่งความแข็งแกร่ง เราจึงสนับสนุนโครงการนี้โดยการติดตั้งซอฟต์แวร์ในคอมพิวเตอร์ของมูลนิธิทั้งหมด และกระตุ้นให้ทุกคนที่มีคอมพิวเตอร์ได้มีส่วนช่วยเหลือในงานสำคัญชิ้นนี้ด้วย ดังนั้น เราจะสามารถสร้างความแตกต่างครั้งยิ่งใหญ่ให้กับผู้ป่วยมะเร็ง
เกี่ยวกับสถาบันมะเร็งแห่งนิวเจอร์ซีย์
สถาบันมะเร็งแห่งนิวเจอร์ซีย์ (Cancer Institute of New Jersey) เป็นสถาบันมะเร็งระดับชาติที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์วิจัยมะเร็งแบบครบวงจร มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีป้องกัน ตรวจสอบ ดูแล และรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ของ CINJ ทำงานในด้านงานวิจัยถอดความ โดยแปลงข้อมูลที่ค้นพบในห้องปฏิบัติการให้กลายเป็นแนวทางปฏิบัติในการวินิจฉัย เพื่อนำผลงานวิจัยมาประยุกต์อย่างเป็นรูปธรรม เครือข่ายสถาบันมะเร็งแห่งนิวเจอร์ซีย์ประกอบด้วยโรงพยาบาล 17 แห่งทั่วรัฐ โดยทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการค้นพบที่สำคัญๆ ให้คนในชุมชนได้รับทราบอย่างรวดเร็ว สถาบันแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความรู้ของ UNDNJ- คณะแพทยศาสตร์โรเบิร์ต วู้ด จอห์นสัน หากต้องการสนับสนุน CINJ โปรดติดต่อมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งนิวเจอร์ซีย์ที่ 732-235-8614 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเยี่ยมชม www.cinj.org
เกี่ยวกับมูลนิธิแลนซ์ อาร์มสตรอง
มูลนิธิแลนซ์ อาร์มสตรอง (LAF) มีเป้าหมายเพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมทั้งช่วยให้บุคคลที่เป็นมะเร็งใส่ใจกับการดำรงชีวิตของตนเอง ทางมูลนิธิเชื่อว่าความร่วมมือกันจะนำมาซึ่งความแข็งแกร่ง ความรู้คือพลังอำนาจ และทัศนคติคือทุกสิ่งทุกอย่าง LAF ให้ข้อมูลและแนวทางปฏิบัติแก่ผู้ป่วยมะเร็งให้มุ่งมั่นที่จะมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่ช่วงเวลาที่มีการวินิจฉัยว่าบุคคลนั้นเป็นโรคมะเร็ง LAF ส่งเสริมเป้าหมายนี้โดยการให้การสนับสนุน บริการสาธารณสุข และงานวิจัย มูลนิธินี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 โดยแลนซ์ อาร์มสตรอง ผู้ที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็งและแชมป์นักปั่นจักรยาน มูลนิธิดังกล่าวตั้งอยู่ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูที่ livestrong.org
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
คุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์
โทร : 02-273-4117 อีเมล์ : onumav@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ