ความเห็นต่อตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกของสภาพัฒน์

ข่าวทั่วไป Tuesday June 7, 2005 09:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--ไทยธนาคาร
สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่ บทวิเคราะห์ตัวเลขจีดีพี
ไตรมาสแรก มีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2548 ที่ขยายตัวเพียง 3.3 % นั้นดีกว่า
คาดการณ์เล็กน้อย ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับดังกล่าวสะท้อนถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ไทย และคาดว่าแนวโน้มชะลอตัวดังกล่าวจะยังคงต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 ไตรมาสและคาดว่าเศรษฐกิจไทย
ในไตรมาสสี่จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
สำนักวิจัยยังมองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2548 จะยังขยายตัวในระดับที่ยังรักษาระดับการจ้างงาน
ไว้ได้ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยังถูกกดดันด้วยปัจจัยลบ โดยเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่ชะลอตัวลงดัง
กล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจของไทยอยู่บ้าง
ในขณะเดียวกันจะเป็นปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธปท. ที่จะมีการประชุมในวันที่ 9 มิ.ย. นี้
ต้องให้น้ำหนักในการกำหนดนโยบายทางการเงิน ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาสำนักวิจัย ธนาคารไทย
ธนาคาร มองว่า ในไตรมาสที่สอง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะไม่แตกต่างจากไตรมาสแรก
มากนัก เนื่องจากปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจ ยังเป็นปัจจัยที่ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก อย่างไรก็ตามทิศทาง
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จะเริ่มฟื้นตัวจากครึ่งปีแรก เพราะสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยมากขึ้น
โดยเฉพาะ
เงินทุนไหลเข้าสุทธิเพื่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นถึง 117% ในไตรมาสแรก
และ โครงการต่างๆที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนน่าจะเริ่มเปิดดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลังได้ ปัญหาภัยแล้ง
ที่บรรเทาลง รายได้จากการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว และสถานการณ์การ
ท่องเที่ยวในพื้นที่ 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับโครงการลงทุน
ขนาดใหญ่ หรือ Mega-Project และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านทางงบกลางปีมูลค่า 5 หมื่นล้าน
บาท ในขณะที่ดุลการค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าและการบริหารการนำเข้า
ดีขึ้น โดยเฉพาะมูลค่าการนำเข้าน้ำมันลดลงจากการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล ส่วนการส่งออกจะขยายตัวสูงขึ้น
เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก จากมาตรการกระตุ้นการส่งออกและการทำ FTA กับประเทศต่าง ๆ อย่างไรตาม
อัตราเงินเฟ้อจะยังคงเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจตลอดทั้งปี
สำนักวิจัย มีความเห็นว่า ปัจจัยที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการ
เติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ก็คือ ปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศ
คู่ค้าที่สำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ ที่ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและ
การขาดดุลงบประมาณ ปัญหาการว่างงานในสหภาพยุโรป ปัญหาอุปสงค์รวมของญี่ปุ่นที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวม
ทั้งนโยบายชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อความผันผวนของตลาดเงินและ
กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายไตรมาส
(ร้อยละ)
ภาคเศรษฐกิจ ไตรมาส1/47 ไตรมาส2/47 ไตรมาส3/47 ไตรมาส4/47 ไตรมาส1/48
ภาคเกษตร -2 -5.8 -5.2 -3.3 -8.2
ภาคนอกเกษตร 7.7 7.7 7.1 6.5 4.5
GDP 6.7 6.4 6.1 5.3 3.3
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ